วิเคราะห์คำว่า เกิด-ดับ หรือ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป

สิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปจากผิวน้ำนั้น ก็คือ ลูกคลื่น และ สิ่งที่วุ่นวายกระสับกระส่ายเพราะมีอารมณ์มากระทบนั้น คือ อาการของจิต

แต่ น้ำ และ จิต ซึ่งเป็นของเดิมนั้น ยังคงยืนตัวรองรับความเป็นไปของอาการเคลื่อนไหวทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม ไม่เคยดับตายสูญหายไปไหน

ดังนั้นคำว่า เกิด-ดับ หรือ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป จึงไม่สามารถใช้ควบคู่กับน้ำในมหาสมุทร หรือ จิตซึ่งมีอยู่เดิมได้เลย แต่สามารถใช้กับลูกคลื่นและความวุ่นวายกระสับกระส่ายของจิตได้โดยเฉพาะเท่านั้น

กล่าวให้ชัดก็คือ อาการของจิต (ซึ่งเป็นนามขันธ์) เกิดขึ้นที่จิต แล้วก็ดับไปจากจิตตามลำดับ แต่จิตยังคงยืนตัวรู้อยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้พลอยเกิดดับตามอารมณ์ทั้งหลายไปด้วย

หมายความว่า อารมณ์อันใดเกิดขึ้นก็รู้ อารมณ์อันใดตั้งอยู่ก็รู้ อารมณ์อันใดดับไปก็รู้ เพราะผู้ปฏิบัติได้นำความรู้ไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างมั่นคง วางเฉย ไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์ทั้งหลายเสียอย่างสิ้นเชิงแล้ว

เพราะฉะนั้น การเกิด-ดับ จึงเป็น อาการของจิต ที่เข้ามาปรุงแต่งจิต แล้วก็ดับไป ซึ่งท่านเรียกว่า พระไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

ถ้าจิตรู้เท่าทันอาการของจิตที่เกิดขึ้น โดยการปล่อยวางเสีย อำนาจพระไตรลักษณ์ย่อมเข้าครอบงำจิตไม่ได้ จึงไม่เป็นทุกข์

แต่ถ้าจิตไม่รู้เท่าทันอาการของจิต คือพลอยหวั่นไหวยินดี-ยินร้ายตามไปด้วย ก็ย่อมถูกอำนาจพระไตรลักษณ์ครอบงำเป็นธรรมดา จึงต้องเป็นทุกข์

และจิตชนิดหลังนี้ ก็จัดเป็นโลกียจิต หรือยังเป็น วิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นจิตของปุถุชน (ผู้หนาไปด้วยกิเลส) อยู่นั่นเอง.

คำนิยามเรื่องเกิด-ดับ

สิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในขณะปัจจุบันแล้วปรากฏขึ้นมา เรียกว่า เกิด
สิ่งใดมีอยู่ในปัจจุบัน แล้วหายไป เรียกว่า ดับ

การเกิดทางเนื้อหนังร่างกาย เรียกว่า ชาติ
การเกิดทางจิต เช่น ตรัสรู้ เรียกว่า อุบัติ

การแตกดับทางเนื้อหนังร่างกาย
แต่จิต จุติ (เคลื่อน) ไปสู่ภพใหม่ เรียกว่า ตาย (มรณะ)

การหยุดคิดทางจิต เรียกว่า นิรุชฌ์
การดับกิเลสทางจิต เรียกว่า นิโรธ.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่