รูปาวจรภูมิ-อรูปาวจรภูมิและโลกุตตรภูมิ ภาค7

คำอธิบาย ฐานที่ 6  ให้เลือกเฟ้นแห่งไตรลักษณ์สาม
         การจะมีฐานที่ 6 อีกเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะอุปาทานยังดับไม่หมดนั่นเอง ถ้าดับอุปาทานหมดแล้วก็เสร็จกิจในการกระทำ ถ้าอุปาทานมีอยู่ เมื่อภพมีอยู่  ชาติก็ต้องมีอีกชาติคือความเกิด อันร้อนไปด้วยความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเปรียบเหมือนไฟ
       ไฟจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเชื้อ ตัวกรรมภพจึงเปรียบเหมือนเชื้อของ   ตัวอุปาทานการเข้าไปยึดถือเอาไว้ เปรียบเหมือนคนยึดเอาเชื้อของไฟไว้ ก็ตัวเรายึดเอาเชื้อของไฟไว้ไม่รู้ตัวดอกหรือ คนอื่นใครเขาจะมายึดเอาไว้ให้เราก็เราเสียดายชาติ เสียดายภพ เราปล่อยเราวางไม่ได้เราจึงไปนิพพานไม่ได้
       การที่ถอนอุปาทานไม่ได้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะญาณความรู้ยังไม่เห็นแจ้งใน สามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เอง เหตุนั้นในฐานที่ 6 จึงให้เลือกเฟ้นแห่งไตรลักษณ์สาม คือ อะไรๆ ในโลกนี้ทั้งหมด จะเป็นสังขารที่ใจครองก็ตาม จะเป็นสังขารที่ไม่มีใจครองก็ตาม ทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น มีเกิดแล้วต้องมีดับเป็นคู่กัน
เครื่องปิดบังปัญญา
       ถ้าเราเห็นความจริงใน ทุก ๆ สิ่ง มี ปัญญาชี้ขาด ไว้แล้ว ไหนเลยเราจึงจะไปยึดเอาสิ่งนั้น ว่าเป็นของเราได้ ที่เราจะเข้าไปยึดถือเอาโดยความเป็นเจ้าของ ก็เพราะเราเห็นว่าสิ่งนั้น  เที่ยง นั้นเอง เมื่อถึงคราวสิ่งนั้น พลัดพราก จากตัวเรา ตัวเราจึงเกิดโศกเศร้าเสียใจ
       ถ้าตัวเรารู้แจ้งเห็นจริง ว่า ทุกๆ สิ่ง ที่มีอยู่ในตัวเรานี้ ก็ดี เป็นแต่ เครื่องอาศัยกันและกัน อยู่ชั่วครั้ง ชั่วคราวเท่านั้น ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะต้องพลัดพรากจากกัน  ไม่ต้องสงสัย ความตัดสินใจให้ชี้ขาดไว้ดังนี้ ญาณความรู้ไม่ลืมหลง ไม่หลงเข้าไปยึดถือในสิ่งที่ตนได้ กำหนดรู้ ไว้นั้น
     ถ้าสิ่งใดที่เรายังเข้าไปยึดถืออยู่ เพราะเราไม่เห็นแจ้งในสิ่งนั้นว่าตกอยู่ในสามัญลักษณะ เหตุไรนรชนทั้งหลายจึง ไม่เห็นในสามัญลักษณะด้วยปัญญาของตน  เหตุที่นรชนเหล่านั้น เป็นผู้ เพลิดเพลิน อยู่เป็น ผู้ ทะเยอทะยานอยากอยู่ เป็นผู้ เลิน เล่อ เผลอตัว อยู่ จึงไม่เห็นด้วย ปัญญาของตน
         ถ้าชนเหล่านั้น ละเสียซึ่งความเพลิดเพลิน ละ เสีย ซึ่งความทะเยอทะยาน ละเสียซึ่งความเลินเล่อเผลอตัวชนเหล่านั้น จึงจะเห็นด้วยปัญญาของตน
        ผู้ที่ละความเพลิดเพลิน คือผู้ที่มี ศีลอันสังวรดีแล้วผู้ที่มี จิตตั้งมั่นในองค์สัมโพธิ ต่อแต่นั้นปัญญาเป็นเครื่องเห็นเอง ปัญญาที่จะเห็นเองในที่นี้มีอยู่ 2 อย่าง
•    ปัญญาเกิดแต่การค้นคิดอย่างหนึ่ง
•    ปัญญาเกิดแต่การเพ่งอยู่กับที่อย่างหนึ่ง
       ปัญญาที่ค้นคิดปรารภสภาวธรรม หยาบว่า ปัญญาที่เพ่งอยู่กับที่ ถ้าจะเทียบกับสมาธิ ปัญญาที่คิดค้นเทียบกับปฐมฌาณ ปัญญาที่เพ่งอยู่กับที่เทียบกับทุติยฌาณ ฌาน ก็ละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ ปัญญาก็ละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ ตลอดถึงให้สำเร็จมรรคผล
       ต่อแต่นี้จะกล่าวถึงปัญญาค้นคิด การจะค้นคิดก็ต้องให้มี หลักความรู้ อันเกิดแต่ สุตามยปัญญาก่อน จึงจะรู้ได้เร็วลำพังแต่การค้นคิดเอาเองรู้ได้ยาก ฯ
        ปัญญา  ที่ท่านแสดงไว้ในวิปัสสนาภูมิ มี 6 คือ
1.    ขันธ์  5
2.    อายตนะ  12
3.    ธาตุ  18
4.    อินทรีย์  22
5.    อริยสัจจ์  4
6.    ปฏิจสมุปบาท  12
        เหล่านี้เป็น ภูมิให้เกิดปัญญา ใครจะเลือก เอาข้อไหนก็ได้ เมื่อมีสมาธิอันใดอันหนึ่งเป็นที่ตั้ง ควรยกวิปัสสนาข้อไหนข้อหนึ่งขึ้นพิจารณา  ในที่นี้จะยกเอาขันธ์ทั้ง 5 ขึ้นแสดงพอเป็นทางเครื่องสดับสติปัญญา
อะไรปิดบังพระไตรลักษณ์
    ขันธ์  5  ย่นให้สั้นก็มีอยู่ 2 คือ
•    รูปขันธ์  1
•    นามขันธ์  1
       รูปขันธ์  ของเรา ณ ที่เรายึดมั่นถือมั่นสำคัญว่า ตัวตนเพราะเราไม่เห็นในไตรลักษณ์ จึงถอนจึงวางอุปาทานไม่ได้ถ้าเห็นทางไตรลักษณ์  อุปาทานก็ดับไปเอง ก็อะไรมันบังพระไตรลักษณ์ทั้ง  3 ตัวสันตติ  ความสืบเนื่องของกายของใจเป็นเครื่องบังอนิจจตา
        ถ้าเพิก ตัวสันตติด้วย ปัญญา ก็จะเห็นอนิจจตา แจ่มแจ้ง ชั้น ต้นเพิกกายนี้ก่อน ตัวของเราแรกก็เป็นเด็กอ่อนนอนอยู่ในเบาะ เหมาะอยู่ในเปล ครั้นนานมาก็เป็นเด็กเล็ก เด็กใหญ่ รุ่นหนุ่ม รุ่นสาว  แปรไปเป็นคนเฒ่า แก่ ชรา ตามืด หูหนัก  ฟันหัก แก้มตอบ หนังหดหู่เป็นเกลียวเหี่ยวแห้งกำลังเรี่ยวแรงก็ลดถอย
       ความกินความนอนก็ไม่อร่อย    จะเดินไปมาทางไหนก็คร่ำครวญ ตามอวัยวะ           ทุก ๆ ส่วนล้วน แปรปรวนไปตามกัน รูปโฉม ตระโนมพรรณที่เคยงดงามก็ทรามโฉม หมองคล้ำกำดำ หดเหี่ยวไม่น่าจะแลเหลียวในที่สุดก็แตกดับทำลาย มีความตายเป็นอวสานนี้แหละ กายสังขารมันไม่เที่ยงฯ
      ส่วน จิตสังขาร เล่าจิตดวงนี้เกิดขึ้นดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้น เป็นอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เป็นไปในภูมิสาม คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ พราก เสียซึ่งสันตติ ความสืบเนื่องของจิต วาง เสียซึ่ง ความคิดความรู้ ในอารมณ์ สามกาล เมื่อวางอารมณ์สามกาลได้แล้ว ตัวภพ ก็ ดับหมด ตัว ภพดับ ก็คือ ตัวคิด ดับนั่นเอง
        เมื่อความคิดดับ จิตเที่ยง ไม่มีการไปการมา อนิจจลักขณะก็ปรากฏขึ้น คือเมื่อจิตเที่ยงแล้วจึงจะเห็นจิตไม่เที่ยงถ้าวางความคิดได้จะเห็นโทษแห่งความคิด ดังคนออกจากฝิ่นออกจากสุราได้ จึงจะเห็นโทษของฝิ่นของสุรา โทษแห่งความคิดที่คิดอยู่ในภูมิสาม ความคิดก็เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ ความรู้เป็นปัจจัยแห่ง ปฏิสนธิวิญญาณ
       อะไร บังทุกขตา อิริยาบถ บังทุกขตา ที่เราไม่เห็นทุกข์ เพราะเราผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ คือ การยืน เดิน นั่ง นอน กลบเกลื่อนซึ่งทุกข์ ไม่ดูทุกข์จึงไม่เห็นทุกข์ ถ้าเราดูทุกข์ ถ้าเราพรากอิริยาบถ คือ อยู่ในอิริยาบถเดียว ทุกขตา ก็ปรากฏ
      หรืออีกนัยหนึ่งเราเข้าไปยึดเอาของที่ไม่เที่ยง ตัวของเราจึงเป็นทุกข์ แต่เราไม่ดูทุกข์ เราจึงไม่เห็นทุกข์ ถ้าเราดูทุกข์ถึงเราจะเปลี่ยนอิริยาบถอยู่ก็ตาม ก็ต้องเห็นทุกข์
       ก็อะไรเล่า บังอนัตตาลักขณะตัว  ฆนะ คือ ก้อน เราดู ตัวเรา ถ้าดูแต่เผิน ๆ ไม่ดูให้แยบคาย ก็จะเห็นแต่ผิวภายนอกอันเป็นก้อน เป็นแท่ง ถ้าเพิกเสียซึ่งฆนะคือก้อน ให้เป็นส่วนย่อย ๆ คือ กระจายออกเป็นส่วน ๆ ในอาการ 32
      ที่ว่าตัวเป็นตัวเรา อะไรเป็นตัวเรา ผมหรือขน หรือเล็บหรือฟัน ตับไตใส้พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำเลือด น้ำหนอง ถามดูในอาการ 32 ว่าอะไรเป็นตัวเรา ถ้า ผมขนเล็บฟันเป็นต้นตอบว่า ข้านี่แหละเป็นตัวเรา พึงถามอีก ว่า ถ้าหากผม ขน เป็นต้น เป็นตัวเราเวลาสิ้นลมหายใจแล้วเป็นอะไร ผม ขน เล็บ ฟัน จึงเปื่อยเน่าชำรุดทรุดโทรมไปเล่า
     ในที่สุดอาการ 32 ทุกส่วนคงรับสารภาพสู้ปัญญาไม่ได้ เมื่อเห็นกายทุกส่วนไม่มีอะไรเลย
•    ส่วนที่แข็งเป็นธาตุดิน
•    ส่วนที่เหลวเป็นธาตุน้ำ
•    ส่วนที่อบอุ่นเป็นธาตุไฟ
•    ส่วนที่พัดอยู่ในกายเป็นธาตุลม
       จึงเห็นร่างกายอันนี้ว่า เป็นสักแต่ว่าธาตุไม่มีสาระแก่นสารเมื่อเห็นรูปขันธ์ว่าไม่มีอะไรแล้ว ให้ดูนามขันธ์ ก็นามขันธ์อันนี้มันเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างไร
       นามขันธ์มันจะเกิดขึ้น มันก็อาศัยรูปขันธ์  เพราะรูปขันธ์อันนี้มันมี  ทวารรูป    มีตา มีหู เป็นต้น เมื่อ รูป ภายนอก มา กระทบตา เกิด รูป ภายใน จึงเกิดวิญญาณขึ้น ตากับรูปจึงนับเป็น รูปวิญญาณ อันเกิดแต่ตา เป็น นาม หูกับเสียงเป็นรูปความรู้อันเกิดแต่หูเป็น นาม นาม และรูปเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป
วิตกที่ควรตรึก และไม่ควรตรึก
        ส่วน  ความคิด ที่คิดไปใน อดีต  มันก็เกิดขึ้นจาก สัญญา นามธรรม คือได้เห็นได้ยินไว้แต่อดีตจึงมีความคิดไปในอดีต สิ่งใดที่เราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน เช่น บ้านอื่นประเทศอื่นที่เราไม่เคยไป หรือวิชาที่เราไม่เคยรู้ เราคิดไปไม่ได้ เราคิดได้แต่ในวงที่เรารู้เท่านี้
       เมื่อเห็นกายกับใจของเราไม่ใช่ตัวตน ค้นหาตัวตนไม่มีนี่เป็น วิปัสสนาค้นคิด คิดเพื่อรู้  ถ้าไม่คิดก็ไม่รู้ ความรู้ที่เกิดจากความคิดมี 2 ถ้าคิดทางชั่วก็รู้ทางชั่ว ถ้าคิดทางดีก็รู้ทางดี ห้ามแต่การคิดในทางใดประกอบไปด้วยราคะ ความกำหนัดบ้าง ประกอบไปด้วยโทสะความโกรธบ้าง ประกอบไปด้วยโมหะความหลงบ้าง
        พึงกลัวความคิดใหม่อันตรงกันข้าม ดุจชายช่างไม้ผู้ฉลาด ถอนสลักเก่าออกตอกสลักใหม่เข้าถ้าวิตกเช่นนั้นยังขืนบังเกิดขึ้นอยู่ก็ให้พิจารณาว่า  เห็นว่าวิตกเหล่านี้  เป็นทางให้เกิดโทษโดยส่วนเดียว ให้เกลียดกลัวต่อวิตกเหล่านี้ยิ่งนัก  เหมือนชายหนุ่มและหญิงสาว  เกลียดกลัวต่อของโสโครกฉะนั้น
         ถ้าวิตกเหล่านี้ยังขืนบังเกิดขึ้นอยู่ ก็อย่าพึงใส่ใจอย่าพึงนึกถึง เปรียบเบือนหน้าหนีเสีย ถ้าวิตกเช่นนั้นยังบังเกิดขึ้นอยู่ ก็ให้คิดลดหย่อนผ่อนปรนให้น้อยลง  เหมือนคนวิ่งมาโดยรวดเร็ว  ปรารถนาจะเดินช้า ๆ ก็เดินช้า ๆ ปรารถนาจะนั่งจะนอน ก็นั่งก็นอน ถ้าวิตกเช่นนั้นยังบังเกิดขึ้นอยู่ ก็ ให้เอา ใจข่มใจ ไว้ให้มั่น  ปีบคั้นให้สงบเหมือนคนที่มีกำลังมากข่มคอคนที่มีกำลังน้อยไว้ฉะนั้น
         เมื่อวิตกคือความคิดดับลงแล้ว  จิตย่อมสงบภายในใสบริสุทธิ์  ผู้นำเพ็ญเพียรทำได้ดังนี้ นับว่าเป็นผู้ฉลาดในกระบวนของจิต  หวังจะวิตกเช่นไร ก็วิตกเช่นนั้น ไม่หวังจะวิตกเช่นไร ก็ไม่วิตกเช่นนั้น เป็นผู้ทำความอยากให้ขาดทำเครื่องผูกจิตให้หลุด  จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
       วิปัสสนาค้นคิด  คือคิดเพื่อรู้แล้วให้หยุดคิด หรือคิดแก้คิด คือโอนจิตออกจากอารมณ์ ที่เราไม่ต้องการ คือเราคิดในองค์อริยะมรรค  เพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกแล้วให้วางความคิด  เพราะความคิดเป็นตัวสังขตธรรม สังขตธรรม บัง อสังขตธรรม วิปัสสนาค้นคิดสงเคราะห์ลงในสัมมานะญาณ  เป็นญาณต้นจบวิปัสสนาค้นคิด
วิปัสสนาหยุดคิด
       แต่นี้จักแสดง  วิปัสสนาหยุดคิด คือ วางอารมณ์สามกาลให้หมด ไม่คิดในอดีต อนาคต ปัจจุบัน เมื่อวางความคิดแล้ว ความคิดจึงไม่มี แต่มันเหลือ ความรู้ ซึ่งเป็นของเป็นเอง เราไม่ได้คิดมันรู้เอง มันจึงเรียกว่า ขันธ์เป็นเอง เป็นของละไม่ได้ ละได้แต่ความคิดในสามกาล
        เมื่อวางความคิดในสามกาล มันเหลือความรู้จึงให้ออกจากความรู้ ถึงความรู้อันมีอยู่ในปัจจุบันละไม่ได้ ก็ให้ออก เพื่อจะ ตัดต้นทางแห่งความคิด ในฐานที่ 3 ก็ได้ แสดงแล้วว่า ให้ออกจากความรู้ การทีได้แสดงเป็นลำดับมา ก็เพราะมันเป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน
        การที่จะออกจากความรู้ก็ต้อง  กำหนดความรู้  คือ ระวังมันจะเข้าไปติดความรู้ในฐานที่ 4 จึงต้องมีสติ เป็นนายประตูสำหรับดูทวาร เมื่ออารมณ์ผ่านเข้ามา มันเกิด ความรู้ขึ้น ผู้จะรักษาจึงต้องมีสติรักษา แต่สติก็เป็นแต่ผู้ระลึก ผู้กำหนดรู้เท่านั้น
         ถ้าอุปาทาน มันมีกำลังมาก สติก็ห้ามไว้ไม่อยู่ จึง มีฐานที่ 5 เป็นเครื่องสนับสนุน เมื่ออารมณ์อันใดผ่านมา ไม่ให้ถือมั่นในอารมณ์นั้น  แต่การที่จะไม่ให้ถือมั่นในอารมณ์นั้น ก็จะต้องเห็นว่าอารมณ์เหล่านั้น ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จึงจะ วางอารมณ์ เหล่านั้นได้
        การที่จะเห็นแจ้งเห็นจริง ก็ต้องอาศัยการ ค้นคิด บ้างอาศัยการ เพ่งดู บ้าง จึงได้กล่าวถึงการค้นคิด ครั้นรู้แล้วให้วางความคิด เมื่อวางความคิดในสามกาลแล้ว ส่วนความรู้อันนี้เป็นของที่ยืนที่ เว้นไว้แต่นอนหลับ หรือคนตาย หรือพระอริยเจ้าเข้านิโรธ จึงจะดับความรู้อันนี้ได้
         ความรู้อันนี้แหละที่กล่าวกันอยู่ว่าให้รู้จักรูป ให้รู้จักนามคือนามและรูปเกิดแล้วดับ จะห้ามไม่ให้เขาเกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วจะห้ามไม่ให้ดับก็ไม่ได้ นามและรูปเป็น อัญญะมัญญะปัจจัย อาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
      การที่จะดูนามและรูป ให้แจ้งชัดต้องวางความคิดให้หมด แล้วจะเห็นแต่นาม  และรับที่มันเกิดเองดับเอง มันจะสุขจะทุกข์อะไร ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมัน ฝ่ายไหนมีเกิดฝ่ายนั้นก็มีดับ อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเกิด ไม่มีดับ  ตัวเราพึงอยู่กับฝ่ายที่ไม่เกิดไม่ดับ ทำอย่างไรผู้ปฏิบัติธรรมจึงจะเห็นฝ่ายเกิด ฝ่ายดับ และฝ่ายที่ ไม่เกิดไม่ดับ
       ถ้าอยากเห็นก็ให้ดูหทัยวัตถุอันเป็นที่ประชุมแห่งรูปหุ่น สังขาร ความปรุงแต่ง มัน แต่งอยู่ที่หทัยวัตถุ สังขาร เหล่านี้มันจะแต่ง มันอาศัย ตัณหา  ความอยาก ถ้าอยากไปในอดีต มันก็แต่งไปในอดีต ถ้าอยากไปในอนาคตมันก็แต่งไปในอนาคต ถ้าอยากในปัจจุบันมันก็แต่งไปในปัจจุบัน
      ตัณหาที่มันมาแต่งนี้ มันอาศัย อวิชา  เป็นผู้เข้าหนุนเมื่อเราดับเสียซึ่ง อวิชา ไม่ให้เข้าไปหนุนได้ การดับอวิชาก็คือ  การกำหนดรู้นาม และรูป ที่มันเกิด ๆดับ ๆ อยู่นี้เอง ท่าน เรียก อุทยัพพยญาณ ก็เรียก เรียกว่า กำหนดทุกขสัจจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่