รากนครา - สองหนทาง หากเป็นเรา จะเลือกทางใด

"จะมีใครสักกี่คนที่หวนระลึกถึงคนหลายคน ผู้กลบฝังความต้องการ ชีวิต และหัวใจของตนเองไว้ ภายใต้ภาระหน้าที่แห่งการค้ำจุนบ้านเมืองและสังคม ดุจเดียวกับ "ราก" ต้องฝังตัวอยู่ใต้พิภพ เพื่อค้ำจุน กิ่ง ใบ และลำต้นอันตระหง่านงาม ...ผู้คนเหล่านั้นก็เป็นดั่ง "ราก" แห่ง "นครา" "


(บางส่วนจากนวนิยาย)


"รากนครา" เป็นนวนิยายแนวพีเรียดดราม่า ผลงานอีกเรื่องหนึ่งของ "ปิยะพร ศักดิ์เกษม" เริ่มลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทย พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ (ค.ศ.1997) และต่อมาได้เป็นหนึ่งในเจ็ดนวนิยาย ที่ได้เข้ารอบสุดท้าย ในการคัดเลือกนวนิยายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน  (Southeast Asian Writers Award) หรือซีไรต์ (SEA Write) ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๓ (ค.ศ.2000)

ฉากหลังของเนื้อเรื่อง เกิดที่เมืองสมมติสามแห่งในทางตอนเหนือของสยามประเทศ ในช่วงพุทธทศวรรษที่ ๒๔๒๐ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อันเป็นช่วงที่สยาม และหลายอาณาจักรในบูรพาทิศ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการสูญเสียซึ่งเอกราช อันเป็นผลมาจากภัยคุกคามจากชาติตะวันตก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนนั้นเป็น "ผู้เจริญ" และมีภารกิจในการเข้ามาสร้างความ "ศิวิไลซ์" ให้กับดินแดนที่พวกเขามองว่าล้าหลังและป่าเถื่อน

ด้วยพระราชวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงเห็นว่า แนวทางเดิมหลายประการที่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น อาจไม่เป็นการเหมาะสมต่อยุคสมัยอีกต่อไป เนื่องจากอาจเป็น "ข้ออ้าง" ของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่จะถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการเข้าครอบครองพระราชอาณาจักรได้ จึงได้ทรงริเริ่มการดำเนินการหลายประการ ในการปฏิรูปสยามให้มีความศิวิไลซ์ เพื่อมิให้ชาติตะวันตกหาเหตุผลมาเป็นข้ออ้างในการยึดครองได้ และเพื่อให้สยามดำรงไว้ซึ่งเอกราชได้สืบต่อไป

หนึ่งในแนวทางเหล่านั้น คือการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค ในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ โดยในส่วนของนครที่เป็นประเทศราชของสยามนั้นทรงเห็นว่า ความสัมพันธ์แบบรัฐโบราณที่มีความสัมพันธ์ในรูปแบบประเทศราชนั้นมีความไม่รัดกุม และเสี่ยงที่ชาติตะวันตกจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการ "เข้าครอบครอง" ดินแดนเหล่านั้น และอาจส่งผลถึงเอกราชของสยามได้ จึงทรงปรับเปลี่ยนแนวทาง จากเดิมที่ให้เจ้าผู้ครองนครต่างๆ มีอำนาจด้านต่างๆในอาณาจักรของตนได้ตามสมควร และส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นเครื่องราชบรรณาการ มาเป็นการให้อำนาจในการปกครองแก่ "ข้าหลวง" ที่ถูกส่งจากส่วนกลางไปทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ เพื่อให้ดินแดนเหล่านั้นผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรโดยสมบูรณ์

เรื่องราวของรากนครานั้น เป็นการปะทะกันระหว่างสองนคร ด้วยสองอุดมการณ์ นั่นคือ
"จะยึดแนวทางเดิม หรือจะเลือกแนวทางใหม่"

นครแรกสมมติแห่งแรก คือนครเชียงพระคำ เป็นนครเป็นตัวแทนของแนวทางใหม่ โดยเจ้าราชบุตรศุษิระ ได้พิจารณาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า และได้เห็นว่าแนวทางที่แสดงหาความเป็นอิสระนั้น อาจไม่สามารถกลายเป็นความจริงได้อีกต่อไป และเชียงพระคำนั้น ก็มิอาจที่จะยืนหยัดต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมได้เพียงลำพัง จึงจำเป็นต้องเข้าร่วมพึ่งพิงกับอำนาจที่มีความแข็งแกร่งกว่าตน คือสยาม เพื่อให้สามารถคงไว้ซึ่งแนวทาง, ธรรมเนียมเดิมของตน และเพื่อให้ญาติพี่น้องได้อยู่รวมกันเป็นปึกแผ่น ไม่ถูกแบ่งแยกแตกสายไป

เมื่อมีความเห็นเป็นเช่นนี้ เจ้าราชบุตรศุษิระ จึงได้มอบโอรสของตน คือ "เจ้าศุขวงษ์" หรือ "เจ้าน้อย" (ธรรมเนียมภาคเหนือจะเรียกผู้ที่เคยผ่านการบวชเป็นเณรว่า "น้อย" และเรียกผู้ที่เคยผ่านการบวชเป็นพระภิกษุว่า "หนาน") ให้เป็นบุตรบุญธรรมของขุนนางชั้นพระยา  หรือ "ท่านเจ้าคุณ" ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นข้าราชการในราชสำนักสยาม
เจ้าศุขวงศ์ได้รับการอบรมเลี้ยงดูเป็นอย่างดี และได้มีโอกาสไปศึกษาต่อถึงที่สิงคโปร์ เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงได้เดินทางกลับมารับราชการที่ราชสำนักสยาม และเดินทางกลับขึ้นไปยังเชียงพระคำ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักของสยามและเชียงพระคำในการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ในขณะที่อีกหนึ่งนคร คือนครเชียงเงิน นั้นเป็นตัวแทนของแนวทางเก่า ที่เจ้าหลวงแสนอินทะ ตลอดจนเจ้าหน่อเมืองและเจ้าแม้นเมือง โอรสและธิดาต่างยึดมั่นในคำอบรมสั่งสอน และความใฝ่ฝันของบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก
ความใฝ่ฝันนั้นคือความพยายามให้เชียงเงิน "เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง"
นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้ เชียงเงินยังคงรักษาไว้ซึ่งธรรมเนียมเก่าหลายประการ และไม่ต้อนรับชาวตะวันตก ที่พวกเขาเรียกอย่างดูหมิ่นว่า "กุลาขาว"
อีกทั้งเจ้าหน่อเมือง (ภายหลังได้เป็นเจ้าอุปราชแทนเจ้าอุปราชสิงห์คำ ผู้เป็นอาที่ได้ถึงแก่พิราลัยไป โดยเจ้าอุปราชสิงห์คำเป็นผู้อุปการะเจ้าหน่อเมืองและเจ้านางแม้นเมือง) ยังดูถูกดูแคลนสยามที่ยอมปรับเปลี่ยนแนวทางตามแนวทางของตะวันตก อีกทั้งยังดูแคลนญาติหรือเจ้านครเหนืออื่นๆที่ยอมรับแนวทางของสยามเช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม เจ้าหลวงแสนอินทะและเจ้าอุปราชหน่อเมืองนั้นค่อนข้างจะชื่นชมแนวทางของ "เมืองมัณฑ์" นครสมมติอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นนครใหญ่ ที่ยังคงยึดถือแนวทางดั้งเดิมของตนอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมปรับเปลี่ยนแนวทางของตนตามตะวันตก

ซึ่งทั้งสองพ่อลูก ได้เล็งเห็นถึงแผนการบางประการ จึงคิดที่จะส่ง "เจ้านางมิ่งหล้า" น้องสาวต่างมารดาของเจ้าหน่อเมืองและเจ้านางแม้นเมือง ไปเป็นบาทบริจาริกาของเจ้าหลวงเมืองมัณฑ์อย่างลับๆ ซึ่งเป็นขั้นแรกในความพยายามในการประกาศความเป็นอิสระของเชียงเงิน

จะเห็นได้ชัดว่า สองแนวทางนี้แตกต่างกันอย่างมาก และไม่มีลักษณะความเข้ากันได้
แต่จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อทั้งสองแนวทาง ต้องมา "ปะทะ" กัน?

สองแนวทางนี้ ได้มาปะทะกัน เมื่อเจ้าศุขวงษ์ จำต้องเดินทางไปยังนครเชียงเงิน เพื่อร่วมงานพิธีปลงพระศพของเจ้าอุปราชสิงห์คำ ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติ
ที่นั่น เขาได้พบกับเจ้านางแม้นเมือง และเจ้าหน่อเมือง ซึ่งได้แสดงท่าทีดูแคลนแนวทางที่เขาเป็นอย่างไม่ปิดบัง

ในขณะเดียวกัน ความรักในหัวใจของเขากับแม้นเมืองก็ค่อยๆก่อตัวขึ้น

เรื่องราวจะเป็นเช่นใด โปรดติดตามต่อไปในละคร รากนครา...

.........................................................................................................................................................................

ความเป็นจริงจุดประสงค์ที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาไม่ได้เกี่ยวข้องกับจะเป็นการดีเบตหรืออะไรตามชื่อกระทู้ เป็นเพียงต้องการเสนอมุมมองบางประการของ จขกท.เองเกี่ยวกับประเด็นที่อาจทำให้เห็นว่าทำไมเชียงพระคำกับเชียงเงินถึงมีแนวทางที่แตกต่างกัน (หากอยากดีเบตกันก็ได้ครับในประเด็นนี้)

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะว่าเชียงพระคำนั้นแม้จะอยู่ไกลจากพระนคร แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าเป็นนครที่อยู่ใกล้กับนครใหญ่คือเชียงใหม่ ที่มีแนวทางชัดเจนในการปรับหรือบูรณาการเข้ากับสยาม รวมทั้งเป็นสถานที่แรกๆของเมืองเหนือในการรับรู้แนวคิดตะวันตก จากกลุ่มมิชชันนารี สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าราชบุตรศุษิระได้เห็นถึงแนวทางในอนาคต อีกทั้งเจ้าศุขวงษ์ผู้ที่เป็นอนาคตของเชียงพระคำนั้น ได้รับการศึกษาตามแนวทางของตะวันตก มีความคิดอ่านที่ก้าวไกลทันโลก จึงเห็นว่าแนวทางในการบูรณาการเข้ากับสยามนั้นค่อนข้างเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ในขณะที่เชียงเงินนั้นเป็นอาณาจักรที่อยู่ไกลออกไป และอยู่ท่ามกลางขุนเขา สามารถเดินทางไปหรือเข้าถึงได้ยาก อีกทั้งมีลักษณะสังคมที่เป็นระบบค่อนข้างปิด ทำให้ยังยึดแนวทางเดิมของบรรพบุรุษไว้อย่างค่อนข้างสูง และลักษณะของการอยู่ท่ามกลางขุนเขานี่เอง อาจเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ชาวเชียงคำมีความเป็น "นักสู้" และไม่ยอมจำนนต่อฝ่ายใดง่ายๆ

ประมาณนี้ ใครมีความคิดเห็นประการใดลองมาแสดงความคิดเห็นกันดู

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

(หากมีข้อผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยนะครับ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่