📌💯💖 “พระไชยราชา” กษัตริย์นักรบแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ 📌💯💖






📌💯💖 “พระไชยราชา” กษัตริย์นักรบแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ 📌💯💖


ประวัติศาสตร์การเมืองของอยุธยาได้หวนคืนสู่จออีกครั้งในวันที่ช่อง one31 ได้นำตำนานแม่หยัวศรีสุดาจันทร์มาสร้างเป็นละครฟอร์มยักษ์ โดยเรื่องราวดังกล่าวเป็นการขับเคี่ยวทางการเมืองภายในอาณาจักรอโยธยาที่มีข้อสันนิษฐานกันว่าเป็นการทวงบัลลังก์อโยธยาของวงศ์อู่ทองคืนจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ
.
ฝ่ายอู่ทองมีผู้เล่นสำคัญคือ 'แม่หยัวศรีสุดาจันทร์' แต่หากขาดฝั่งสุพรรณภูมิไปก็คงจะไม่ใช่การขับเคี่ยวทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีผู้เล่นหลักคือ 'พระไชยราชา' หรือ 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งอาณาจักรอยุธยา ถึงแม้ประวัติศาสตร์จะเขียนถึงพระองค์ไม่มากนัก แต่ยุคของพระองค์ก็ทำให้อาณาจักรอยุธยาเป็นที่รู้จักสำหรับต่างชาติ รวมถึงเป็นยุคที่เรียกได้ว่าอยุธยาขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางเลยทีเดียว
.
วันนี้ SUM UP เลยอยากจะพาไปทำความรู้จักกับพระไชยราชา กษัตริย์นักรบแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งหากกษัตริย์พระองค์นี้ไม่ด่วนสวรรคตไป หน้าประวัติศาสตร์อาจเกิดการเปลี่ยนโฉมก็เป็นได้
.
🚩 บริบทการเมืองของราชวงศ์สุพรรณภูมิก่อนยุคพระไชยราชา
.
ช่วงต้นของอยุธยาคือช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างราชวงศ์อู่ทอง หรือ ละโว้-อโยธยา กับ ราชวงศ์สุพรรณภูมิเป็นหลัก เพราะ 2 ราชวงศ์เป็นผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรอยุธยา ต่อมาในสมัยเจ้านครอินทร์ หรือ สมเด็จพระอินทราชา กษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจราชวงศ์อู่ทองจากพระรามราชาแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้บทบาทของราชวงศ์อู่ทองค่อย ๆ หายไปจากหน้าการเมืองอยุธยา
.
แต่กระนั้นราชวงศ์สุพรรณภูมิก็เกิดความแตกแยกภายในกันเอง เกิดการแย่งชิงราชสมบัติจากคนในราชวงศ์เดียวกันอย่างต่อเนื่อง นี่เองจึงอาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้คนจากราชวงศ์อื่นรวมถึงราชวงศ์อู่ทองหาทางช่วงชิงอำนาจให้กลับมาอยู่ในมือของฝ่ายตนเองอีกครั้งหนึ่ง
.
🚩 ราชวงศ์สุโขทัย ขั้วอำนาจที่ 3 ในอยุธยา
.
เมื่อราชวงศ์สุพรรณภูมิครองอำนาจในอยุธยาและมีบาดแผลลึกกับราชวงศ์อู่ทองอดีตพันธมิตร วิธีการอีกหนึ่งวิธีคือการมองหาพันธมิตรใหม่ โดยราชวงศ์ที่ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรใหม่ก็คือราชวงศ์สุโขทัย หรือ ราชวงศ์พระร่วง ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ที่พิษณุโลกและสุโขทัย
.
ราชวงศ์สุโขทัยนี้เมื่อครั้งสถาปนาอยุธยาก็เคยเป็นคู่ขัดแย้งของ 2 ราชวงศ์ที่มีอำนาจในอยุธยามาก่อน เพราะถูกอาณาจักรอยุธยาที่ขึ้นมามีอำนาจช่วงชิงดินแดน รวมถึงตัดเส้นทางการค้าทำให้อาณาจักรสุโขทัยสูญเสียอำนาจเป็นอย่างมากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์สุพรรณภูมิและราชวงศ์สุโขทัยถือเป็นการแต่งงานเชื่อมความสัมพันธ์ จะเห็นได้จากการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าสามพระยาและพระธิดาของพระมาธรรมราชาที่ 2 ที่ได้ให้กำเนิดพระราชโอรส คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีสายเลือดทั้งสุพรรณภูมิและสุโขทัย อีกทั้งยังได้ดินแดนของอาณาจักรสุโขทัยเดิมกินพื้นที่ไปถึงเมืองพิษณุโลกอีกด้วย
.
เห็นได้ว่าในเวลาต่อมาราชวงศ์สุพรรณภูมิหลาย ๆ พระองค์มักจะส่งพระมหาอุปราชหรือผู้ที่จะสืบราชสมบัติไปครองเมืองพิษณุโลก หรือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เห็นความสำคัญของเมืองพิษณุโลกถึงขนาดสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว นับเป็นการดึงราชวงศ์สุโขทัยเข้ามาพัวพันกับปัญหาการเมืองในอยุธยา และพิษณุโลกเองก็จะกลายเป็นฐานกำลังสำคัญสำหรับผู้ชิงบัลลังก์ในอยุธยาต่อไปในอนาคต
.
🚩 พระไชยราชากับชาติกำเนิดที่คลุมเครือ
.
สำหรับพระไชยราชาเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระราชประวัติของพระองค์ค่อนข้างคลุมเครือมาก โดยเฉพาะพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนระบุได้ว่าคือพระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์พระองค์ใด
.
นักประวัติศาสตร์หลายคนสันนิษฐานว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่เกิดจากพระสนม ขณะที่สังคีติยวงศ์ระบุว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชบิดาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 เท่ากับว่าเป็นน้องของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาและฉบับอื่นๆ กล่าวเพียงว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็นญาติกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
.
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าชาติกำเนิดของพระองค์ค่อนข้างคลุมเครือ และหากเป็นไปตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสนอว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็นพระมหาอุปราชกรุงศรีอยุธยา (โดยตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองพิษณุโลก) ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 และสมเด็จพระรัษฎาธิราชจริง เป็นไปได้ว่าพระองค์คงมีฐานอำนาจทางตอนเหนือของอยุธยาเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์สุโขทัย
.
และเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระองค์อาจเป็นพระราชโอรสรวมถึงพระอนุชาของกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เพราะตำแหน่งอุปราชเมืองพิษณุโลกนั้นมีความสำคัญมาก เปรียบเสมือนเมืองหลวงของอาณาจักรอยุธยาแห่งที่ 2 และเปรียบเสมือนรัชทายาทกลาย ๆ ก็ว่าได้
.
🚩 พระไชยราชายุคอยุธยาขยายอำนาจ
.
ภายหลังพระไชยราชายกกองกำลังจากพิษณุโลกมาก่อการรัฐประหารที่ศูนย์กลางอำนาจที่อยุธยา พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ สำเร็จโทษสมเด็จพระรัษฎาธิราชในวัย 5 พระชันษาที่ครองราชย์ได้เพียง 5 เดือนเท่านั้นด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการสืบราชสมบัติภายในอาณาจักรอยุธยาที่ไม่ชัดเจน เพราะหากพระไชยราชามีตำแหน่งเป็นพระมาอุปราชต้องมีสิทธิชอบธรรมในการเป็นกษัตริย์ต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระรัษฎาธิราชยังขัดต่อประเพณีนิยม เพราะพระมหาอุปราชเป็นลำดับต้น ๆ ในการสืบราชบัลลังก์เสมอมา ด้วยเหตุผลดังกล่าว นักวิชาการสมัยใหม่จึงมีความเห็นว่าการขึ้นครองราชย์ของรัษฎาธิราชทำให้ไชยราชาธิราชกริ้วและเกิดการรัฐประหาร
.
ในทางกลับกันก็ทำให้เห็นถึงความเด็ดขาด ความสามารถในการรบของพระไชยราชาที่มีเหนือคู่แข่งทางการเมืองในเมืองหลวง รวมถึงมีกองกำลังที่ภักดีอย่างหัวเมืองเหนือมีพิษณุโลกเป็นฐานกำลังที่สามารถเข้าชิงราชสมบัติในอยุธยาได้อย่างง่ายดาย ใช่ว่าพระองค์จะเก่งแต่การเมืองในอาณาจักรเท่านั้น ในยุคของพระองค์ยังสามารถขยายอิทธิพลไปทั่วภูมิภาคได้อีกด้วย เช่น การยกทัพไปตีอาณาจักรล้านนาของราชวงศ์เม็งราย
.
เพราะอาณาจักรล้านนาเกิดการผลัดแผ่นดินขึ้นที่เชียงใหม่ พระเมืองเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์โดยแสนคล้าวขุนนางผู้ทรยศ บรรดาเจ้าเมืองลำปาง เมืองเชียงราย และเมืองพาน ได้ยกกำลังเข้ายึดเมืองนครเชียงใหม่ แล้วพร้อมใจกันแต่งตั้งพระนางจิรประภาเทวี พระมเหสีในพระเมืองเกษเกล้าขึ้นครองนครเชียงใหม่ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงพิจารณาเห็นว่าล้านช้างอาจแผ่อำนาจเข้ามาปกครองล้านนา จึงทรงแต่งทัพไปตีเชียงใหม่ในกลางปี พ.ศ. 2088 แต่ไม่สำเร็จ ในปลายปีต่อมาจึงยกทัพไปอีกครั้ง ตีได้เมืองลำพูน เมื่อถึงเชียงใหม่พระมหาเทวีได้ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช
.
ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามไทยกับพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2081 เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งกรุงหงสาวดี กษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดนักรบได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน อันเป็นหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพไปตีกลับคืนมา ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟและได้เริ่มใช้ปืนไฟในการรบเป็นครั้งแรก กองทัพไทยสามารถยึดเมืองเชียงกรานกลับคืนมาได้
.
เมื่อพระองค์ยกทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบแก่กองอาสาชาวโปรตุเกส พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่บริเวณตำบลบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน ซึ่งต่อมาเรียกว่าบ้านโปรตุเกส และทรงอนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้มีบาทหลวงเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์เป็นกษัตริย์นักรบพระองค์หนึ่งของอาณาจักรอยุธยาเลยทีเดียว เพราะสามารถขยายอาณาเขตเข้าไปถึงอาณาจักรล้านนารวมถึงยกทัพไปรบกับทัพข้าศึกที่ได้ชื่อว่าเข้มแข็งอย่างพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้ และที่สำคัญยังรู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปืนไฟ รวมถึงจ้างนักรบต่างชาติอย่างชาติโปรตุเกสเข้ามาอยู่ในกองทัพ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดด้านการรบว่าพระองค์มีความชาญฉลาดและทันสถานการณ์ไม่น้อยหน้าใครเลยทีเดียว
.
🚩 แม้กระทั่งสวรรคตประวัติศาสตร์ก็ยังคลุมเครือ
.
ยุคของพระไชยราชาเปรียบเสมือนยุคที่วิทยาการสมัยใหม่และชาวต่างชาติกำลังเข้ามา แต่กระนั้นประวัติศาสตร์ก็ยังคลุมเครือ รวมถึงหลักฐานที่หาได้ในปัจจุบันเกี่ยวกับพระองค์ก็มีน้อยมาก รวมถึงเรื่องการสวรรคตของพระองค์ พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า หลังทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้ว สมเด็จพระไชยราชาธิราชได้เสด็จยกทัพหลวงกลับมายังกรุงศรีอยุธยา แล้วสวรรคตระหว่างทางอย่างไรก็ดี
.
ขณะที่บันทึกของพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในอาณาจักรอยุธยาในสมัยนั้นชื่อ เฟอร์ดินันท์ เมนเดซ ปินโต กลับระบุว่าแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ซึ่งลักลอบมีความสัมพันธ์กับพันบุตรศรีเทพ (ขุนวรวงศาธิราช) พราหมณ์ผู้คุมหอพระ ได้ลอบปลงพระชนม์พระองค์ด้วยยาพิษในปี พ.ศ. 2089 หากเป็นดังที่ปินโตบันทึกจริง และข้อสันนิษฐานเรื่องชาติกำเนิดของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์รวมถึงขุนวรวงศาธิราชเป็นคนในราชวงศ์อู่ทอง
.
เป็นไปได้หรือไม่ว่ายุคสมัยของพระไชยราชาเป็นยุคที่เข้มแข็งมากจนราชวงศ์อู่ทองไม่สามารถเดินเกมการเมืองได้เท่าไหร่นัก จึงต้องคอยลับคมมีด รอวันที่พระไชยราชาสวรรคต ไม่ว่าจะด้วยการรอบวางยาพิษหรือให้พระองค์เสด็จสวรรคตเอง แต่ก็ถือเป็นจังหวะอันดีของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์แห่งราชวงศ์อู่ทองที่สามารถทวงอำนาจและบัลลังก์ให้กับตระกูลของตนเองได้อีกครั้ง
.
แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอยุธยาในยุคพระไชยราชาไม่ได้มีผู้เล่นหลักแค่อู่ทองและสุพรรณภูมิ แต่กลับมีขั้วอำนาจ อย่าง สุโขทัย ที่ถูกสุพรรณภูมิดึงมาเป็นพันธมิตร และดึงเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งต่อไปสุโขทัยขั้วอำนาจที่ 3 จะกลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองในอยุธยาอย่างมากมายและถึงขนาดที่จะมีพระมหากษัตริย์ที่มาจากราชวงศ์ดังกล่าวอีกหลายพระองค์ แทนที่คนในราชวงศ์อู่ทองและสุพรรณภูมิในที่สุด
.
ภาพ : มณฑล ชลสุข

----------
ติดตาม SUM UP บนช่องทางต่าง ๆ https://linktr.ee/sumup.th
อ่านทุกเรื่องบนเว็บไซต์ https://www.sumupth.com/
----------
#พระไชยราชาธิราช
#แม่หยัวศรีสุดาจันทร์
#ท้าวศรีสุดาจันทร์
#ขุนวรวงศาธิราช
#ราชวงศ์อู่ทอง
#ราชวงศ์ละโวอโยธยา
#ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
#ราชวงศ์สุโขทัย
#อาณาจักรอยุธยา
#History
#SUMUPSummary
#SUMUPTH


 
 
https://www.sumupth.com/king-chaiyaracha-the-warrior-king-of-the-supannabhumi-kingdom/


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่