อธิบายพระคัมภีร์ มัทธิว 5:17-19 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์



      “จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายiว่าตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป แม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเพียงจุดเดียวจะไม่ขาดหายไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จไป ดังนั้น ผู้ใดละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียว แม้เล็กน้อยที่สุด และสอนผู้อื่นให้ละเมิดด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติและสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสวรรค์”

📖📖📖

ธรรมบัญญัติคืออะไร

     ทั้งๆที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “พระคริสตเจ้าคือจุดจบของธรรมบัญญัติ” (โรม 10:4) แต่ทำไมพระเยซูเจ้าเองจึงบอกว่า ธรรมบัญญัติจะคงอยู่ทุกตัวอักษรตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป

     ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อพูดถึง “ธรรมบัญญัติ (The Law)” ชาวยิวหมายถึง 4 อย่างคือ

1. พระบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments)

2. หนังสือพระธรรมเดิม 5 เล่มแรกที่เรียกกันว่า ปัญจบรรพ (Pentateuch)

3. ใช้ในสำนวน The Law and the Prophets เพื่อหมายถึง พระคัมภีร์ทั้งครบ (ขณะนั้นคือ พันธสัญญาเดิม - Old Testament เท่านั้น)

4. ธรรมประเพณี (Oral and Scribal Law)

     สิ่งที่ทั้งพระเยซูเจ้าและนักบุญเปาโลต่างประณาม คือ ธรรมบัญญัติตามความหมายสุดท้าย

     เราจะพบว่า ในพระธรรมเดิมมีกฎระเบียบอยู่น้อยมาก แม้บัญญัติสิบประการเองก็ไม่ใช่กฎระเบียบ แต่เป็นเพียงหลักการกว้างๆ อันยิ่งใหญ่ที่แต่ละคนจะต้องตีความและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตของตน โดยอาศัยคำแนะนำหรือการดลใจของพระเจ้า

     แต่ชาวยิวสมัยหลังเห็นว่า ลำพังหลักการเท่านี้ไม่เพียงพอ พวกธรรมาจารย์(Scribes / Soferim - סופרים) จึงพยายามดึงกฎเกณฑ์หยุมหยิมมากมายจากหลักการข้างต้น เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

     กฎเกณฑ์หยุมหยิมที่พวกพวกธรรมาจารย์ (Scribes / Soferim - סופרים) พยายามคิดค้นขึ้นมานี่แหละเรียกว่า “ธรรมประเพณี”

     ยกตัวอย่างเช่น บัญญัติ 10 ประการกำหนดเป็นหลักการไว้ว่า “จงทำวันสับบาโตให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ และห้ามทำงานในวันสับบาโต”

     ปัญหาของพวกธรรมาจารย์ (Scribes / Soferim - סופרים) ก็คือ “อะไรคืองาน?“ พวกเขาจึงต้องระดมความคิดและเวลามากมายเพื่อช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วย“งาน”

     ประการแรก งานคือ “การแบกของ” แต่ปัญหาต่อมาคือ “ของอะไรบ้างที่แบกได้หรือไม่ได้?” พวกเขาก็ได้กฎเกณฑ์ออกมาว่า สิ่งที่แบกได้ในวันสับบาโต คือ อาหารที่มีน้ำหนักเท่ามะเดื่อแห้ง 1 ผล , เหล้าองุ่นไม่เกิน 1 ถ้วย , น้ำนม 1 อึก , น้ำจำนวนพอผสมยาป้ายตา , กระดาษพอเขียนประกาศ 1 ใบ , หมึกพอเขียนอักษร 2 ตัว , ต้นอ้อพอทำปากกา 1 ด้าม ฯลฯ พวกเขาใช้เวลายาวนานเพื่อถกเถียงกันว่าในวันสับบาโตจะเคลื่อนตะเกียง จะอุ้มเด็กทารก จะใส่ฟันปลอม ขาเทียม เข็มกลัดผม หรือผมปลอมได้หรือไม่หรือแม้แต่ช่างตัดเสื้อที่ลืมเข็มติดไว้กับเสื้อจะเป็นบาปหรือไม่?

     ประการที่ 2 งานคือ “การเขียน” การเขียนที่ถือว่าผิด คือ เขียนมากกว่าสองตัวอักษรถ้าเกิน 2 ตัวอักษรแต่เขียนด้วยวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดรอยถาวร เช่น เขียนด้วยของเหลวสีดำ , น้ำผลไม้ หรือเขียนบนฝุ่นหรือทราย เหล่านี้ไม่ถือว่าผิด ถ้าเขียนบนกำแพงที่มีมุมติดกันหรือเขียนบนสมุดบัญชี 2 หน้าชนิดที่ทำให้อ่านพร้อมกันได้ก็ถือว่า ผิด แต่ถ้าต้องเดินไปดูกำแพงอีกด้านหรือพลิกสมุดไปอีกหน้าหนึ่งจึงจะอ่านได้ความ แบบนี้ถือว่า ไม่ผิด

     ประการที่ 3 งานคือ “การรักษา” อนุญาตให้กระทำได้เมื่อมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับหู , คอ และจมูก แต่ทั้งนี้อนุญาตให้ทำได้เพียงเพื่อไม่ให้อาการเลวร้ายลงเท่านั้น ห้ามทำการใดๆ เพื่อให้อาการนั้นดีขึ้น
นี่คือตัวอย่างอันน้อยนิดของผลงานของบรรดาธรรมาจารย์ (Scribes / Soferim - סופרים) ช้ำร้ายยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า พวกฟารีสี (Pharisees - פְּרוּשִׁים) ซึ่งแปลว่า “ผู้ที่แยกตัวออกมา” พวกเขาเพียรพยายามจะปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนทุกกระบวบความ

     ประมาณกลางศตวรรษที่ 3 ธรรมประเพณีเหล่านี้ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า มิษนา (Mishnah - מִשְׁנָה) มีความหนาประมาณ 800 หน้า และประมาณศตวรรษที่ 5 ก็มีผู้รวบรวมคำอธิบายกฎระเบียบต่างๆ ในหนังสือมิษนา(Mishnah - מִשְׁנָה) เป็นเล่มเรียกว่า ทัลมุด (Talmud - תַּלְמוּד)

     ทัลมุด (Talmud - תַּלְמוּד) ของกรุงเยรูซาเล็มประกอบด้วยหนังสือ 12 เล่มพิมพ์และ ทัลมุด (Talmud - תַּלְמוּד) ของกรุงบาบิโลนประกอบด้วยหนังสือ 60 เล่มพิมพ์

แก่นแท้ของธรรมบัญญัติ

     หลักการอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งคือ “มนุษย์ต้องพยายามแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่าง และเมื่อพบแล้วเขาต้องทุ่มเทอุทิศตนตลอดชีวิตเพื่อปฏิบัติตามน้ำพระทัยนั้น” พวกธรรมาจารย์ (Scribes / Soferim - סופרים) และฟารีสี(Pharisees - פְּרוּשִׁים) ทำถูกที่พยายามแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้า และยิ่งถูกเข้าไปใหญ่เมื่อพยายามอุทิศตนปฏิบัติตามน้ำพระทัยนั้น แต่พวกเขาผิดที่ดันไปพบน้ำพระทัยในกฎระเบียบมากมายที่สร้างขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง

     ถ้าเช่นนั้นอะไรคือแก่นแท้ของน้ำพระทัยของพระเจ้า?  อะไรคือแก่นแท้ของธรรมบัญญัติ?

     เมื่อพิจารณาพระบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) อย่างใกล้ชิด เราจะพบว่าแก่นแท้ของธรรมบัญญัติทุกข้อสรุปได้เพียงคำเดียว คือ “เคารพ (Respect)”

     เราต้องเคารพยำเกรงพระเจ้าและพระนามของพระองค์  เราต้องเคารพยำเกรงวันของพระเจ้า

     เราต้องเคารพพ่อแม่ ชีวิต ความเป็นบุคคลของตนเอง ทรัพย์สิน ความจริงและชื่อเสียงของผู้อื่น และสุดท้ายเราต้องเคารพตัวเองเพื่อว่า ความปรารถนาผิดๆ จะได้ไม่เป็นนายเหนือเรา

     กล่าวง่ายๆ คือ เราต้องเคารพยำเกรง (Reverence) พระเจ้า และเคารพ (Respect) เพื่อนมนุษย์รวมถึงตัวเองด้วย

     นี่คือแก่นแท้และเป็นพื้นฐานของธรรมบัญญัติตลอดจนกฎหมายทั้งปวง
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตรัสว่า “จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติ แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์” พระองค์จึงต้องการบอกเราว่า ความเคารพยำเกรงและความเคารพที่เป็นพื้นฐานของพระบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) นั้นจะไม่มีวันสูญสิ้นไป

     และพระองค์เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ก็เพื่อแสดงให้เราเห็นว่า “ความเคารพยำเกรงต่อพระเจ้า และความเคารพต่อมนุษย์” ที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร

พระเยซูเจ้าต้องการสอนอะไร?

1. อดีตและปัจจุบันมีความต่อเนื่องกัน
บางคนชอบตำหนิอดีตที่ผิดพลาดแล้วพยายามลืมหรือสลัดมันทิ้งไป แต่ถ้าเราทำเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเรากำลังต่อสู้กับอดีต และเมื่อเราต่อสู้กับอดีตเราก็จะไม่มีอนาคต! เพราะปัจจุบันนั้นเติบโตมาจากอดีต และอนาคตก็เติบโตมาจากปัจจุบัน

     นี่คือเหตุผลว่า ทำไมพระเยซูเจ้าจึงมิได้ลบล้างธรรมบัญญัติในอดีตแม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเดียว

     ก่อนจะมีพระวรสารจำเป็นต้องมีธรรมบัญญัติก่อนเพื่อว่าเรามนุษย์จะได้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างถูกกับผิด รู้จักบาป รู้จักความอ่อนแอ และเรียนรู้ว่า เราต้องการพระเจ้าพร้อมกับความช่วยเหลือของพระองค์

2. การดำเนินชีวิตคริสตชนไม่ใช่เรื่องง่าย

     บางคนอ้างว่า เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาก็เป็นอันสิ้นสุดของธรรมบัญญัติ ต่อจากนี้ไปเขาจะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ได้
ไม่ใช่เลย!

     เพราะพระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า “ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้วท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย”

     พวกธรรมาจารย์ (Scribes / Soferim - סופרים) และฟารีสี (Pharisees - פְּרוּשִׁים) ดำเนินชีวิตโดยมีบทบัญญัติต่างๆ เป็นทั้งแรงผลักดันและเป็นทั้งแรงจูงใจ

     แต่แรงผลักดันและแรงจูงใจของการดำเนินชีวิตแบบคริสตชน คือ “ความรัก(Love)”

     พระเจ้าทรงรักมนุษย์จนยอมส่งพระบุตรแต่องค์เดียวมาช่วยให้มนุษย์พ้นบาปมนุษย์จึงพยายามตอบแทนบุญคุณนี้ด้วยความรักเช่นกัน

     เป็นไปได้ว่าเราอาจไม่เคยละเมิดกฎหมาย ไม่เคยถูกตำรวจจับ ซึ่งแปลได้ว่าเราอาจถือตามบทบัญญัติหรือกฎหมายต่างๆ ได้ครบ

     แต่กับความรัก เราไม่อาจพูดได้เลยว่า เราแสดงความรักพอแล้ว...

     ถ้าเรารักใครสักคน ต่อให้เอาดวงจันทร์มาประเคนให้ได้ เราก็ยังรู้สึกว่า ไม่พอ

     นี่คือพันธะผูกพันอันยิ่งใหญ่ของความรักที่มีเหนือกฎหมายอันมีข้อจำกัด

     ความชอบธรรมของเราจึงต้องดีกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี

#คริสต์ #คาทอลิก #มัทธิว #พระวรสาร #พระกิตติคุณ #พระคัมภีร์ไบเบิล #พระคัมภีร์ #ไบเบิล #พระเยซูเจ้า #พระเยซู #ธรรมบัญญัติ #พระบัญญัติ #ธรรมาจารย์#ฟาริสี #ชาวยิว #ยิว #ยูดาห์ #พันธสัญญาเก่า #พันธสัญญาเดิม #catholic

CR. : https://www.facebook.com/share/p/1XGTY6GFNPmPpAmr/?mibextid=WC7FNe
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่