เตือนรักษามะเร็งทางเลือกเสี่ยงตายยิ่งกว่า 2.5 เท่า
19 สิงหาคม 2017
ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ เผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดซึ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ตัดสินใจรักษาด้วยวิธีทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพร การบำบัดแบบโฮมีโอพาธี การรับพลังคริสตัล หรือการเข้าคอร์สรับประทานอาหารเฉพาะอย่างนั้น มีแนวโน้มจะเสียชีวิตภายใน 5 ปีหลังการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในครั้งแรก มากยิ่งกว่าผู้ที่รักษาตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งใช้วิธีเคมีบำบัด ฉายรังสี และการผ่าตัด
มีการเผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ (JNCI) โดยระบุว่าทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากที่บันทึกไว้ในฐานข้อมูลสุขภาพระดับชาติ และพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รวม 281 คนที่ตัดสินใจรับการรักษาด้วยวิธีทางเลือกแทนการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน
ทีมวิจัยได้นำข้อมูลของคนกลุ่มนี้ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของคนไข้อีก 560 คน ซึ่งมีภูมิหลังทางเชื้อชาติ อายุ เพศ และลักษณะของมะเร็งที่เป็นใกล้เคียงกัน พบว่าผู้ที่รักษามะเร็งแบบทางเลือกมักเสียชีวิตภายใน 5 ปีหลังการวินิจฉัยโรคครั้งแรก โดยคิดเป็นจำนวนสูงยิ่งกว่าคนไข้ที่รักษาตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันถึง 2.5 เท่า
เมื่อคำนวณถึงอัตราความเสี่ยงเสียชีวิตของผู้รักษาด้วยวิธีทางเลือก โดยแยกตามประเภทของโรคมะเร็งพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาแบบทางเลือกมีโอกาสเสียชีวิตสูงที่สุด โดยเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนไข้ทั่วไป 5.68 เท่า ส่วนกรณีของโรคมะเร็งปอดนั้น ผู้รักษาด้วยวิธีทางเลือกเพียง 20% มีชีวิตรอดอยู่ได้นานถึง 5 ปี แต่คนไข้ที่รักษาด้วยวิธีปกติสามารถอยู่รอดถึงระยะเวลาเดียวกันได้มากกว่าถึง 40%
ทีมวิจัยเน้นว่านี่ยังเป็นตัวเลขที่ประมาณการณ์ในขั้นต่ำเท่านั้น โดยยังไม่รวมกรณีของมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่า 5 ปีกว่าจะแสดงอาการชัดเจน
ทีมวิจัยยังชี้ว่า การที่ผู้ป่วยซึ่งรักษาด้วยวิธีทางเลือกบางส่วนสามารถรอดชีวิตจากโรคมะเร็งมาได้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะได้หันมารักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หลังมีอาการแย่ลงและมะเร็งลุกลามไปมากขึ้น
นายแพทย์จอห์น บริดจ์วอเทอร์ จากโรงพยาบาลยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนยืนยันว่าการรักษามะเร็งด้วยวิธีทางเลือกนั้นได้ผล ในกรณีของสหรัฐฯนั้น ผู้ป่วยที่ตัดสินใจรักษาด้วยวิธีทางเลือกมักเป็นผู้มีฐานะและการศึกษาดี เพราะเป็นวิธีที่มีราคาแพงซึ่งประกันสุขภาพทั่วไปไม่ครอบคลุม แต่คนเหล่านี้มักตกเป็นเหยื่อของธุรกิจการบำบัดโรคมะเร็งทางเลือกที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่เสมอ
http://www.bbc.com/thai/international-40984831
[BBC] เตือนรักษามะเร็งทางเลือกเสี่ยงตายยิ่งกว่า 2.5 เท่า
19 สิงหาคม 2017
ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ เผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดซึ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ตัดสินใจรักษาด้วยวิธีทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพร การบำบัดแบบโฮมีโอพาธี การรับพลังคริสตัล หรือการเข้าคอร์สรับประทานอาหารเฉพาะอย่างนั้น มีแนวโน้มจะเสียชีวิตภายใน 5 ปีหลังการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในครั้งแรก มากยิ่งกว่าผู้ที่รักษาตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งใช้วิธีเคมีบำบัด ฉายรังสี และการผ่าตัด
มีการเผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ (JNCI) โดยระบุว่าทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากที่บันทึกไว้ในฐานข้อมูลสุขภาพระดับชาติ และพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รวม 281 คนที่ตัดสินใจรับการรักษาด้วยวิธีทางเลือกแทนการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน
ทีมวิจัยได้นำข้อมูลของคนกลุ่มนี้ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของคนไข้อีก 560 คน ซึ่งมีภูมิหลังทางเชื้อชาติ อายุ เพศ และลักษณะของมะเร็งที่เป็นใกล้เคียงกัน พบว่าผู้ที่รักษามะเร็งแบบทางเลือกมักเสียชีวิตภายใน 5 ปีหลังการวินิจฉัยโรคครั้งแรก โดยคิดเป็นจำนวนสูงยิ่งกว่าคนไข้ที่รักษาตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันถึง 2.5 เท่า
เมื่อคำนวณถึงอัตราความเสี่ยงเสียชีวิตของผู้รักษาด้วยวิธีทางเลือก โดยแยกตามประเภทของโรคมะเร็งพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาแบบทางเลือกมีโอกาสเสียชีวิตสูงที่สุด โดยเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนไข้ทั่วไป 5.68 เท่า ส่วนกรณีของโรคมะเร็งปอดนั้น ผู้รักษาด้วยวิธีทางเลือกเพียง 20% มีชีวิตรอดอยู่ได้นานถึง 5 ปี แต่คนไข้ที่รักษาด้วยวิธีปกติสามารถอยู่รอดถึงระยะเวลาเดียวกันได้มากกว่าถึง 40%
ทีมวิจัยเน้นว่านี่ยังเป็นตัวเลขที่ประมาณการณ์ในขั้นต่ำเท่านั้น โดยยังไม่รวมกรณีของมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่า 5 ปีกว่าจะแสดงอาการชัดเจน
ทีมวิจัยยังชี้ว่า การที่ผู้ป่วยซึ่งรักษาด้วยวิธีทางเลือกบางส่วนสามารถรอดชีวิตจากโรคมะเร็งมาได้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะได้หันมารักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หลังมีอาการแย่ลงและมะเร็งลุกลามไปมากขึ้น
นายแพทย์จอห์น บริดจ์วอเทอร์ จากโรงพยาบาลยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนยืนยันว่าการรักษามะเร็งด้วยวิธีทางเลือกนั้นได้ผล ในกรณีของสหรัฐฯนั้น ผู้ป่วยที่ตัดสินใจรักษาด้วยวิธีทางเลือกมักเป็นผู้มีฐานะและการศึกษาดี เพราะเป็นวิธีที่มีราคาแพงซึ่งประกันสุขภาพทั่วไปไม่ครอบคลุม แต่คนเหล่านี้มักตกเป็นเหยื่อของธุรกิจการบำบัดโรคมะเร็งทางเลือกที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่เสมอ
http://www.bbc.com/thai/international-40984831