อะไรคือคุณภาพการดำเนินชีวิตที่ดี...ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนา...น้องอิมเมจมาดูรถเมล์คันนี้

อรุณสวัสดิ์วันเสาร์ทุกท่านครับ

ผมเองได้ใช้บริการรถเมล์ในประเทศไทยตั้งแต่ 1990-2000 ในสมัยเรียนมัธยม และมหาวิทยาลัยช่วงปีแรกๆ และช่วงที่ทำงานที่ไทยในกทม.ก็ได้มีโอกาสทดลองใช้บริการรลเมล์อีกครั้ง ... ต้องเรียนตามจริงสิ่งที่พัฒนาขึ้นคือ ทางขึ้นลงมีการปิดประตูในช่วงที่มีการเดินรถ แต่ก็ไม่ทุกคันครับ แต่เรื่องความสะอาด  มารยาทในการขับขี่ของรถเมล์ มารยาทในการจอดรถเทียบท่าจอดให้ผู้โดยสารขึ้นลง ระบบการชำระค่าโดยสารที่เป็นเหมือนระบบเดิมคือใช้กระเป๋ารถเมล์เดินเก็บ และที่สำคัญเรื่องเวลาการเดินรถที่ยังไม่สามารถระบุเป็นเวลาได้ชัดเจน ยังไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นเลย

เมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมากระผมได้เดินทางไปหลายประเทศ ประเทศที่ผมเห็นว่าระบบโดยสารสาธารณะมีระเบียบและดีเยี่ยม ส่วนตัวขอยกให้ประเทศ ญี่ปุ่น และสวีเดน เพราะอะไร ก็ระบบโดยสารสาธารณะในระดับพื้นฐานของประเทศนั้น คือ รถเมล์​หรือรถไฟ(ของสวีเดนขึ้นฟรีสำหรับประชาชน) นั้นสะอาดสะอ้าน ความตรงต่อเวลาเป็นเยี่ยม มารยาทในการจอดรับส่ง และการขับขี่ดีเยี่ยม มารยาทการขึ้นลงรถเป็นระเบียบ ซึ่งส่วนตัวผมว่ามันดีมากแล้วนะ แต่เพิ่งเห็นรถเมล์ญี่ปุ่นที่ไร้คนขับ ... ขนาดมารยาทการขับขี่เค้าดีขนาดนั้นยังไม่ใช้คนขับรถแล้ว แถมใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์แบบองค์รวม
ตามคลิปนี้เลยครับ
https://www.youtube.com/watch?v=lvSd76MqQLk
น้องอิมเมจได้ดูแล้วคงชอบ และน่าจะตรงความต้องการของประชาชนทั้งโลกนี้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ... ผมเชื่อนะว่าถ้าบ้านเมืองไทยมีบริการแบบนี้ อย่างน้อยผมและครอบครัวจะไม่ใช้รถส่วนตัวบ่อยเท่าปัจจุบันนี้

แล้วอะไรนอกจากความไม่เป็นระเบียบส่วนบุคคลและมารยาททางสังคมไทยที่ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นและเอื้อเฟื้อให้กันน้อยลง คงต้องมองเรื่องระบบและองค์กรที่เกี่ยวข้องตั้งแต่รัฐ และเอกชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

1. รัฐและองค์กร ขาดการวิจัยและวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลจริง และทราบปัญหาล่วงหน้าได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาจริง หรือว่ามีปัญหาจริงจะได้ทราบความรุนแรงของปัญหา และสาเหตุปัจจัยของปัญหาเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น มิใช่รอให้เกิดปัญหาแล้วแก้ตามที่รัฐหรือองค์มโนเอาเองว่าน่าจะอย่างนั้น ควรแก้อย่างนี้ : อะไรที่ทำให้ผมกล้ากล่าวเช่นนั้น ... ที่ญี่ปุ่น ผมเดินเท้าอยู่ถนนเส้นหนึ่งที่ชานเมือง ผมเห็นจนท.ท่านหนึ่งนั่งนับรถยนต์ และ จำนวนคนเดินสัญจรผ่านถนนเส้นนั้นอยู่ 2 วันติด เลยได้เข้าไปคุย พบว่าหน่วยงานให้มาสำรวจการใช้ถนนเส้นนี้จริงๆว่ามีการสัญจรด้วยรถ และคนเดินเท้ามากน้อยแค่ไหนเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อนำไปเป็นข้อมูลเพื่อตัดสินใจการขยายถนนเส้นนี้

2. สมาชิกของรัฐ หรือองค์กร หรือหน่วยงาน และผู้นำนั้น อาจจะมีวุฒิ หรือมีอายุงานที่เหมาะสมกับตำแหน่ง แต่ขนาดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และขาดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาองค์กร และงานทุกระดับ ...​พูดง่ายก็คือ วุฒิและอายุงานได้แต่ความสามารถที่แท้จริงไม่ถึง ความคิดสร้างสรรค์ และบูรณาการไม่มี ... แต่จริงๆก็โทษปัจจัยนี้อย่างเดียวไม่ได้ ลองดูข้อต่อไปดีกว่า

3. หน่วยงาน หรือองค์กร ขนาดระบบการประเมินและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และหรือหากมีก็ไม่สะท้อนปัญหาที่แท้จริง หรือ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ... ชี่งจุดนี้ต้องเรียนว่าทั้งรัฐและเอกชนหลายแห่งในหน่วยงานที่ผมเคยใช้บริการก็แย่พอกัน ... จริงครับที่ผมพิมพ์หรือพูดนี้ดูง่าย แต่จริงๆทำได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ หากหน่วยงานนั้นมีข้อ 2 ที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพเพียงพอ ... ไม่ใช่แค่อายุงานได้หรือวุฒิตามเกณฑ์นะ

4. วัฒนธรรมองค์กร และ วัฒนธรรมคนไทย สำหรับผมปัจจัยนี้เป็นเรื่องใหญ่มากครับ เพราะขนาดผมยังต้องยอมรับเลยครับว่าองค์กรและหน่วยงานในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน แม้แต่หน่วยงานระดับระหว่างประเทศในไทยก็ยังมีวัฒนธรรมเช่นนี้อยู่บ้างแต่ก็น้อยว่าหน่วยงานในไทยล้วนๆ ... ระบบ Seniority ต้องเคารพผู้ใหญ่ สำหรับผมผมเห็นด้วยนะครับ ที่ต้องเคารพในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ เวลาพูดคุยติดต่อก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน จะทำให้เราทำงานได้ง่าย แต่ไม่ต้องเลียครับ แต่ปัญหามีอยู่ 2 ด้านคือ
- ด้านผู้ใหญ่บางท่านไม่น่ารัก เอาอายุงานและตำแหน่งเป็นข้ออ้างในการแสดงความคิดเห็น และตัดสิน แต่ความสามารถและวิสัยทัศน์หรือแม้กระทั่งทัศนคติไม่ผ่านก็มีไม่น้อย แบบนี้ลูกน้องยากครับ และองค์กรก็มีแต่จมลง ... แต่หากผู้ใหญ่น่ารัก รู้ว่าตนขาดตรงไหน ยอมรับความคิดเห็นเด็กที่มีศักยภาพและทำงานร่วมกันก็ย่อมเกิดประโยชน์ได้ไม่ยาก
- ด้านผู้น้อยที่ไม่น่ารักเดี่ยวนี้ก็มีเยอะ พวกคิดว่าตนเองเก่ง แน่ แจ๋ว และไม่ยอมรับฟังผู้ใหญ่ที่มีทัศนคติที่ดี และวิสัยทัศน์กว้างไกล พวกนี้ก็มีไม่น้อย ยิ่งพวก IQ สูง แต่ EQ ต่ำ ก็ลำบากที่ผู้ใหญ่จะเอ็นดูและไว้วางใจได้

อย่างคลิปนี้
1. ผมเชื่อว่ารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี้ ได้มีข้อมูลพื้นฐานอย่างแน่นอนว่า คนขับรถน่าจะทำให้เกิดปัญหาในการบริการ และวิเคราะห์ข้อมูลแล้วว่าควรพัฒนารถเมล์ไร้คนขับ
2. สมาชิกในหน่วยงานทราบปัญหา และวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาด้วยการพัฒนารถเมล์ไร้คนขับ โดยใช้เทคโนโลยีทางยานยนต์ และการสื่อสาร บูรณาการจนสามารถให้บริการในพื้นที่ที่เกิดประโยชน์ที่สุดก่อน

รถเมล์ในไทย สายนี้ผมก็เคยใช้บริการ น่ากลัวจริงๆครับ
https://www.youtube.com/watch?v=Ww-6pwnSg9A

คงเข้าใจนะครับท่าน ... ทำไมคนไทยออกรถเยอะ ทำไมถนนไม่พอรถวิ่ง ทำไมพ่อแม่ที่มีกำลังไม่อยากให้ลูกเดินทางระบบสาธารณะ ทำไมรัฐต้องมีค่าใช้จ่ายกับการดูแลปัญหาอุบัติเหตุจากรถสาธารณะไม่เว้นแต่ละวัน ทำไมรัฐสูญเงินไปกับเรื่องที่แก้ไขและป้องกันได้อย่างไม่รู้จบ ทำไมยอดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนน่ากังวล...เอ๊ะเกี่ยวไหม ผมว่าเกี่ยวนะ

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว และทราบดีว่าความคิดเห็นของผมหรือคำพูดนี้แสดงออกมาได้ง่ายแต่ทำได้ยาก แต่ผมเชื่อนะไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ และทราบดีว่าความเห็นนี้ก็คงไม่ได้ช่วยให้ปัญหาที่ผมกล่าวอยู่นี้ดีขึ้นได้แม้แต่น้อย แต่ผมฐานะหัวหน้าครอบครัว ผมจะตั้งใจดูแลไอ้ตัวเล็ก โตมาเป็นเด็กที่น่ารัก อ่อนน้อมถ่อมตน เรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพของเค้าให้เต็มที่ที่สุด และคิดอย่างสร้างสรรค์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม และรู้จักยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างเข้าใจแม้จะเป็นความคิดเห็นที่ต่างกันอย่างสุดขั้วก็ตามโดยคิดวิเคราะห์บนข้อมูลและเหตุผลและเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดและผมทำได้ ... พวกเราทุกคนก็ทำได้นะครับ ... ผมรักประเทศไทยครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่