"การทำร้ายร่างกายตัวเอง" วิธีการบำบัดหัวใจที่บอบช้ำ >> เมื่อการยัดเยียดความเจ็บปวด คือการต่อชีวิต!!

คุณอาจจะเคยรู้จักคนที่เลือกใช้วิธีการทำร้ายตัวเองเป็นเครื่องมือในการ "ระบาย" ความกดดัน ความอัดอั้นในใจ หรือ ความเครียด การทำร้ายร่างกายตนเองเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ในด้านลบอย่างหนึ่ง คนที่ทำร้ายตัวเองอาจเป็นเพื่อนนักเรียน เป็นพี่หรือน้องแท้ ๆ ของเรา หรืออาจเป็นตัวคุณเองก็ได้ ในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ก็ประมาณกันว่ามีจำนวนผู้คนหลายล้าน—หลายคนเป็นเยาวชน—เจตนาทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การกรีดหรือเชือดตัวเอง, จุดไฟเผาตัวเอง, ใช้ของมีคมขูดผิวตัวเองจนถลอก หรือแม้แต่การกัดเล็บ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้ากัดจนถึงกับได้เลือด ก็ถือเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างนึงเช่นกัน...

การทำร้ายตัวเองส่วนใหญ่จะไม่ถึงขั้นเสียชีวิต เพราะส่วนใหญ่แล้วความตั้งใจของคนที่ทำร้ายร่างกายตัวเองอาจจะเป็นแค่การระบายอารมณ์ด้านลบของตัวเองออกมา ผ่านการทำร้ายร่างกายตนเอง เพราะคนที่ทำร้ายตัวเองส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง ทว่าการทำเช่นนั้นก็สามารถเป็นอันตรายได้เช่นกัน เพราะการทำร้ายตัวเองสามารถพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆตามความเครียด อารมณ์ และความกดดันของผู้กระทำ จากแค่แผลขีดข่วนจากเล็บมือในตอนแรก อาจพัฒนาไปถึงรอยแผลกรีดจากของมีคมได้

นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะจัดเอาคนที่ทำร้ายตัวเองออกไว้เป็นหมวดเดียว บางคนมาจากครอบครัวที่มีปัญหามากมาย ส่วนคนอื่น ๆ มาจากครอบครัวที่มั่นคง มีความสุข หลายคนเรียนไม่จบ แต่หลายคนเรียนเก่งมาก ไม่ว่าจะเป็นใคร มีรากฐานมาจากไหน ก็สามารถตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายตัวเองได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความคิดที่เป็นคำพูดติดปากอย่าง "ทุกข์ใจกับปัญหาแค่นี้เนี่ยนะ? คนอื่นเขาเจอปัญหาหนักกว่านี้ตั้งเยอะ" เป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เราไม่มีทางรู้ว่าคนอื่นมีภูมิคุ้มกัน สามารถรับมือกับความทุกข์ใจได้ดีแค่ไหน บางคนมีภูมิคุ้มกันน้อยเพราะมาจากครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ก็อาจจะทุกข์ใจกับเรื่องที่คนอื่นอาจมองว่าเล็ก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความทุกข์นั้นจะเป็นเรื่องเล็กสำหรับเขา

บ่อยครั้ง คนที่ทำร้ายตัวเองแทบจะไม่แสดงอาการให้เห็นเลยว่าเขามีปัญหา เพราะผู้ที่ถูกรุมเร้า
ไม่จำเป็นต้องแสดงออกให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองมีความทุกข์เสมอไป อย่างที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ว่า: “Even in laughter the heart may ache, and rejoicing may end in grief." (แม้ในขณะที่แสดงอาการเบิกบานใจก็ยังโศกเศร้า) ส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการจะขอความช่วยเหลือ หรือ เรียกร้องความสนใจ และส่วนมากอาจจะรู้สึกละอายในการกระทำของตัวเองด้วยซ้ำไป ทำให้พวกเขาจะพยายามปกปิด ไม่ให้คนนอกรับรู้ถึงปัญหาความทุกข์ใจที่พวกเขากำลังเผชิญ
นอกจากนั้น ความรุนแรงของการทำร้ายตัวเองย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน ยกตัวอย่าง บางคนกรีดเนื้อตัวเองเพียงปีละครั้ง, ขณะที่บางคนเฉลี่ยแล้วทำวันละสองครั้ง แตกต่างกันไปตามความสามารถในการรับมือกับปัญหาที่อาจมีผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของแต่ละบุคคล บางคนอาจจะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์มากกว่าบางคน...

คนที่ทำร้ายตัวเองจะมีลักษณะบางอย่างคล้าย ๆกันกลุ่มคนที่ทำร้ายตัวเองมักจะรู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจ, รู้สึกลำบากใจที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อผู้อื่น, รู้สึกเดียวดายหรือไม่ได้รับการเหลียวแล, รู้สึกหวาดกลัว, และประเมินค่าตัวเองต่ำ.”
ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ส่วนใหญ่พบได้มากในวัยรุ่น เพราะ เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะต้องผจญกับความกลัวและความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยขณะที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่สำหรับคนที่ทำร้ายตัวเอง ความพยายามดังกล่าวจะมากเป็นพิเศษ การที่ไม่สามารถระบายความรู้สึกเป็นคำพูดและเปิดเผยความในใจแก่คนที่ไว้ใจ จึงทำให้ความกดดันจากที่โรงเรียน, ความกดดันจากเพื่อนและครอบครัว, หรือความไม่ลงรอยกันในบ้านดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส บุคคลผู้นั้นมองไม่เห็นทางออกและคิดว่าไม่มีใครจะพูดคุยด้วย ความรู้สึกตึงเครียดนั้นเกินจะแบกรับได้ ในที่สุด ผู้นั้นก็ค้นพบสิ่งหนึ่งคือการทำร้ายร่างกายตัวเอง ดูเหมือนช่วยบรรเทาความปวดร้าวทางอารมณ์ได้บ้าง และทำให้สามารถสู้ชีวิตต่อไปได้—อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง

ทำไมคนที่ทำร้ายตัวเองจึงหันไปใช้ความเจ็บปวดเพื่อพยายามบรรเทาความปวดร้าวทางอารมณ์? ยกตัวอย่าง ลองนึกถึงตอนที่คุณกำลังรอให้หมอฉีดยาขณะที่กำลังจะเริ่มฉีดยา คุณเคยกำมือแน่นๆ หยิกตัวเองหรือบางทีก็ใช้เล็บจิกผิวหนังจนเป็นรอยไหม เพื่อเบนความสนใจไปจากเข็มฉีดยา? สิ่งที่ผู้ทำร้ายตัวเองทำก็คล้ายกัน ถึงแม้จะมีอันตรายมากกว่าด้วยซ้ำ. สำหรับคนที่ทำร้ายตัวเอง การกรีดเนื้อหรือทำให้ร่างกายตัวเองเกิดการเจ็บปวดไม่ว่าด้วยวิธีไหน
เป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจแบบหนึ่งและเป็นการบรรเทาความปวดร้าวทางอารมณ์. และเมื่อเทียบกันแล้ว ความปวดร้าวใจเป็นสิ่งที่ทรมานมากจนทำให้รู้สึกว่าความเจ็บปวดทางกายยังดีเสียกว่า

สำหรับคนเหล่านั้นที่ไม่คุ้นเคยกับความผิดปกติทางอารมณ์แบบนี้ การทำร้ายร่างกายอาจดูเหมือนจะเป็นการพยายามฆ่าตัวตาย แต่ปกติแล้วไม่ใช่เช่นนั้นโดยทั่วไปแล้ว คนเหล่านี้เพียงแต่กำลังพยายามยุติความเจ็บปวด ไม่ใช่คิดจะปลิดชีวิตตัวเอง การทำร้ายตัวเองอาจจะถือได้ว่าเป็น “วิธีจัดการกับความเครียด.” อย่างหนึ่ง แล้วความเครียดแบบไหนล่ะ?
หลายคนที่ทำร้ายตัวเองเคยประสบความบอบช้ำบางอย่างทางจิตใจ เช่น ถูกปฏิบัติอย่างทารุณในวัยเด็กหรือถูกทอดทิ้ง. สำหรับคนอื่น ๆ อาจมีสาเหตุจากการโต้เถียงภายในครอบครัว หรือจากการที่พ่อหรือแม่เป็นคนติดสุรา. ส่วนบางคนก็อาจมีความผิดปกติทางจิต สาเหตุอาจมาจากปัญหาอื่น ๆ ก็ได้ เช่น การทำร้ายตัวเอง เพื่อเป็นบทลงโทษสำหรับตัวเองที่ "ไม่ดีพอ" หรือ "ไม่มีค่า"

บางคนอาจนึกสงสัยว่าทำไมการกระทำที่น่าตกใจเช่นนี้เพิ่งจะเป็นที่พูดถึงกันมากๆเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
ข้อท้าทายต่าง ๆ ที่เด็กวัยรุ่นต้องเผชิญ—ในบางกรณีรวมถึงประสบการณ์ชีวิตที่น่าสลดใจ—อาจเป็นมูลเหตุนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นอันตราย รวมถึงการทำร้ายตัวเอง เด็กๆที่รู้สึกโดดเดี่ยวและคิดว่าไม่มีใครจะพูดคุยด้วยจึงอาจหาวิธีกรีดเนื้อตัวเองเพื่อพยายามบรรเทาความเจ็บปวดให้ตัวเอง แต่ไม่ว่าการทำร้ายตัวเองอาจดูเหมือนว่าช่วยบรรเทาได้ก็ตาม แต่ก็แค่ชั่วครู่ชั่วยามไม่ช้าก็เร็วปัญหาจะกลับมาอีก และการทำร้ายตัวเองก็ตามมาด้วย โดยทั่วไป คนที่ทำร้ายตัวเองต้องการเลิกนิสัยนี้ แต่ก็พบว่าทำได้ยากมาก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่มีปัญหาในการแสดงออกทางอารมณ์โดยแท้จริง หลายคนอาจจะพูดได้อย่างง่ายๆว่า "ถ้าโมโห แล้วลงกับสิ่งของยังจะดีกว่า" แต่พวกเขาเหล่านั้นอาจจะมีสาเหตุที่ทำแบบนั้นไม่ได้ มันอาจจะไม่ใช่นิสัยของพวกเขาโดยทุนเดิมที่จะทำลายข้าวของ หรือ อาจจะทำไม่ได้เพราะไม่อยากให้คนนอกสังเกตถึงอาการผิดปกติของตัวเอง เช่น เด็กๆอาจจะไม่อยากให้พ่อแม่รับรู้ว่า ทำไมถึงทำลายข้าวของ หรือ อาจจะโดนดุหรือโดนลงโทษด้วยซ้ำถ้าทำแบบนั้น เลยเลือกที่จะทำร้ายตัวเองแล้วปกปิดไว้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม การทำร้ายร่างกายตัวเอง ยังไม่ถือว่าเป็นโรค แต่เป็นอาการของโรคทางจิตวิทยาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า, โรคผิดปกติทางบุคลิกภาพ, Trauma หรือ eating disorder etc.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่