"ให้เรามีสติ รู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง" คือ การปฎิบัติสติปัฎฐาน๔

⊙สำหรับผู้เริ่มต้น⊙

[[[......ตรงที่เรารู้ร่างกายยืนเดินนั่งนอนนี้
เรียกว่า อิริยาบถบรรพ อยู่ในสติปัฏฐาน ๔
(ตรงที่)รู้ร่างกายที่หายใจออก รู้ร่างกายที่หายใจเข้า
อยู่ใน อานาปานสติบรรพ

ฉะนั้น สิ่งที่หลวงพ่อสอนให้พวกเราทำ
อยู่ในสติปัฏฐานนี่เอง
ทำไปเพื่ออะไร
เพื่อความมีสติในเบื้องต้น
เพื่อความมีปัญญาในเบื้องปลาย....

ถ้าร่างกายหายใจแล้วรู้สึก
เรียก อานาปานสติ (อานาปานสติบรรพ)
รู้สึกเรื่อยๆ
หายใจออก รู้สึก
หายใจเข้า รู้สึก
ต่อไป เวลาจังหวะการหายใจเปลี่ยนนะ
สติจะเกิดเอง ไม่ได้เจตนาให้เกิด มันจะเกิดเอง......

...หลวงพ่อจะสอนจนพวกเรามีสติอัตโนมัติเกิดขึ้นเอง
ต่อไปจะมีศีลอัตโนมัติ มีสมาธิอัตโนมัติ มีปัญญาอัตโนมัติ
...

....ฝึกจนอัตโนมัติทั้งหมดเลย
ทำไมต้องฝึกให้เป็นอัตโนมัติ
เพราะเวลาที่อริยมรรคเกิดเนี่ย เกิดอัตโนมัติ
จงใจให้เกิดไม่ได้ เกิดเอง
เกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญา มันอัตโนมัติแล้ว....

...เบื้องต้นต้องฝึกให้มีสติอัตโนมัติ
สติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่นยำ
เพราะฉะนั้น เรามาหัดรู้สภาวะบ่อยๆ
จิตเค้าจะได้จำสภาวะได้แม่น แล้วสติจะเกิดเอง
แล้วศีล สมาธิ ปัญญา จะงอกงามขึ้นมา

(ถ้า)ไม่ถนัดที่จะเริ่มจากกาย ดูจากเวทนาก็ได้
ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ เราคอยรู้สึก
อย่างในใจเรานี้ ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ
มีอยู่สามอย่างเท่านั้นเกิดขึ้นในใจเรา ในกองของเวทนา
เพราะฉะนั้น ใจเรามีความสุขเรารู้
ใจเรามีความทุกข์เรารู้ ค่อยๆ รู้ไปเรื่อย
ต่อไปพอใจเฉยๆ แล้วอยู่ๆ มีความสุขขึ้นมานะ สติเกิดเอง
หรือเราอยู่เฉยๆ นะ แล้วความทุกข์ผุดขึ้นมา
เราจะเห็นความทุกข์มันเกิดขึ้นเอง มันมาอย่างอัตโนมัติ
สติคอยรู้ไปเรื่อย ต่อไปพอมีความสุขเกิดขึ้น
มันรู้โดยไม่เจตนารู้ มีความทุกข์เกิดขึ้น รู้โดยไม่เจตนาจะรู้
นี้เรียกว่า เรามีสติอัตโนมัติขึ้นมา

หรือถ้าไม่ถนัดที่จะดูกาย
ไม่ถนัดที่จะดูความรู้สึกสุขทุกข์
เรามาดูใจของเราที่เป็นกุศล อกุศล ก็ได้...

...ทุกวันนี้พอใจโกรธขึ้นมา หงุดหงิดขึ้นมา คอยรู้ทัน
พอรู้บ่อยๆ จิตจำสภาวะของความหงุดหงิด ของความโกรธได้
พอมันจำได้แม่นแล้ว ต่อไปพอมันหงุดหงิดนิดเดียวนี่นะ
สติระลึกได้เอง ระลึกขึ้นมาเอง คือสติอัตโนมัติก็เกิด

คนไหนขี้โลภ จิตมันโลภขึ้นมาเราก็รู้ จิตมันหายโลภเราก็รู้
ต่อไปชำนาญขึ้นมา จิตจำสภาวะของความโลภได้แม่น
พอจิตโลภปุ๊บ สติเกิดเองเลย รู้ว่าโลภแล้ว

ถ้าจะดูหลง
หลงส่วนใหญ่นั้น หลงคิด
วิธีดูหลงคิดนะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งก่อน
จะพุทโธ จะหายใจ อะไรก็ได้ แล้วคอยรู้ทัน
เคลื่อนไหว ขยับไม้ขยับมือ เดินจงกรม อะไรก็ได้
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันหนีไปคิด
จิตไหลไปคิดแล้วรู้ จิตไหลไปคิดแล้วรู้..


....จิตมีราคะ จิตมีโทสะ ไม่ได้เกิดตลอด
จิตหลงนี่แทบจะตลอด
เดี๋ยวก็ไหล เดี๋ยวก็ไหล เดี๋ยวก็ไหล

เราหายใจไป พุทโธไป จิตหนีไปคิดเราคอยรู้ทัน
ทำอานาปานสติ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก
จิตหนีไปคิดแล้วรู้ อันนี้อยู่ใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตไหลไปคิด คือจิตฟุ้งซ่าน จิตมีโมหะ
ต่อไปพอเราหัดดูบ่อยๆ จิตจำสภาวะที่ไหลไปได้
พอจิตไหลปุ๊บ สติเกิดเอง
สติจะเกิดได้เองถ้าเราหัดดูสภาวะบ่อยๆ

ใจที่มันทรงสมาธิขึ้นมา มันพร้อมที่จะเดินปัญญา ใจที่ทรงสมาธิจะมีความเบา เพราะฉะนั้น ถ้าหนักๆ อยู่ ใช้ไม่ได้นะ
ดูร่างกายก็ได้
ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง
ดูความสุข ความทุกข์ ก็ได้
สุขเกิดก็รู้ ทุกข์เกิดก็รู้ เฉยๆ เกิดก็รู้
ดูจิตที่เป็นกุศล อกุศล ก็ได้
ขี้โกรธก็ดูจิตมันโกรธ จิตโกรธแล้วจิตไม่โกรธ
ขี้โลภก็ดูจิตโลภแล้วไม่โลภ ดูบ่อยๆ
หรือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตที่ไหลไป
ส่วนใหญ่ไหลไปคิด จิตไหลไปคิดแล้วรู้ ไหลไปคิดแล้วรู้
อันนี้อยู่ในจิตตานุปัสสนา (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) นะ

ในสติปัฏฐาน ๔ นั้น ใช้หลักเดียวกันทั้งหมดแหละ
แต่ธัมมานุปัสสนา (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ทำยากนะ เอาไว้ก่อน เอาของง่ายก่อน
แต่สุดท้ายทุกคนเข้าไปธัมมานุปัสสนาได้ทั้งนั้นแหละ
โดยเฉพาะบรรพสุดท้าย สัจจบรรพ รู้อริยสัจขึ้นมา
ถึงจุดหนึ่งทุกคนก็รู้อันนี้ ถ้าไม่รู้อันนี้จะเกิดอีก
ถ้ารู้แล้วไม่เกิดอีก.....]]]

***จาก ..หลักปฎิบัติสำหรับผู้เริ่มต้น   
          หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช***
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่