มาทำความเข้าใจคำว่า "ละกิเลส" กับ "ดับกิเลส"

กระทู้นี้ เกิดจากจากมีสมาชิกท่านหนึ่ง เกิดข้อสงสัยในคำพูดหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชโช ที่บอกว่า "ห้ามไปดับกิเลสนะ เราไม่มีหน้าที่ดับกิเลส เรามีหน้าที่รู้ทันกิเลส กิเลสจะดับของมันเอง"

สมาชิกท่านนั้นสงสัยว่า พระพุทธเจ้าสอนให้ "ละกิเลส" แล้วทำไมหลวงพ่อปราโมทย์บอกว่า "ห้ามไปดับกิเลส" แสดงว่า "ละกิเลส" กับ "ดับกิเลส" ไม่เหมือนกันอย่างนั้นหรือ?

คำตอบก็คือ ถูกต้องครับ คำว่า "ละกิเลส" กับคำว่า "ดับกิเลส" ไม่เหมือนกัน

หากดูจากพจนานุกรม คำว่า "ละ" เป็นคำกริยา แปลว่า ทิ้ง, วาง, ปล่อย, เว้น ฯลฯ

ส่วนคำว่า "ดับ" ก็เป็นคำกริยาเช่นกัน แปลว่า สูญ, หาย, ระงับ, หมดไป, สิ้นไป ฯลฯ

หากดูผ่านๆ 2 คำนี้ก็ดูใกล้เคียงกัน และน่าจะใช้แทนกันได้ แต่ในทางพระพุทธศาสนา เราจะใช้แทนกันเล่นๆ คงไม่ได้

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ขอเริ่มต้นจากคำว่า "ละกิเลส" ก่อน

การ "ละกิเลส" หรือ "ละอกุศลธรรม" เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นหนึ่งในมรรคมีองค์แปด คือ สัมมาวายามะ ประกอบด้วย

1. เพียรมิให้อกุศลธรรมบังเกิดขึ้น
2. เพียรละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว
3. เพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น
4. เพียรให้กุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่งขึ้น

แล้วอย่างไรเรียกว่าการละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว?

ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุม เราตั้งใจว่าจะไม่ให้มีการทะเลาะกันเกิดขึ้น ไม่ให้มีความโกรธเกิดขึ้น (มิให้อกุศลธรรมบังเกิดขึ้น)

แต่สมมุติว่าคุยไปคุยมา เกิดลืมตัว ขาดสติ มีการทะเลาะกัน มีการโต้เถียงกัน มีความโกรธเกิดขึ้น

เมื่อใดที่เรามีสติ รู้ตัว ก็ให้ละอกุศลธรรม (ละกิเลส) ที่เกิดขึ้นแล้วนั้น อาจจะด้วยการหยุดการทะเลาะ หยุดโต้เถียง ไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นอีก

ตอนนี้ แม้ว่าจะไม่มีการทะเลาะกัน ไม่มีการโต้เถียง ไม่มีความโกรธ(ใหม่)เกิดขึ้น แต่ความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังค้างอยู่ (ตั้งอยู่) แต่สักพักมันก็จะดับไปเองตามกฎไตรลักษณ์

ซึ่งการ "ดับไป" ของความโกรธนี้ ไม่มีใครสามารถดับมันได้ ต่อให้เป็นพระอรหันต์ก็ตาม มันดับของมันเอง

และนั่นก็คือสิ่งที่หลวงพ่อปราโมทย์บอกไว้คือ "ห้ามไปดับกิเลสนะ เราไม่มีหน้าที่ดับกิเลส เรามีหน้าที่รู้ทันกิเลส กิเลสจะดับของมันเอง"

บางท่านอาจจะสงสัยว่า พระอรหันต์ดับกิเลสไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

ถูกต้องครับ แต่ที่จริงแล้ว พระอรหันต์ท่านไม่ต้องดับกิเลส เพราะท่านมีสติรู้ตัวตลอดเวลา กิเลสจึงไม่เกิดขึ้นกับท่านนั่นเอง

เมื่อไม่มีกิเลสเกิดขึ้น ก็ไม่มีกิเลสให้ดับ

(มีคนเคยถามหลวงปู่ดูลย์ว่า "ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม?" หลวงปู่ดูลย์ตอบว่า "มี แต่ไม่เอา")

ที่จริง ไม่ใช่หน้าที่ผมที่จะมาอธิบายเรื่องนี้ เพราะความรู้น้อยนิดเมื่อเทียบกับครูบาอาจารย์ แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางเพื่อทำความเข้าใจ

ผมหวังว่าต่อไปเราจะแยกแยะคำว่า "ละกิเลส" กับ "ดับกิเลส" กันได้อย่างถูกต้องนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่