ิเห็นด้วยกับวิธีแก้ปัญหาคนรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 30,000 บาท/ปี โดยการแจกเงินของคุณสมคิด ไหมครับ ?

ไม่ได้จะอะไรนะ แต่หลายนโยบายของรัฐบาลนี้เน้นแจกเงินเข้ากระเป๋าคนดื้อๆหลายทีละ  นี้ถ้าแจกคนรายได้ต่ำกว่า 30,000 4 ล้านคน เพื่อแก้ปัญหาอีกนี่
ผมว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่สูงสุดคืนสู่สามัญมาก เอ้าไม่มีเงิน แจกเงินเข้ากระเป๋าซิ จบ แค่นี้ก็แก้ปัญหาคนรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนได้แล้ว หรือ คิดว่ามีเหตุผลอื่นที่ล้ำลึกสุดหยั่งกว่านี้ซ่อนอยู่ไหม ?  ( ไม่นับหวังผลคะแนนเสียงทางการเมืองหลังปล่อยให้เลือกตั้ง)

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/753145

"สมคิด" สั่งคลังเร่งหาแผนช่วยคนจน เล็งแจกเงินกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี คาดยอดลงทะเบียนคนจนปีนี้อยู่ที่ 14-15 ล้านคน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้แก่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และเอสเอ็มอีแบงก์ ว่า จากการติดตามความคืบหน้าการเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการของรัฐนั้น ขณะนี้มีประชาชนลงทะเบียนประมาณ 10 ล้านราย และคาดว่าในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันลงทะเบียนวันสุดท้ายจะมีประชาชนลงทะเบียนทั้งสิ้น 14-15 ล้านราย

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ จะตรวจสอบความถูกต้องและแบ่งแยก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งถือว่ารายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และกลุ่มที่ไม่รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพื่อให้สวัสดิการที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สศค.เร่งหามาตรการเพื่อดูแลผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ที่จะต้องเน้นให้เพิ่มรายได้มากขึ้น และแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนกลุ่มดังกล่าว เช่น การให้เงินโดยตรง ซึ่งให้ไปหาวิธีในการดำเนินงานว่าจะออกมาเป็นลักษณะใด ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีนั้น จะเน้นการลดค่าใช้จ่าย แบ่งเบาภาระ และให้มีรายได้พิเศษเพิ่มเติมด้วย

"นอกจากในเรื่องของรายได้แล้ว เรายังจะต้องดูในเรื่องของสวัสดิการที่จะให้ระหว่างคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัด ก็มีความแตกต่างกันด้วย เพราะคนต่างจังหวัดไม่ได้มีรถเมล์ฟรี ไม่มีรถไฟฟรี เป็นต้น ก็ต้องไปดูว่าจะช่วยเหลือในด้านใดบ้าง เพื่อแบ่งเบาภาระ โดยมีจุดประสงค์ คือ ให้คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้น"นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน ร่วมตั้งเป็นคณะทำงานพิเศษ เพื่อหามาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้พิเศษ หลุดพ้นจากเส้นความยากจน ให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะมีส่วนช่วยได้อย่างไรบ้าง โดยจะมีการหารือ และประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าเป็นประจำทุกเดือนด้วย เพื่อให้ในอนาคตประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และคนมาลงทะเบียนคนจนน้อยลง

"เรื่องการให้เงินคนที่อยู่ในกลุ่มต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ 30,000 บาทต่อปีนั้น เชื่อว่ามันมีวิธีการของมันที่จะทำ คงไม่ได้เป็นปัญหา เพราะคนกลุ่มนี้คงไม่ไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอยู่แล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังว่าจะทำอย่างไร จะแจกยังไง" นายสมคิด กล่าว

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปัจจุบันมีประชาชนทั้งสิ้น 4 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งในการลงทะเบียนนั้นจะมีประชาชนในกลุ่มดังกล่าวเท่าไหร่นั้นจะต้องรอสรุปอีกครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางในการจ่ายเงินให้กับกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะได้ข้อสรุปมาตรการในการให้กับผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ ก่อนแจกบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ในการใช้งบประมาณนั้น คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราเท่ากับการอุดหนุนงบประมาณสวัสดิการในปัจจุบัน โดยภายใน 1-2 สัปดาห์นี้สำนักงบประมาณจะสรุปงบประมาณปี 2561 ที่จะใช้ในโครงการดังกล่าวอีกครั้ง

"ในส่วนของการให้สวัสดิการและการแจกเงินนั้น ทุกอย่างจะเข้าไปอยู่ในบัตรทั้งหมด เช่น ค่าเดินทาง หรือ ค่าใช้จ่ายต่างๆจะไม่ได้ให้เป็นก้อนทั้งหมด แต่จะเป็นการเติมให้ใช้เป็นรายเดือน ซึ่งหากใช้ครบตามที่ได้ให้ไว้จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเอง ซึ่งปัจจุบันสำนักงบประมาณก็ยังไม่ได้สรุปตัวเลขมาก ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยในปีงบประมาณ 2561 ตั้งเป้าขาดดุลงบ 4.5 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่ 3.9 แสนล้านบาท" นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยนั้น หากจะดำเนินการช่วยเหลือจะต้องสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น และต้นทุนการผลิตลดน้อยลงด้วย และยืนยันว่า จะไม่ใช้นโยบายจำนำข้าว เพื่อดูแลภาคเกษตรเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังมีปัญหาในการดำเนินโครงการจำนวนมาก จุดรั่วไหล การทุจริต เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่