"หลีกเร้นจากความคิดร้ายๆ มาทำใจให้สบาย และแผ่เมตตา" ศาสตร์ใหม่โลกตะวันตก แต่มีมาแล้วนับพันปีในโลกตะวันออก

การแผ่เมตตา หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Loving Kindness Meditation” หรือ “Compassion Meditation” ถือเป็นดาวดวงใหม่ของศาสตร์สมาธิสำหรับชาวตะวันตก ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าการเจริญสติ (Mindfulness Meditation)  แต่ก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ


การแผ่เมตตามุ่งให้เกิดความรู้สึกเมตตา เห็นอกเห็นใจแบบเข้าใจ ทั้งต่อคนที่เรารักและคนที่ยากจะเข้าใจ

การแผ่เมตตา เป็นมากกว่า การปฏิบัติที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี...เพราะการแผ่เมตตาทำให้ มีการพัฒนาด้านอารมณ์   มีความเสียสละมากขึ้น  โกรธน้อยลง ความเครียดและความฟุ้งซ่านลดลง

ข้อมูลงานวิจัยนานาชาติเรื่องการแผ่เมตตา

1. งานวิจัยจาก VA Puget Sound Health Care System ในซีแอทเทิล เมื่อพ.ศ.2556 พบว่า การแผ่เมตตาเป็นเวลา12สัปดาห์ช่วยลดความเครียดที่เกิดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรงหรือโรคPTSD ของทหารผ่านศึก

2. งานวิจัยจาก ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก เมื่อพ.ศ.2548 พบว่า การแผ่เมตตาเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยลดความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานทางจิตใจในผู้ป่วยที่ปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง

3. งานวิจัยจากบราซิล เมื่อพ.ศ.2558 พบว่า การฝึกโยคะควบคู่ไปกับการแผ่เมตตา3ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 8สัปดาห์ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ความมีชีวิตชีวา การใส่ใจดูแลและความเมตตาตนเองในญาติที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

4. งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน  เมื่อพ.ศ.2551พบว่า การแผ่เมตตาอาจช่วยจัดระบบไฟฟ้าในสมอง โดยมีการสแกนสมองด้วยวิธีMRI พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของวงจรสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึก รวมถึงความเห็นอกเห็นใจ ในคนที่ฝึกแผ่เมตตามามาก



สเตฟาน จี ฮอฟแมน
ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยบอสตัน

สเตฟาน จี ฮอฟแมน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ใจและสมองแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน อธิบายว่า “ความเมตตาเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในพุทธปรัชญาซึ่งสอนเราอย่างมากว่าผู้คนมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรและอะไรคือวัตถุประสงค์ในการเกิดมาของเรา ความเมตตาเป็นแนวคิดพื้นฐานของรากพุทธปรัชญา ..หากชีวิตเป็นทุกข์และเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราจำเป็นต้องยอมรับมันและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่มีความทุกข์เช่นกัน สิ่งนี้จะทำให้เราใกล้ชิดกับผู้อื่นมากขึ้น”  

ฮอฟแมนระบุว่า การแผ่เมตตานั้นค่อนข้างแตกต่างจากการทำสมาธิแบบอื่น การเจริญสติส่งเสริมให้คนจดจ่อกับลมหายใจเพื่อพัฒนาความรู้ตัวในปัจจุบันขณะ และปล่อยความคิดให้ผ่านไปโดยไม่ตัดสินหรือปรุงแต่ง

แต่การแผ่เมตตานั้น ให้คนใส่ใจกับบางอย่าง มากกว่าปล่อยใจให้ล่องลอยไป อาจเป็นการภาวนาคำที่สื่อถึงความรักความเมตตาเพื่อปรับอารมณ์จากการตัดสินผู้อื่นหรือความไม่ชอบใจ ให้กลายเป็นความรักความห่วงใย ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจผู้อื่น

ฮอฟแมนแนะนำว่า การทำเช่นนี้ คุณจะต้องนั่งเงียบๆ หายใจอย่างนุ่มนวล และภาวนาถ้อยคำที่สร้างความรู้สึกที่ปรารถนาดี เช่น “ ขอให้ ..(ระบุชื่อ).. พ้นจากความทุกข์กายทุกข์ใจด้วยเทอญ”


ดร .ชาร์ล ไรสัน จิตแพทย์และศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน
จิตแพทย์และศาสตราจารย์จากคณะมนุษยนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน  แนะนำว่า การนั่งสมาธิเจริญสตินั้นต้องทำมาก่อนการแผ่เมตตา ใจต้องนิ่ง มั่นคง จึงจะเกิดประโยชน์จากการทำวิธีอื่นต่อไป... นึกถึงคนที่เป็นทุกข์ นึกเห็นอกเห็นใจ เข้าใจเขา เพื่อสร้างและส่งความเมตตาไปถึงคนนั้น

เหตุผลที่ซ่อนอยู่คือ “ สัตวโลกล้วนอยู่บนเรือลำเดียวกัน เราทั้งหมดล้วนอยากมีความสุข  เป้าหมายภาพใหญ่ของการแผ่เมตตาคือพัฒนาความรู้สึกที่ลึกซึ้งของความเป็นญาติและความเกี่ยวเนื่องกับคนนั้น”

และไรสันกล่าวว่า  จะช่วยได้ดีหากเริ่มกับคนที่คุณชอบ แล้วค่อยแผ่เมตตาให้คนที่คุณมีความคับข้องใจ

ส่วนการแผ่เมตตาให้ตนเอง เป้าหมายคือ บ่มเพาะ ปลูกฝัง พัฒนา ความเมตตา ความเข้าใจและเห็นใจตนเอง เพื่อเตือนความทรงจำว่าอารมณ์และความคิดในทางลบนั้นเป็นอันตรายต่อคุณ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมาแล้วเกือบ 3 พันปี ยังใช้ได้ดีในปัจจุบัน จึงพูดได้ว่า ธรรมะของท่านนั้นเป็นอกาลิโก คืออยู่เหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่