ผลศึกษาพบสายรัด 《สมาร์ทวอตช์》 มี 《สารเคมีตลอดกาล》 ผสมอยู่มาก อาจส่งผลต่อสุขภาพ

เครดิต :
https://www.dailynews.co.th/news/4204896/

ผลของการศึกษาวิจัยซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology Letters ของสมาคมเคมีอเมริกันชี้ว่า สมาร์ทวอตช์สวมข้อมือที่ใช้เพื่อเก็บข้อมูลการออกกำลังกายบางประเภทอาจทำให้ผิวหนังต้องสัมผัสกับสารประกอบเพอร์ฟลูออโรอัลคิลและโพลีฟลูออโรอัลคิล (PFAS) หรือ “สารเคมีตลอดกาล” (สารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ในการผลิตเครื่องใช้หลายชนิดเพราะมีความทนทานสูง สลายตัวช้า จึงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์)

ในความเป็นจริง อุปกรณ์และสายรัดข้อมือที่มีราคาแพงบางยี่ห้อผลิตจากวัสดุที่เป็นยางสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของฟลูออรีน อาจมีสารเคมีตลอดกาลชนิดหนึ่งที่เรียกว่ากรดเพอร์ฟลูออโรเฮกซาโนอิก (PFHxA) ในปริมาณสูงเป็นพิเศษ
แกรห์ม พีสลี หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้และศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยโนเทรอดามกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อโฆษณาอย่างเปิดเผยว่าใช้สายคาดหรือสายรัดข้อมือที่ทำด้วยยางสังเคราะห์ ‘ฟลูออโรอีลาสโตเมอร์’ (Fluoroelastomer) ซึ่งเป็นสาร PFAS ชนิดหนึ่ง

ในการศึกษาวิจัยนี้ ทีมวิจัยได้คัดกรองสายรัดข้อมือ 22 เส้นจากแบรนด์ต่างๆ ที่จำหน่ายในราคาที่หลากหลาย โดยบางเส้นเป็นของใหม่ บางเส้นเป็นของที่เคยใช้มาก่อน พวกเขาพบว่า สายรัดข้อมือทั้ง 13 เส้นที่โฆษณาว่าทำจากยางฟลูออโรอีลาสโตเมอร์ล้วนมีฟลูออรีน ซึ่งบ่งชี้ว่ามีสาร PFAS ผสมอยู่ นอกจากนี้ยังมีสายรัดข้อมือ 2 เส้นจากทั้งหมด 9 เส้นที่ไม่ได้โฆษณาว่าทำจากยางฟลูออโรอีลาสโตเมอร์ แต่ก็ยังมีสารฟลูออรีนอยู่ด้วย

นักวิจัยยังค้นพบอีกว่าสายรัดข้อมือที่มีราคาสูงกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,038 บาท) มักจะมีฟลูออรีนมากกว่าสายรัดข้อมือที่มีราคาต่ำกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 518 บาท) 

นักวิจัยยังนำสายรัดข้อมืออุปกรณ์เหล่านี้ไปตรวจหาสารเคมีตลอดกาลอีก 20 ชนิด และพบกรด PFHxA มากที่สุด โดยปรากฏอยู่ในสายรัด 9 เส้นจาก 22 เส้น มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PFHxA อยู่ที่เกือบ 800 ส่วนต่อพันล้านส่วน (ppb) แต่มีตัวอย่างหนึ่งที่มีความเข้มข้นมากกว่า 16,000 ppb (ทีมวิจัยยังได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องสำอางในปี 2021 เพื่อเปรียบเทียบกันและพบว่า เครื่องสำอางในการวิจัยมีอัตราความเข้มข้นของ PFAS โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200 ppb)

ปัญหาก็คือกรด PFHxA เป็นสารเคมีตลอดกาลชนิดหนึ่ง ซึ่งสะสมในร่างกายได้ พีสลีตั้งข้อสังเกตว่ากรด PFHxA จะสะสมอยู่ในเลือด โดยอ้างผลการศึกษาล่าสุดในสวีเดนที่รายงานว่า กรด PFHxA เป็นสาร PFAS ที่พบมากเป็นอันดับสามในเลือดของเรา

เจมี่ อลัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท กล่าวว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่า กรด PFHxA สามารถส่งผลกระทบต่อตับ เลือด ต่อมไร้ท่อและพัฒนาการของร่างกาย 

ขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัดว่า การที่มีสารเคมีตลอดกาลผสมอยู่ในวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เป็นประจำทุกวันเช่นนี้ จะส่งผลอย่างไรบ้างต่อร่างกาย ผศ. อลันชี้ว่า การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้ทดลองว่า ผิวหนังของคนสามารถดูดซับกรด PFHxA ได้มากน้อยเพียงใด หรืออาจจะไม่มีการดูดซับเลยก็ได้

ด้าน ดร. เคลลี จอห์นสัน-อาร์เบอร์ นักพิษวิทยาแห่งเมดสตาร์เฮลท์ แสดงความเห็นว่า “เนื่องจากผิวหนังที่มีสภาพดีจะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันสารพิษหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่คนจะดูดซับกรด PFHxA หรือสารเคมี PFAS อื่นๆ ผ่านผิวหนังได้ในปริมาณมาก” 

ดร. ไอฟ์ ร็อดนีย์ แพทย์ผิวหนังและผู้อำนวยการก่อตั้งอีเทอร์นัล เดอร์มาโทโลจี + เอสเททิคส์ ก็เห็นด้วยกับความคิดนี้ เธอกล่าวว่า “แม้ว่าสารเหล่านี้จะแนบอยู่กับผิวหนังของคุณโดยตรง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามันจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังได้” นอกจากนี้ยังเสริมว่า เธอ “ไม่แน่ใจ” ว่าจะมีสาร PFAS ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากพอที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่ย้ำว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแถบเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย “สาร PFAS ประเภทสายสั้นที่สะสมบนผิวหนังเป็นจำนวนมาก สามารถเคลื่อนเข้าไปในชั้นหนังแท้ได้ และบางส่วนจะเข้าสู่กระแสเลือดหลังจากผ่านผิวหนังของเรา” พีสลีย์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาการสัมผัสสารเหล่านี้ในมนุษย์ แต่เป็นไปได้ที่สายรัดข้อมือเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งสัมผัสสารเคมีพิษนี้ได้ หากผลิตขึ้นจากวัสดุโพลีเมอร์ที่มีสาร PFAS 

พีสลีย์ชี้ทางออกว่า ถ้ากังวลเรื่องสารตกค้าง ให้เลือกใช้สายรัดข้อมือที่ระบุว่าไม่ได้ผลิตจากวัสดุที่มีฟลูออรีนผสมอยู่ หรือเลือกใช้สายรัดข้อมือที่ทำจากซิลิโคนซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก

ผศ. อลันกล่าวว่า แม้คุณมีสมาร์ทวอตช์หรืออุปกรณ์พร้อมสายรัดข้อมือเพื่อติดตามกิจกรรมและการออกกำลังกายที่ทำจากยางฟลูออโรอีลาสโตเมอร์ ก็ยังไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก 

“แต่การตระหนักถึงความเสี่ยงจากการสะสมก็เป็นเรื่องดี” เธอกล่าว “หากสายรัดของคุณเริ่มเสื่อมสภาพหรือคุณพร้อมที่จะเปลี่ยนลุคใหม่ ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ตัวเลือกที่ปราศจากสาร PFAS ได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่