สามก๊กภาคปลาย
..ผู้ทำลายวงศ์ตระกูล
“เล่าเซี่ยงชุน”
เมื่อขุนนางจัดการศพพระเจ้าซุนฮิวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ปรึกษากันจะยก ซุนเปียน พระราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากบิดาตามประเพณี แต่ขุนนางผู้ใหญ่สองคนเห็นว่าซุนเปียนนั้นสติปัญญาน้อย ยังเยาว์แก่ความนัก เห็นจะว่าราชการไปได้ไม่ตลอด ขอให้เอา ซุนโฮ บุตรของพระเจ้าซุนเหลียง หลานปู่ของพระเจ้าซุนกวนมาสืบราชสมบัติแทนจะดีกว่า ด้วยมีสติปัญญาหลักแหลมเห็นจะปกป้องอาณาประชาราษฎรได้ เหล่าขุนนางทั้งหลายก็เห็นชอบกับขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสองนั้น จึงให้จัดการพระราชพิธีอภิเษกซุยโฮขึ้นเป็นฮ่องเต้ เมื่อวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนเก้า และตั้งให้ซุนเปียนเป็น เจ้าเจี๋ยงอ๋อง
พระเจ้าซุนโฮซึ่งพระราชบิดาถูกเนรเทศไปตั้งนานแล้ว แต่ตนเองกลับมาได้เนฮ่องเต้อีกโดยไม่นึกไม่ฝันนั้น ก็มิได้เอาใจใส่ต่อกิจการบ้านเมืองทั้งปวง เหมือนอย่างที่ขุนนางทั้งหลายได้ตั้งความหวังไว้ มัวแต่หลงระเริงไปกับความสุขสบาย เสพสุราเป็นนิจ ขุนนางผู้ใดเห็นว่าทำผิด เข้าไปทูลทัดทานห้ามปราม ก็ให้เอาตัวไปฆ่าเสีย จนไม่มีผู้ใดกล้าที่จะยุ่งด้วยอีก ฮ่องเต้ก็เลยได้ใจเกณฑ์ทแกล้วทหาร ไพร่พล และอาณาประชาราษฎร ไปตัดไม้มาสร้างวังขึ้นใหม่ ที่ตำบลบู๊เฉียง ต่างก็ได้รับความลำบากเป็นอันมาก
ครั้งสร้างเสร็จแล้วแทนที่จะอยู่ให้สุขสบาย ก็กลับคิดจะยกทัพไปตีไต้จิ้นของพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ที่ปรึกษาก็พากันห้ามปรามว่า เมื่อพระเจ้าซุนฮิวยังอยู่ก็มิได้คิดจะยกไป เพียงแต่ให้ตั้งด่านอยู่ตามริมชายทะเล เป็นการป้องกันเมืองกังตั๋งเท่านั้น สมควรจะได้รักษาเมืองไว้ให้มั่นคง ถ้ามิเชื่อฟังขืนยกไปบัดนี้ ก็เหมือนเอาฝอยไปทุ่มเข้ากองเพลิงสัยเปล่า ๆ พระเจ้าซุนโฮก็โกรธ ให้ขับที่ปรึกษาออกไปจากกที่เฝ้าเสีย จากนั้นจึงให้ ลกข้อง บุตรของลกซุนแม่ทัพใหญ่เมืองกังตั๋งที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว เตรียมยกกองทัพจากเมืองเกงจิ๋ว ไปตีเมืองซงหยงเป็นอันดับแรก
เมื่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยนรู้ข่าว ก็ให้ เอียวเก๋า เจ้าเมืองซงหยงเตรียมทหารรักษาบ้านเมืองไว้ให้มั่นคง ถ้าได้โอกาสเมื่อไร ก็จะยกทัพใหญ่ไปช่วยตีโต้กลับเอาเมืองกังตั๋งให้ได้ เอียวเก๋านั้นเกรงฝีมือ ลกข้องจึงตั้งมั่นรออยู่
ฝ่ายพระเจ้าซุนโฮก็เร่งให้ลกข้อง ยกทหารไปตีข้าศึกให้ได้ ลกข้องก็แจ้งว่าอย่าวิตกเลย ถ้าได้ช่องเมื่อไรก็จะยกทหารไปตีข้าศึก เอาชัยชนะให้ได้ ขอให้ไว้ใจเถิด แต่พระเจ้าวุนโฮใจร้อนไม่ยอมฟังเสียงจึงให้ถอดลกข้องออกจากตำแหน่ง เอียวเก๋าจึงแจ้งให้พระเจ้าสุมาเอี๋ยน รีบยกกองทัพมาตีเอาเมืองกังตั๋งได้แล้ว เพราะพระเจ้าซุนโฮพระพฤติผิดขนบธรรมเนียมแต่ก่อน มากขึ้นทุกที ราษฎรทั้งหลายทั้งปวงก็มีความชิงชังเป็นอันมาก แต่พระเจ้าสุมาเอี๋ยนกลับไปเชื่อขุนนางในเมืองหลวง ไม่ยอมยกกองทัพมา เอียวเก๋าก็ได้แต่ทอดใจใหญ่ว่าเมืองกังตั๋งนี้ เสียไปแล้วเก้าส่วน ยังแต่ส่วนเดียวก็จะได้โดยง่าย คิดเสียดายนักมิรู้แล้ว เลยตรอมใจป่วยตายลง ในปลายปีนั้นเอง
พระเจ้าสุมาเอี๋ยนจึงตั้งให้ ตังอี้ มาเป็นนายทหารรักาเมืองซงหยงแทน ครั้นได้ข่าวว่าพระเจ้าซุนโฮประพฤติตนฟั่นเฟือน เสพสุราเป็นนิจ มีขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยกราบทูลห้ามปราม ก็ตัดปากตัดจมูกเสีย ทั้งไพร่ฟ้าประชาราษฎรก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก จึงมีหนังสือขออนุญาตพระเจ้าสุมาเอี๋ยน จะยกไปตีเมืองกังตั๋ง พระเจ้าสุมาเอี๋ยนก็มีรับสั่งให้เตาอี้คุมทหารสิบหมื่น เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองกังเหลง และให้นายทหารอีกห้านาย คุมทหารกองละห้าหมื่น แยกเข้าตีเมืองกังตั๋งอีกห้าทาง รวมเป็นหกทัพ กำลังพลสามสิบห้าหมื่น และให้ขึ้นอยู้ในบังคับบัญชาของเตาอี้ทั้งสิ้น แม่ทัพใหญ่จึงสั่งให้ องโยย กับ ตงปิน คุมเรือสำหรับบรรทุกทหารทั้งปวงข้ามทะเลไปตีเมืองกังตั๋ง
พระเจ้าซุนโฮได้รู้ข่าวจากม้าใช้ ก็เรียกประชุมที่ปรึกษาทั้งปวง เตรียมรับศึกใหญ่ เตียวเต้า เสนอให้ยกกองทัพไปตั้งรับ ทางเมืองกังเหลงกองหนึ่ง ทางเมืองแฮเค้ากองหนึ่ง ส่วนตนเองกับ สิมเอ๋ง และ จูกัดเจง จะคุมทหารอีกสิบหมื่นไปตั้งรับที่ตำบลเอียวจู๊ พระเจ้าซุนโฮก็เห็นชอบด้วย พอกลับเข้าไปข้างใน ขันทีคนสนิทก็ทูลถามข่าวการศึก พระเจ้าซุนโฮก็รับสั่งว่า ทางบกนี้เราเกณฑ์กองทหารไปสกัดอยู่ทุกตำบลแล้ว วิตกอยู่แต่ทางเรือ ยังหาผู้ใดออกไปต้านทานมิได้ ขันทีจึงเสนอความคิดบ้างว่า ให้เอาเหล็กมาตีเป็นสายโซ่สักห้าร้อยสาย ยาวสายละสิบห้าวา ขึงกั้นแม่น้ำเมืองกังตั๋ง และปักขวากเหล็กไว้ใต้น้ำนอกสายโซ่ออกไป เพื่อดักเรือของข้าศึกที่บรรทุกทหารเข้ามาตามแม่น้ำ ถ้าเรือโดนขวากทะลุ ทหารข้าศึกก็จมน้ำตายเอง แม้ว่าจะเป็นเพียงความคิดของขันที พระเจ้าซุนโฮก็เห็นด้วย จึงสั่งให้จัดแจงตามนั้น ทุกหัวเลี้ยวของแม่น้ำ
ฝ่ายเตาอี้แม่ทัพใหญ่ของไต้จิ้น เมื่อคุมพลไปถึงตำบลเขาปาสัน ในตอนกลางคืน ก็ซุ่มกองทัพไว้ พอรุ่งเช้าฝ่ายง่อก๊กจากเมืองกังตั๋ง ก็ยกทหารทั้งทางบกและทางเรือ เข้าโจมตีกองทัพของเตาอี้เป็นสามารถ จนถึงเที่ยงทหารล้มตายลงไปเป็นอันมาก และเมื่อมีทหารน้อยกว่า ก็อิดโรยระส่ำระสาย นายทัพก็ตายในที่รบ ลงท้ายก็แตกยับเยิน เตาอี้ได้ทีก็ตีตะลุยหัวเมืองรายทางเรื่อยมา จนถึงเมืองกังตั๋งอย่างรวดเร็ว
ทางกองทัพเรือขององโยย ก็ใช้ทหารสอดแนมเข้าไปตามแม่น้ำ จนเจอขวากเหล็กกับสายโซ่ขวางลำน้ำอยู่ จึงให้ตัดไม้มาทำแพเป็นอันมาก เอาดินถมหลังแพและตั้งเตาสูบไว้บนมูลดินนั้น แล้วใช้ใบลอยเรื่อยเข้าไปในแม่น้ำ นำหน้ากองเรือบรรทุกทหาร พอแพติดขวากคลื่นซัดแพโคลงเคลง ขวากก็หลุดจากพื้นดินใต้น้ำ แพก็ลอยเลื่อนต่อไปถึงสายโซ่ เตาเพลิงบนหลังแพก็เผาสายโซ่จนแดง ทหารก็เข้าไปตัดโซ่นั้นขาดจนหมด เรือรบก็แล่นเลยเข้าไปจนถึงตัวเมืองกังตั๋ง
สิมเอ๋ง จูกัดเจง และ เตียวเค้า คุมทหารเข้าต่อสู้ป้องกันเมือง ก็พ่ายแพ้แก่ข้าศึก ถึงแก่ความตายทั้งสามคน เตาอี้แม่ทัพบกและองโยยแม่ทัพเรือของไต้จิ้น ก็ยกทหารขึ้นบกล้อมเมืองกังตั๋งไว้
พระเจ้าซุนโฮทอดพระเนตรจากกำแพงเมือง เห็นทหารเมืองกังตั๋งที่พ่ายแพ้หนีไปมิได้ต่อสู้ ก็สลดพระทัย ชักกระบี่ออกจะเชือดคอตายเสีย ขุนนางทั้งปวงก็ยึดกระบี่ไว้ แล้วทูลว่า
“.....พระองค์ประหารชีวิตเสียนั้น หาประโยชน์มิได้ เป็นสำหรับประเพณีแผ่นดินแล้ว ขอให้พระองค์นบนอบ เหมือนพระเจ้าเล่าเสี้ยน ตามธรรมเนียมเถิด.....”
พระเจ้าซุนโฮก็เห็นชอบด้วย จึงให้เปิดประตูเมืองทั้งสี่ด้าน แล้วพาขุนนางทั้งหลายออกไปคำนับข้าศึก พร้อมกับมอบบัญชีพลเมือง และทรัพย์สินในท้องพระคลังให้แต่โดยดี เตาอี้จึงอยู่ว่าราชการ ณ เมืองกังตั๋ง แล้วให้พาพระเจ้าซุนโฮกับขุนนางทั้งปวง ไปเฝ้าพระเจ้าสุมาเอี๋ยนที่เมืองหลวง
พระเจ้าสุมาเอี๋ยนทอดพระเนตร เห็นพระเจ้าซุนโฮเข้ามาคำนับแล้วซบพระพักตร์อยู่ ก็ตรัสสัพยอกว่า
“.........ที่อันนี้เราแต่งไว้คอยต้อนรับท่าน ก็นานมาแล้ว.....”
พระเจ้าซุนโฮ ก็ทูลสนองตอบว่า
“......ข้าพเจ้าอยู่ที่เมืองกังตั๋งนั้น ก็ได้แต่งที่ไว้คำนับพระองค์เหมือนอย่างนี้ มาช้านานหลายปีแล้วเหมือนกัน.........”
แล้วทั้งสองฮ่องเต้ก็ถ้อยทีถ้อยสัพยอกกัน แล้วก็ทรงพระสรวลชื่นชมยินดี และแต่งโต๊ะมาเลี้ยงดูกันตามประเพณี ราวกับไม่เคยได้เป็นข้าศึกศัตรูกันมาแต่ก่อนเลย
ขณะเมื่อเสพสุราอยู่ กาอุ้น ขุนนางของพระเจ้าสุมาเอี๋ยน คงจะตึงหน้าเข้าไปแล้ว จึงทูลถามพระเจ้าซุนโฮว่า
“........เมื่อท่านอยู่ที่เมืองกังตั๋งนั้น ได้ยินเขาลือกันว่า ท่านตัดจมูกตัดปากควักลูกตาขุนนางเสีย ด้วยเหตุอันใด.......”
พระเจ้าซุนโฮเห็นว่า แม้จะยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยน แต่ไม่ควรที่ขุนนางจะมาอาจเอื้อมว่ากล่าว จึงตวาดเอาว่า
“.......ตัวเราเป็นเจ้า ขุนนางทั้งปวงมิได้ตั้งอยู่ในบังคับบัญชา ทำละเมิดจากขนบธรรมเนียม เราจึงทำโทษ เหตไรท่านมาถามฉะนี้ ใคร่แจ้งการอันใด....”
กาอุ้นได้ฟังดังนั้น ก็อัปยศแก่ใจ เงียบเสียงไปในทันที
จากนั้นพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ก็แต่งตั้งให้พระเจ้าซุนโฮเป็นที่ อุ้ยเบ้งเฮา อาศัยอยู่ในฐานะเจ้าประเทศราช ต่อไปอีกสี่ปีจนถึง พ.ศ.๘๒๗ จึงสิ้นพระชนม์ ราชวงศ์ซุน ซึ่งเริ่มต้นมาจากพระเจ้าซุนกวน ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊ก ณ เมืองกังตั๋ง เมื่อห้าสิบห้าปีก่อน ก็ถึงกาลอาวสานสิ้นสุดลง เพียงชั่วสี่รัชกาลเท่านั้น
และอีกสามปีต่อมา เมื่อพระเจ้าเล่าเสี้ยน ฮ่องเต้เจ้าสำราญแห่งจ๊กก๊ก ซึ่งอยู่ในฐานะ อ่านลกก๋ง เจ้าประเทศราชเหมือนกัน ได้สิ้นพระชนม์ลงอีกองค์หนึ่งแล้ว ก็คงเหลือแต่ พระเจ้าสุมาเอี๋ยน ต้นราชวงศ์จิ้น ซึ่งได้ครองมหาอาณาจักรไต้จิ๋นเป็นเอกเทศ ต่อไปอีกถึงสิบห้ารัชกาล จึงเปลี่ยนราชวงศ์อื่น ๆ อีกนับพันปี
พงศาวดารจีนภาคภาษาไทยอันลือชื่อนี้ จึงดำเนินมาถึงหน้าสุดท้ายที่ว่า
“ ธรรมดาแผ่นดินมีความสุขมาก็นาน แล้วก็ได้รับความเดือดร้อน แล้วก็ได้ความสุขเล่า และกระจายกันออก เป็นแว่นแคว้นแดนประเทศของตัว แล้วก็กลับรวมกันเข้า แยกเป็นสามก๊ก แล้วก็รวมกันเข้าเป็นก๊กเดียวกัน..................โดยบรรยายเรื่องราวสามก๊กนี้ก็บริบูรณ์..........”
#############
ผู้ทำลายวงศ์ตระกูล ๒๖ มี.ต.๖๐
..ผู้ทำลายวงศ์ตระกูล
“เล่าเซี่ยงชุน”
เมื่อขุนนางจัดการศพพระเจ้าซุนฮิวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ปรึกษากันจะยก ซุนเปียน พระราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากบิดาตามประเพณี แต่ขุนนางผู้ใหญ่สองคนเห็นว่าซุนเปียนนั้นสติปัญญาน้อย ยังเยาว์แก่ความนัก เห็นจะว่าราชการไปได้ไม่ตลอด ขอให้เอา ซุนโฮ บุตรของพระเจ้าซุนเหลียง หลานปู่ของพระเจ้าซุนกวนมาสืบราชสมบัติแทนจะดีกว่า ด้วยมีสติปัญญาหลักแหลมเห็นจะปกป้องอาณาประชาราษฎรได้ เหล่าขุนนางทั้งหลายก็เห็นชอบกับขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสองนั้น จึงให้จัดการพระราชพิธีอภิเษกซุยโฮขึ้นเป็นฮ่องเต้ เมื่อวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนเก้า และตั้งให้ซุนเปียนเป็น เจ้าเจี๋ยงอ๋อง
พระเจ้าซุนโฮซึ่งพระราชบิดาถูกเนรเทศไปตั้งนานแล้ว แต่ตนเองกลับมาได้เนฮ่องเต้อีกโดยไม่นึกไม่ฝันนั้น ก็มิได้เอาใจใส่ต่อกิจการบ้านเมืองทั้งปวง เหมือนอย่างที่ขุนนางทั้งหลายได้ตั้งความหวังไว้ มัวแต่หลงระเริงไปกับความสุขสบาย เสพสุราเป็นนิจ ขุนนางผู้ใดเห็นว่าทำผิด เข้าไปทูลทัดทานห้ามปราม ก็ให้เอาตัวไปฆ่าเสีย จนไม่มีผู้ใดกล้าที่จะยุ่งด้วยอีก ฮ่องเต้ก็เลยได้ใจเกณฑ์ทแกล้วทหาร ไพร่พล และอาณาประชาราษฎร ไปตัดไม้มาสร้างวังขึ้นใหม่ ที่ตำบลบู๊เฉียง ต่างก็ได้รับความลำบากเป็นอันมาก
ครั้งสร้างเสร็จแล้วแทนที่จะอยู่ให้สุขสบาย ก็กลับคิดจะยกทัพไปตีไต้จิ้นของพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ที่ปรึกษาก็พากันห้ามปรามว่า เมื่อพระเจ้าซุนฮิวยังอยู่ก็มิได้คิดจะยกไป เพียงแต่ให้ตั้งด่านอยู่ตามริมชายทะเล เป็นการป้องกันเมืองกังตั๋งเท่านั้น สมควรจะได้รักษาเมืองไว้ให้มั่นคง ถ้ามิเชื่อฟังขืนยกไปบัดนี้ ก็เหมือนเอาฝอยไปทุ่มเข้ากองเพลิงสัยเปล่า ๆ พระเจ้าซุนโฮก็โกรธ ให้ขับที่ปรึกษาออกไปจากกที่เฝ้าเสีย จากนั้นจึงให้ ลกข้อง บุตรของลกซุนแม่ทัพใหญ่เมืองกังตั๋งที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว เตรียมยกกองทัพจากเมืองเกงจิ๋ว ไปตีเมืองซงหยงเป็นอันดับแรก
เมื่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยนรู้ข่าว ก็ให้ เอียวเก๋า เจ้าเมืองซงหยงเตรียมทหารรักษาบ้านเมืองไว้ให้มั่นคง ถ้าได้โอกาสเมื่อไร ก็จะยกทัพใหญ่ไปช่วยตีโต้กลับเอาเมืองกังตั๋งให้ได้ เอียวเก๋านั้นเกรงฝีมือ ลกข้องจึงตั้งมั่นรออยู่
ฝ่ายพระเจ้าซุนโฮก็เร่งให้ลกข้อง ยกทหารไปตีข้าศึกให้ได้ ลกข้องก็แจ้งว่าอย่าวิตกเลย ถ้าได้ช่องเมื่อไรก็จะยกทหารไปตีข้าศึก เอาชัยชนะให้ได้ ขอให้ไว้ใจเถิด แต่พระเจ้าวุนโฮใจร้อนไม่ยอมฟังเสียงจึงให้ถอดลกข้องออกจากตำแหน่ง เอียวเก๋าจึงแจ้งให้พระเจ้าสุมาเอี๋ยน รีบยกกองทัพมาตีเอาเมืองกังตั๋งได้แล้ว เพราะพระเจ้าซุนโฮพระพฤติผิดขนบธรรมเนียมแต่ก่อน มากขึ้นทุกที ราษฎรทั้งหลายทั้งปวงก็มีความชิงชังเป็นอันมาก แต่พระเจ้าสุมาเอี๋ยนกลับไปเชื่อขุนนางในเมืองหลวง ไม่ยอมยกกองทัพมา เอียวเก๋าก็ได้แต่ทอดใจใหญ่ว่าเมืองกังตั๋งนี้ เสียไปแล้วเก้าส่วน ยังแต่ส่วนเดียวก็จะได้โดยง่าย คิดเสียดายนักมิรู้แล้ว เลยตรอมใจป่วยตายลง ในปลายปีนั้นเอง
พระเจ้าสุมาเอี๋ยนจึงตั้งให้ ตังอี้ มาเป็นนายทหารรักาเมืองซงหยงแทน ครั้นได้ข่าวว่าพระเจ้าซุนโฮประพฤติตนฟั่นเฟือน เสพสุราเป็นนิจ มีขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยกราบทูลห้ามปราม ก็ตัดปากตัดจมูกเสีย ทั้งไพร่ฟ้าประชาราษฎรก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก จึงมีหนังสือขออนุญาตพระเจ้าสุมาเอี๋ยน จะยกไปตีเมืองกังตั๋ง พระเจ้าสุมาเอี๋ยนก็มีรับสั่งให้เตาอี้คุมทหารสิบหมื่น เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองกังเหลง และให้นายทหารอีกห้านาย คุมทหารกองละห้าหมื่น แยกเข้าตีเมืองกังตั๋งอีกห้าทาง รวมเป็นหกทัพ กำลังพลสามสิบห้าหมื่น และให้ขึ้นอยู้ในบังคับบัญชาของเตาอี้ทั้งสิ้น แม่ทัพใหญ่จึงสั่งให้ องโยย กับ ตงปิน คุมเรือสำหรับบรรทุกทหารทั้งปวงข้ามทะเลไปตีเมืองกังตั๋ง
พระเจ้าซุนโฮได้รู้ข่าวจากม้าใช้ ก็เรียกประชุมที่ปรึกษาทั้งปวง เตรียมรับศึกใหญ่ เตียวเต้า เสนอให้ยกกองทัพไปตั้งรับ ทางเมืองกังเหลงกองหนึ่ง ทางเมืองแฮเค้ากองหนึ่ง ส่วนตนเองกับ สิมเอ๋ง และ จูกัดเจง จะคุมทหารอีกสิบหมื่นไปตั้งรับที่ตำบลเอียวจู๊ พระเจ้าซุนโฮก็เห็นชอบด้วย พอกลับเข้าไปข้างใน ขันทีคนสนิทก็ทูลถามข่าวการศึก พระเจ้าซุนโฮก็รับสั่งว่า ทางบกนี้เราเกณฑ์กองทหารไปสกัดอยู่ทุกตำบลแล้ว วิตกอยู่แต่ทางเรือ ยังหาผู้ใดออกไปต้านทานมิได้ ขันทีจึงเสนอความคิดบ้างว่า ให้เอาเหล็กมาตีเป็นสายโซ่สักห้าร้อยสาย ยาวสายละสิบห้าวา ขึงกั้นแม่น้ำเมืองกังตั๋ง และปักขวากเหล็กไว้ใต้น้ำนอกสายโซ่ออกไป เพื่อดักเรือของข้าศึกที่บรรทุกทหารเข้ามาตามแม่น้ำ ถ้าเรือโดนขวากทะลุ ทหารข้าศึกก็จมน้ำตายเอง แม้ว่าจะเป็นเพียงความคิดของขันที พระเจ้าซุนโฮก็เห็นด้วย จึงสั่งให้จัดแจงตามนั้น ทุกหัวเลี้ยวของแม่น้ำ
ฝ่ายเตาอี้แม่ทัพใหญ่ของไต้จิ้น เมื่อคุมพลไปถึงตำบลเขาปาสัน ในตอนกลางคืน ก็ซุ่มกองทัพไว้ พอรุ่งเช้าฝ่ายง่อก๊กจากเมืองกังตั๋ง ก็ยกทหารทั้งทางบกและทางเรือ เข้าโจมตีกองทัพของเตาอี้เป็นสามารถ จนถึงเที่ยงทหารล้มตายลงไปเป็นอันมาก และเมื่อมีทหารน้อยกว่า ก็อิดโรยระส่ำระสาย นายทัพก็ตายในที่รบ ลงท้ายก็แตกยับเยิน เตาอี้ได้ทีก็ตีตะลุยหัวเมืองรายทางเรื่อยมา จนถึงเมืองกังตั๋งอย่างรวดเร็ว
ทางกองทัพเรือขององโยย ก็ใช้ทหารสอดแนมเข้าไปตามแม่น้ำ จนเจอขวากเหล็กกับสายโซ่ขวางลำน้ำอยู่ จึงให้ตัดไม้มาทำแพเป็นอันมาก เอาดินถมหลังแพและตั้งเตาสูบไว้บนมูลดินนั้น แล้วใช้ใบลอยเรื่อยเข้าไปในแม่น้ำ นำหน้ากองเรือบรรทุกทหาร พอแพติดขวากคลื่นซัดแพโคลงเคลง ขวากก็หลุดจากพื้นดินใต้น้ำ แพก็ลอยเลื่อนต่อไปถึงสายโซ่ เตาเพลิงบนหลังแพก็เผาสายโซ่จนแดง ทหารก็เข้าไปตัดโซ่นั้นขาดจนหมด เรือรบก็แล่นเลยเข้าไปจนถึงตัวเมืองกังตั๋ง
สิมเอ๋ง จูกัดเจง และ เตียวเค้า คุมทหารเข้าต่อสู้ป้องกันเมือง ก็พ่ายแพ้แก่ข้าศึก ถึงแก่ความตายทั้งสามคน เตาอี้แม่ทัพบกและองโยยแม่ทัพเรือของไต้จิ้น ก็ยกทหารขึ้นบกล้อมเมืองกังตั๋งไว้
พระเจ้าซุนโฮทอดพระเนตรจากกำแพงเมือง เห็นทหารเมืองกังตั๋งที่พ่ายแพ้หนีไปมิได้ต่อสู้ ก็สลดพระทัย ชักกระบี่ออกจะเชือดคอตายเสีย ขุนนางทั้งปวงก็ยึดกระบี่ไว้ แล้วทูลว่า
“.....พระองค์ประหารชีวิตเสียนั้น หาประโยชน์มิได้ เป็นสำหรับประเพณีแผ่นดินแล้ว ขอให้พระองค์นบนอบ เหมือนพระเจ้าเล่าเสี้ยน ตามธรรมเนียมเถิด.....”
พระเจ้าซุนโฮก็เห็นชอบด้วย จึงให้เปิดประตูเมืองทั้งสี่ด้าน แล้วพาขุนนางทั้งหลายออกไปคำนับข้าศึก พร้อมกับมอบบัญชีพลเมือง และทรัพย์สินในท้องพระคลังให้แต่โดยดี เตาอี้จึงอยู่ว่าราชการ ณ เมืองกังตั๋ง แล้วให้พาพระเจ้าซุนโฮกับขุนนางทั้งปวง ไปเฝ้าพระเจ้าสุมาเอี๋ยนที่เมืองหลวง
พระเจ้าสุมาเอี๋ยนทอดพระเนตร เห็นพระเจ้าซุนโฮเข้ามาคำนับแล้วซบพระพักตร์อยู่ ก็ตรัสสัพยอกว่า
“.........ที่อันนี้เราแต่งไว้คอยต้อนรับท่าน ก็นานมาแล้ว.....”
พระเจ้าซุนโฮ ก็ทูลสนองตอบว่า
“......ข้าพเจ้าอยู่ที่เมืองกังตั๋งนั้น ก็ได้แต่งที่ไว้คำนับพระองค์เหมือนอย่างนี้ มาช้านานหลายปีแล้วเหมือนกัน.........”
แล้วทั้งสองฮ่องเต้ก็ถ้อยทีถ้อยสัพยอกกัน แล้วก็ทรงพระสรวลชื่นชมยินดี และแต่งโต๊ะมาเลี้ยงดูกันตามประเพณี ราวกับไม่เคยได้เป็นข้าศึกศัตรูกันมาแต่ก่อนเลย
ขณะเมื่อเสพสุราอยู่ กาอุ้น ขุนนางของพระเจ้าสุมาเอี๋ยน คงจะตึงหน้าเข้าไปแล้ว จึงทูลถามพระเจ้าซุนโฮว่า
“........เมื่อท่านอยู่ที่เมืองกังตั๋งนั้น ได้ยินเขาลือกันว่า ท่านตัดจมูกตัดปากควักลูกตาขุนนางเสีย ด้วยเหตุอันใด.......”
พระเจ้าซุนโฮเห็นว่า แม้จะยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยน แต่ไม่ควรที่ขุนนางจะมาอาจเอื้อมว่ากล่าว จึงตวาดเอาว่า
“.......ตัวเราเป็นเจ้า ขุนนางทั้งปวงมิได้ตั้งอยู่ในบังคับบัญชา ทำละเมิดจากขนบธรรมเนียม เราจึงทำโทษ เหตไรท่านมาถามฉะนี้ ใคร่แจ้งการอันใด....”
กาอุ้นได้ฟังดังนั้น ก็อัปยศแก่ใจ เงียบเสียงไปในทันที
จากนั้นพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ก็แต่งตั้งให้พระเจ้าซุนโฮเป็นที่ อุ้ยเบ้งเฮา อาศัยอยู่ในฐานะเจ้าประเทศราช ต่อไปอีกสี่ปีจนถึง พ.ศ.๘๒๗ จึงสิ้นพระชนม์ ราชวงศ์ซุน ซึ่งเริ่มต้นมาจากพระเจ้าซุนกวน ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊ก ณ เมืองกังตั๋ง เมื่อห้าสิบห้าปีก่อน ก็ถึงกาลอาวสานสิ้นสุดลง เพียงชั่วสี่รัชกาลเท่านั้น
และอีกสามปีต่อมา เมื่อพระเจ้าเล่าเสี้ยน ฮ่องเต้เจ้าสำราญแห่งจ๊กก๊ก ซึ่งอยู่ในฐานะ อ่านลกก๋ง เจ้าประเทศราชเหมือนกัน ได้สิ้นพระชนม์ลงอีกองค์หนึ่งแล้ว ก็คงเหลือแต่ พระเจ้าสุมาเอี๋ยน ต้นราชวงศ์จิ้น ซึ่งได้ครองมหาอาณาจักรไต้จิ๋นเป็นเอกเทศ ต่อไปอีกถึงสิบห้ารัชกาล จึงเปลี่ยนราชวงศ์อื่น ๆ อีกนับพันปี
พงศาวดารจีนภาคภาษาไทยอันลือชื่อนี้ จึงดำเนินมาถึงหน้าสุดท้ายที่ว่า
“ ธรรมดาแผ่นดินมีความสุขมาก็นาน แล้วก็ได้รับความเดือดร้อน แล้วก็ได้ความสุขเล่า และกระจายกันออก เป็นแว่นแคว้นแดนประเทศของตัว แล้วก็กลับรวมกันเข้า แยกเป็นสามก๊ก แล้วก็รวมกันเข้าเป็นก๊กเดียวกัน..................โดยบรรยายเรื่องราวสามก๊กนี้ก็บริบูรณ์..........”
#############