เปิด Timeline 100 ปี สงครามสามก๊ก ตอนที่ 10 (ค.ศ.271-280) *ตอนจบ*

ตอนที่ 1 http://ppantip.com/topic/33657392/
ตอนที่ 2 http://ppantip.com/topic/33665166/
ตอนที่ 3 http://ppantip.com/topic/33674170/
ตอนที่ 4 http://ppantip.com/topic/33683393/
ตอนที่ 5 http://ppantip.com/topic/33691647/
ตอนที่ 6 http://ppantip.com/topic/33701632/
ตอนที่ 7 http://ppantip.com/topic/33715259/
ตอนที่ 8 http://ppantip.com/topic/33724777/
ตอนที่ 9 http://ppantip.com/topic/33733101/

มาถึงตอนสุดท้ายของไทม์ไลน์สงครามสามก๊กแล้วนะครับ ซึ่งในตอนที่ 10 นี้ นอกจากจบสามก๊กที่ปี 280 พอดีแล้ว ยังเสริมภาคผนวก เหตุการณ์สำคัญในยุคหลังจากนั้นอีกเล็กน้อยไว้ที่ rep.1 ด้วยนะครับ

ผมมีบทความเกี่ยวกับสามก๊กในเชิงความรักและครอบครัวของตัวละครหลาย ๆ คู่ที่ไม่ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรม ลงไว้ต่อเนื่องที่เพจของผมนี้ https://www.facebook.com/threekingdomhappyfamily
ถ้ามีโอกาสและถ้าท่านอื่น ๆ สนใจ จะนำมาทยอยลงไว้ในเว็บพันทิปด้วยเช่นกันครับ



ตอนที่ 10 ปี ค.ศ. 271-280

พระเจ้าซุนโฮพากังตั๋งเสื่อมถอย เอียวเก๋ากรุยทาง องโยยและเตาอี้นำกองทัพจิ้นพิชิตง่อก๊ก แผ่นดินทั้งสามรวมกลับเป็นหนึ่ง

ค.ศ. 271
- พระเจ้าซุนโฮแห่งง่อก๊กคิดจะเปิดศึกกับจิ้นก๊ก จึงมีการเกณฑ์แรงงานมากมายในการเตรียมยุทธปัจจัย ซึ่งแรงงานบางส่วนนั้น กลับเป็นมเหสีและสนมนับพันคนในวังของตนเอง การลงแรงอย่างไร้เหตุผลนี้ทำให้เป็นที่ติฉินนินทามากมาย โดยเฉพาะขุนพลอาวุโสชื่อเตงฮอง นานวันเข้าพระเจ้าซุนโฮจึงรู้สึกเบื่อหน่ายและตัดสินใจถอนทัพกลับ
- ในปีเดียวกันนี้ ง่อก๊กสามารถปราบปรามกบฎทางใต้ บริเวณดินแดนเวียดนามตอนเหนือที่คิดร่วมมือกับจิ้นก๊กในการทำลายง่อก๊ก แต่ฝ่ายง่อก๊กก็ป้องกันไว้ได้สำเร็จ จากผลในการสู้รบนี้ ทำให้พระเจ้าซุนโฮทบทวนความคิดที่จะรบกับจิ้นก๊กอีกครั้ง
- เตงฮอง ขุนพลอาวุโสของง่อก๊กเสียชีวิตปีนี้ หลังจากเขาตาย ครอบครัวของเขาถูกขุนนางเพ็ดทูลใส่ร้าย จึงถูกพระเจ้าซุนโฮเนรเทศไปยังชายแดนหมดทั้งตระกูล
- เล่าเสี้ยน อดีตฮ่องเต้จ๊กก๊กที่เสวยสุขภายในเมืองหลวงจิ้นก๊ก สิ้นพระชนม์ในปีนี้ด้วยวัย 64 ปี

ค.ศ. 272
- ฝ่ายจิ้นก๊ก พระเจ้าสุมาเอี๋ยนยกให้พระนางเจี่ยหนานเฟิง บุตรสาวของแกฉงขุนนางอาวุโสเป็นมเหสีแก่องค์รัชทายาทสุมาจง ซึ่งปรากฏว่าพระนางเจี่ยเป็นเด็กสาวที่ก้าวร้าวและหึงหวงสามีเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังพยายามเข้าแทรกแซงกิจการบ้านเมืองทีละเล็กละน้อย
- ในง่อก๊กเกิดเหตุจลาจลขึ้นเมื่อขุนศึกปู้ฉานก่อกบฏเพื่อจะสวามิภักดิ์ต่อจิ้นก๊ก ขุนศึกเอียวเก๋าจึงพยายามยกทัพมาประสานกับปู้ฉาน แต่ลกข้องแห่งง่อก๊กสามารถต้านทานไว้ได้และจัดการปู้ฉานได้สำเร็จ ฝ่ายเอียวเก๋าจึงประกาศสงบศึกกับง่อก๊กอย่างเป็นทางการ
- เอียวเก๋าและลกข้อง ขุนศึกของทั้งสองฝ่ายเริ่มมีการพบปะมากขึ้นและแสดงท่าทีเป็นมิตรต่อกัน ชายแดนระหว่างสองก๊กจึงมีความสงบสุข ต่างกับในเมืองหลวงง่อก๊กที่พระเจ้าซุนโฮยังคงสั่งประหารชีวิตขุนนางที่ขัดคอของตนอย่างไร้เหตุผลมากขึ้นเรื่อย ๆ

ค.ศ. 273
- ฝ่ายจิ้นก๊ก พระเจ้าสุมาเอี๋ยนเกณฑ์หญิงงามเข้าวังนับพันคน พร้อมทั้งประกาศห้ามหญิงสาวทั่วอาณาจักรจัดพิธีแต่งงานกับชายอื่นจนกว่าพระเจ้าสุมาเอี๋ยนจะคัดเลือกสนมเข้าวังเรียบร้อย
- ขุนพลลกข้องแห่งง่อก๊กสนิทสนมกับเอียวเก๋าแห่งจิ้นก๊กถึงขนาดรับประทานอาหารร่วมโต๊ะเดียวกันบ่อยครั้ง มีการแลกอาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรคซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่ายโดยไม่มีการหวาดระแวง และปวงชนส่วนมากต่างเคารพรักในความโอบอ้อมอารีของเอียวเก๋าอย่างมาก
- ขุนพลลกข้องแห่งง่อก๊กถวายฎีกาแนะนำพระเจ้าซุนโฮให้ระงับความคิดจะทำศึกกับจิ้นก๊กไว้ก่อน เพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองชายแดนให้ประชาชนมีกินมีใช้ แต่พระเจ้าซุนโฮไม่พอใจ จึงสั่งปลดลกข้องออกจากตำแหน่ง

ค.ศ. 274
- ฝ่ายจิ้นก๊ก พระนางหยางเหยียน มเหสีของพระเจ้าสุมาเอี๋ยนสิ้นพระชนม์ ก่อนตาย นางได้ฝากฝังญาติสนิท หยางจื่อให้พระเจ้าสุมาเอี๋ยนรับไว้เป็นมเหสีต่อจากตน ซึ่งพระองค์ก็ได้แต่งตั้งนางหยางจื่อเป็นมเหสีในอีก 2 ปีถัดมา
- ลกข้องเมื่อถูกปลดจากชายแดนได้ไม่กี่เดือนก็ล้มป่วยหนัก และเสียชีวิตในช่วงปลายปี ในขณะที่มีประชาชนตามชายแดนง่อก๊กทยอยอพยพข้ามไปอาศัยจิ้นก๊กที่มีความสะดวกสบายมากกว่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

ค.ศ. 275
- ฝ่ายจิ้นก๊ก เมื่อเอียวเก๋าทราบว่าลกข้องสหายคนละแผ่นดินกับตนเสียชีวิตไปแล้ว จึงตระเตรียมวางแผนที่จะทำศึกกับง่อก๊กขั้นเด็ดขาด เขาแต่งตั้งแม่ทัพองโยยที่ประจำอยู่ในเสฉวน ต่อเรือรบเพื่อใช้เป็นกองทัพในการตีง่อก๊กในอนาคตเป็นการใหญ่
- ฝ่ายง่อก๊ก พระเจ้าซุนโฮยังคงปกครองแผ่นดินอย่างเหี้ยมโหดยิ่งขึ้น ขุนนางใดที่เข้าเฝ้าพูดจาขัดหูก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก ขุนนางคนใดที่หลีกเลี่ยงการเข้าเฝ้าก็จะถูกจับไปทรมาน บางคนก็ถึงแก่ความตาย บางคนก็ถูกเนรเทศ

ค.ศ. 276
- ฝ่ายจิ้นก๊ก พระเจ้าสุมาเอี๋ยนเสพสุขอย่างหนักจนประชวร เหล่าข้าราชบริพารคิดจะผลักดันสุมาฮิว น้องชายของพระเจ้าสุมาเอี๋ยนเตรียมสืบราชสมบัติแทนหากเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น แต่ภายหลังพระเจ้าสุมาเอี๋ยนมีอาการทุเลาลง ความคิดนั้นจึงถูกยกเลิกไป และพระเจ้าสุมาเอี๋ยนก็ไม่ได้สั่งชำระความใด ๆ กับขุนนางที่เจ้ากี้เจ้าการโดยพลการเหล่านั้น
- หลังจากนั้น เมื่อเอียวเก๋าเตรียมการยุทธปัจจัยต่าง ๆ จนเล็งเห็นว่ามีความพร้อมเพียงพอแล้ว ก็ถวายฎีกาต่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยนเพื่อเปิดศึกพิชิตง่อก๊กให้ราบคาบ ด้วยเหตุผลว่า ในตอนนี้ง่อก๊กนั้นมีผู้นำที่เลวร้าย ขาดความเป็นปึกแผ่น หากปล่อยเวลาเนิ่นนานไปจนมีการผลัดเปลี่ยนผู้นำ ง่อก๊กอาจจะเข้มแข็งขึ้นได้ และในตอนนี้กองทัพของเขาก็พร้อมสำหรับการบุกโจมตีแล้ว
- พระเจ้าสุมาเอี๋ยนสนใจต่อฎีกาออกศึกของเอียวเก๋ามาก แต่ขุนนางจิ้นก๊กเสียงแตกเป็นสองทาง ทางหนึ่งนำโดยขุนศึกเตาอี้ที่เคยร่วมงานกับเอียวเก๋ามาก่อน สนับสนุนให้ออกรบ แต่อีกฝ่ายนำโดยแกฉง ออกปากคัดค้านเพราะตัวเขาเคยร่วมทัพตีง่อก๊กหลายครั้งแล้วประสบความล้มเหลว ด้วยเหตุนี้พระเจ้าสุมาเอี๋ยนจึงให้ชะลอการเปิดศึกไว้ก่อน ทำให้เอียวเก๋ารู้สึกเสียดายมาก

ค.ศ. 277
- ด้วยความผิดหวังและสุขภาพเริ่มทรุดโทรม เอียวเก๋าจึงเดินทางกลับเมืองหลวงลกเอี๋ยงและลาออกจากราชการ แม้ว่าพระเจ้าสุมาเอี๋ยนจะยังไม่อนุมัติให้มีการเปิดศึกตามแผนของเขา แต่พระองค์ก็มอบแผนนี้ต่อให้เตาอี้ ขุนพลคนสนิทให้รับช่วงต่อเอียวเก๋ามาเตรียมตัวดำเนินการต่อที่เกงจิ๋ว
- ฝ่ายง่อก๊กนั้น เหล่าขุนนางเอาใจพระเจ้าซุนโฮด้วยเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ปลุกใจให้พระเจ้าซุนโฮเชื่อว่าจะรบชนะจิ้นก๊กอย่างแน่นอน และพระองค์ก็แต่งตั้งให้บุตรชายของลกข้องดูแลกองทัพต่อ

ค.ศ. 278
- เอียวเก๋าล้มป่วยจนเสียชีวิตลงในปีนี้ เมื่อประชาชนเกงจิ๋วที่เขาเคยดูมาหลายปีทราบข่าวก็เศร้าเสียใจกันทั้งแคว้น ผู้คนต่างพากันสร้างอนุสาวรีย์ของเอียวเก๋าไว้ที่เมืองซงหยงเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดี ที่เปลี่ยนเมืองเกงจิ๋วศูนย์กลางแห่งการสู้รบให้กลายเป็นเมืองดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองได้
- เดิมทีหลายฝ่ายในจิ้นก๊กคิดจะเปิดศึกกับง่อก๊กตั้งแต่ปีนี้ แต่เพราะภูมิอากาศแปรปรวนและมีฤดูแล้งยาวนาน จึงระงับแผนการบุกต่อไปอีกปี

ค.ศ. 279
- ขุนพลองโยยแห่งจิ้นก๊กที่รับงานเตรียมทัพเรือในเสฉวนมานาน เล็งเห็นว่าการบุกพิชิตง่อก๊กไม่อาจล่าช้าไปกว่านี้ได้อีกแล้ว จึงร่วมกับขุนพลเตาอี้และราชเลขาเตียวหัว เพื่อถวายฎีกาเปิดศึกเช่นเดียวกับที่เอียวเก๋าเคยทำเมื่อสองปีก่อน ตอกย้ำการฉวยโอกาสที่เหมาะสมที่สุดในการทำสงครามรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งอีกครั้ง ในครั้งนี้พระเจ้าสุมาเอี๋ยนก็ตัดสินใจอนุมัติการประกาศสงครามได้ในที่สุด
- เริ่มจากพระเจ้าสุมาเอี๋ยนส่งขุนพลม้าล่งไปประจำชายแดนตอนเหนือเพื่อป้องกันภัยจากเผ่ากบฏนอกด่าน เพื่อความวางใจในการเปิดศึกทางใต้ได้เต็มที่
- การเคลื่อนพลเริ่มจากทัพเรือล่องมาตามแม่น้ำแยงซีเกียงจากแคว้นเสฉวนนำโดยองโยย ส่วนเตาอี้จัดเตรียมกำลังพลเคลื่อนทัพในทางบกจากเมืองซงหยงตอนเหนือของเกงจิ๋ว รุกเข้าเกงจิ๋วทางใต้ที่เป็นอาณาเขตของง่อก๊ก โดยมี แกฉง ขุนนางอาวุโสที่คัดค้านการออกศึกนี้ตั้งแต่แรก มาเป็นผู้ใหญ่กำกับกองทัพอีกด้วย
- อย่างไรก็ตาม ฝ่ายง่อก๊กนั้น พระเจ้าซุนโฮเชื่อมั่นว่าทัพจิ้นก๊กจะไม่สามารถตีฝ่าแนวป้องกันอันหนาแน่นของง่อก๊กที่คนละฝั่งแม่น้ำได้ และยังเตรียมการรับมือเพิ่มเติมเพียงขึงโซ่ทำขวากเหล็กทุ่นกับดักลอยกลางลำน้ำ เพื่อที่หากเรือข้าศึกแล่นผ่านก็จะถูกขวากเหล็กแหลมคมทิ่มแทงจนเรืออัปปางได้ พร้อมทั้งได้ให้บุตรชาย 5  คนของลกข้องเตรียมทัพใหญ่ 5 กองพล สองกองเตรียมการรบทางน้ำ สองกองทางบก และอีกหนึ่งกองคอยป้องกันพระนคร
- และแล้ว สงครามครั้งสุดท้ายของยุคสามก๊กจึงเริ่มต้นขึ้น

ค.ศ. 280
- เมื่อทัพเรือขององโยยแล่นลงมาถึงเกงจิ๋วสมทบกับทัพบกของเตาอี้ การบุกครั้งใหญ่ของจิ้นก๊กจึงเริ่มขึ้นทันที โดยเตาอี้ถือเป็นทัพหลัก บุกเข้าตีหัวเมืองชายแดนต่าง ๆ ของง่อก๊กอย่างฉับไวและต่อเนื่อง
- สำหรับขวากเหล็กกลางลำน้ำนั้น ระหว่างการบุกมีขุนพลและปวงชนชาวง่อก๊กยอมจำนนมากมาย ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ได้ให้ข้อมูลแก่องโยยในด้านจุดวางขวากเหล็กต่าง ๆ เสียหมดสิ้น องโยยจึงหาวิธีทำลายขวากเหล็กอย่างง่ายดายด้วยการส่งแพชุบน้ำมันและจุดไฟให้ลอยเข้าชนโซ่ที่ขึงขวากเหล็กไว้ ความร้อนจากไฟจึงทำลายโซ่ทั้งหมดให้ละลายจนขาดหมดสิ้นและขวากเหล็กก็จมลงสู่ก้นแม่น้ำ กองทัพเรือจิ้นก๊กจึงสามารถเดินหน้าล่องตามแม่น้ำต่อได้อย่างรวดเร็ว
- แกฉงขุนนางอาวุโสผู้กำกับทัพซึ่งห่างศึกมานานได้เอ่ยปากว่าเมื่อชิงหัวเมืองง่อก๊กได้แล้วก็ควรชะลอการบุกต่อเสียก่อน เพราะในอดีตโจโฉเคยรุกคืบในดินแดนนี้เป็นสงครามยืดเยื้อแล้วต้องแตกทัพเพราะโรคระบาดมาก่อน แต่ขุนพลเตาอี้ยืนกรานเสียแข็งว่าจะต้องบุกปราบง่อก๊กถึงเมืองหลวงม้วนเดียวจบเท่านั้น และการรุกต่อเนื่องก็ใช้เวลาน้อยกว่าที่คาดไว้ แกฉงจึงไม่สามารถคัดค้านอะไรได้อีก
- เดือนกุมภาพันธ์ พระเจ้าสุมาเอี๋ยนส่งกำลังพลเข้าเสริมทัพย่อยขององโยยให้การบุกรุกคืบมีประสิทธิภาพมากขึ้น เตาอี้และทัพบกอื่น ๆ รุกเข้าชิงหัวเมืองทางใต้ของเกงจิ๋วได้หมดสิ้นอย่างง่ายดาย ขุนศึกและประชาชนง่อก๊กส่วนใหญ่ต่างยอมจำนนแต่โดยดี
- เดือนมีนาคม ฝ่ายง่อก๊กทราบข่าวหัวเมืองสำคัญถูกชิงไปอย่างรวดเร็วก็รีบกระจายกำลังเข้าตอบโต้ แต่ก็สายเกินไปแล้ว สมุหนายกเตียวทีของง่อก๊กเสียชีวิตในการรบ ขวัญกำลังใจของทัพง่อสลายหมดสิ้น เพียงแค่ช่วงกลางเดือน ทัพขององโยยก็เข้าล้อมเมืองเจี่ยนเย่ พระนครหลวงของง่อก๊กได้สำเร็จ
- พระเจ้าซุนโฮและข้าราชบริพารเห็นว่าจวนตัวและหมดหนทางจะต้านทานแล้ว จึงยอบสิโรราบต่อจิ้นก๊กแต่โดยดี เป็นอันว่าง่อก๊กที่ตระกูลซุนดิ้นรนก่อตั้งมาตั้งแต่ยุคสมัยของซุนเกี๋ยน ซุนเซ็ก และซุนกวน มากว่า 80 ปี และไม่เคยมีกองทัพก๊กอื่นใดกล้ำกรายถึงเมืองหลวงมาก่อน ก็ได้ล่มสลายพ่ายแพ้ต่อจิ้นก๊กในครั้งนี้นั่นเอง
- แผ่นดินจีนสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นที่แตกแยกนับตั้งแต่การตั้งตนเป็นใหญ่ของเหล่าขุนศึกในแคว้นต่าง ๆ รบราฆ่าฟันจนเหลือเพียงสามก๊ก ก็กลับมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้ง
.
.
.
ภาคผนวกต่อที่ rep.1 นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่