สมเด็จพระรัษฎาธิราช ทรงถูกรัฐประหาร จริงหรือ ?

ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท ออกฉายสู่สายตาประชาชน ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับชมและพยายามแกะรายละเอียดต่างๆจากหนังเรื่องนี้ จนเกิดเป็นการตั้งข้อสงสัยในหลายประเด็น อย่างที่เคยมีผู้สงสัยมากมายก่อนหน้า เช่น การมีตัวตนอยู่จริงของพระสุริโยทัย การสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชา ศึกเมืองเชียงกราน หรือกรณีกบฏท้าวศรีสุดาจันทร์ และประเด็นอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งต้องขอขอบคุณภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ช่วยประเทืองปัญญาให้ผมมาตลอดเกือบยี่สิบปีมานี้

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผมเชื่อภาพยนตร์โดยไม่เคยสงสัยมาก่อน คือการที่สมเด็จพระรัษฎาธิราช (ในภาพยนตร์เรียก รัษฐาธิราช) ทรงถูกรัฐประหารโดยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เนื่องจากหนังสร้างเหตุการณ์ตรงนี้ได้สมเหตุสมผลดี และเมื่อผมสืบค้นตามแหล่งข้อมูลต่างๆ ก็ระบุถึงเหตุการณ์ยึดอำนาจครั้งนี้เหมือนกัน แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้หยิบหนังสือพงศาวดารมาพลิกดู ปรากฏว่าผมไม่พบข้อความส่วนใดเลยที่ระบุถึงเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งถือกันว่าเก่าแก่และน่าเชื่อถือมาก หรือฉบับพันจันทนุมาศซึ่งชำระเมื่อต้นรัตนโกสินทร์และเป็นฉบับที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเป็นราวก็ไม่ได้ระบุเหตุการณ์นี้ไว้

ผมขอยกข้อความจากพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติมาไว้ในที่นี้
"ครั้นถึงศักราช ๘๙๖ มะเมียศก พระราชกุมารท่านนั้นเปนเหตุ จึงได้ราชสมบัติแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า"

และข้อความจากพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ
"ศักราช ๘๗๖ ปีจอฉอศก สมเด็จพระราชกุมารท่านเถิงแก่พิราลัย"

ส่วนหลักฐานของฝ่ายไทยที่แพร่หลายอีกฉบับหนึ่งคือคำให้การชาวกรุงเก่า กลับไม่ได้ระบุรัชกาลสมเด็จพระรัษฎาธิราช แต่เล่าข้ามไปรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชเลย (คำให้การชาวกรุงเก่าเรียก สมเด็จพระปรเมศวร) และเหตุการณ์ช่วงสมัยนี้ก็ดูไม่สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ โดยเฉพาะลำดับเหตุการณ์และพระนามของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์

สำหรับหลักฐานต่างชาติ ตอนนี้ผมไม่มีพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขปของวันวลิตและบันทึกของปินโตอยู่ติดมือ จึงไม่ได้เปิดเช็คดูว่าระบุเหตุการณ์ตรงนี้ไว้อย่างไร

เมื่อผมค้นข้อมูลในโลกออนไลน์ กลับพบว่า ร้อยทั้งร้อย บอกว่าเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นจริง แม้กระทั่งตำราเรียนในปัจจุบัน หรือตำราที่เป็นทางการอย่างนามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย ก็ระบุไว้ตรงกัน และวิกิพีเดียยังนำข้อมูลส่วนนี้ไปเขียนอ้างอิง
แม้กระทั่งนักวิชาการยุคหลังอย่าง คุณปรามินทร์ เครือทอง ก็เคยเขียนเรื่องนี้ลงไปในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม แต่ดูเหมือนว่าคุณปรามินทร์ก็ยังไม่ชัวร์ 100% เพียงแต่ตีความจากข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ โดยให้เหตุผลว่า ปกติพงศาวดารฉบับนี้จะใช้คำว่า "นฤพาน" เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงสวรรคต แต่ในกรณีของสมเด็จพระรัษฎาธิราช กลับใช้คำว่า "เปนเหตุ" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไมได้สวรรคตโดยธรรมชาติ ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การตีความของคุณปรามินทร์จะสมด้วยเหตุผล แต่ผมก็ถือว่ายังไม่หนักแน่นพอที่จะบอกว่า เปนเหตุ=รัฐประหาร

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยหลายประการ ดังนี้

1. จากการสังเกต ผมคิดว่าภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท ยึดการเดินเรื่องตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐและบันทึกของ Fernao Mendes Pinto เป็นหลัก และใช้คำให้การชาวกรุงเก่าหรือพงศาวดารฉบับอื่นๆเพื่อเสริมรายละเอียด แต่พงศาวดารทุกฉบับกลับไม่ได้กล่าวถึงการรัฐประหารเลย ในขณะที่หลักฐานชิ้นอื่นๆผมก็ตรวจสอบมาบางส่วน ผมจึงสงสัยว่าภาพยนตร์เรื่องสุริโยไทตีความเหตุการณ์นี้จากหลักฐานชิ้นใด หรือเป็นจินตนาการของท่านมุ้ยเพื่ออุดรอยต่อของประวัติศาสตร์ (แต่ผมว่าไม่น่าจะใช่จินตนาการ เพราะแหล่งข้อมูลหลายชิ้น รวมทั้งความเข้าใจร่วมกันของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เข้าใจว่าสมเด็จพระรัษฎาธิราชถูกรัฐประหารมาตลอด ซึ่งไม่น่าจะเป็นอิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่องนี้)

2. ยังมีหลักฐานชิ้นใดอีกบ้างทั้งของไทยและเทศ ที่ระบุว่าสมเด็จพระรัษฎาธิราชทรงถูกรัฐประหาร

3. ผมอยากได้ข้อความเหตุการณ์ช่วงรอยต่อระหว่าง รัชกาลสมเด็จพระรัษฎาธิราช - สมเด็จพระไชยราชาธิราช จาก บันทึกของ Fernao Mendes Pinto และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขปของวันวลิต ท่านได้ช่วยชี้เป้าหรือยกมาให้ชม ผมจะถือเป็นพระคุณยิ่ง

4. ผมรู้สึกว่าพระราชพงศาวดารทุกฉบับ บันทึกพระราชประวัติสมเด็จพระไชยราชาธิราชก่อนเสด็จครองราชย์ไว้อย่างคลุมเครือ หลักฐานบางชิ้นก็บันทึกไปคนละทิศคนละทาง ส่วนการขึ้นสู่ราชบัลลังก์ก็ดูไม่ชัดเจน เหมือนกับไม่ใช่การสืบราชสมบัติอย่างปกติ แต่ไม่ได้บอกตรงๆว่าเป็นการรัฐประหาร ในขณะที่การปราบดาภิเษกของพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นตลอดสมัยอยุธยากลับสามารถกล่าวได้อย่างตรงไปตรงมา จึงอยากทราบว่าทุกท่านมีความคิดเห็นเช่นไรกับจุดนี้

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นครับ

ปล. ขออนุญาตแท็ก ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะไม่มีแท็กสุริโยไท
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่