ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ตอน ปฐมบท

สืบเนื่องจากกระทู้นี้ https://ppantip.com/topic/35729406 ที่ผมเคยตั้งไว้ ทำให้ผมคิดว่ามันควรจะมีกระทู้สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยจึงจะถือว่าสมบูรณ์ ก่อแล้วก็ต้องสาน แต่กว่าจะมีเวลาสานก็ผ่านไปหลายเดือน ดังนั้น เมื่อมีเวลาแล้ว ผมจึงตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา แต่กระทู้นี้จะเป็นเพียงการพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ส่วนเหตุการณ์ขณะสงครามกำลังดำเนินและผลของสงคราม ผมจะตั้งในกระทู้หน้า

เนื่องจาก ผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 มันมาเกี่ยวดองหนองยุ่งกับสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างมาก ท่านใดที่ยังไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ผมแนะนำให้อ่านก่อนครับ

เหมือนเคยครับ ผมเป็นคนชอบเสพเนื้อหา ดังนั้น เนื้อหาในกระทู้ที่ผมตั้งมันจึงยาว แต่ถ้าท่านใดคิดว่ากระทู้นี้เนื้อหายังไม่ละเอียดพอ ผมจะปรับปรุงในกระทู้หน้า (แต่ก็คงได้ไม่ละเอียดเท่าการอ่านในหนังสือนะครับ) ฉะนั้น ท่านใดที่ชอบเสพเนื้อหาเหมือนผม ก็รออ่านได้

ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ตอน ปฐมบท

ระยะเวลาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุด คือปี 1918-1919 ไปจนถึงช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาอีกหน คือปี 1939-1945 นับเป็นระยะเวลา 20 ปีของความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ และแข่งขันกันเช่นเดิม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
ทั้งนี้เนื่องจาก ฝ่ายสัมพันธมิตรโค่นกล้วยยังไว้หน่อ เยอรมนีตายไม่สนิท

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะซ้ำรอยเดิมไปทั้งหมด ทั้งนี้เพราะในห้วงช่วงเวลาดังกล่าวได้มีเงื่อนไขใหม่ๆ ในประชาคมโลกเพิ่มเข้ามา ซึ่งปัจจัยสุดคลาสสิกของสงครามโลกทั้งสองครั้ง ก็คือ ปัจจัยด้านการเมือง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ

ปัจจัยด้านการเมือง
1.ความหวาดระแวงคอมมิวนิสต์
คอมมิวนิสต์เป็นระบอบการปกครองที่มุ่งให้เกิดสังคมไร้ชนชั้น ประชาชนทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน ผลกำไรของปัจเจกจะตกเป็นของส่วนรวม

คอมมิวนิสต์สมัยใหม่มักจะยึดตามคำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ของคาร์ล มาร์กซ์และฟรีดริช เองเกลส์ ว่าด้วยการแทนที่ระบบทุนนิยมที่เน้นกำไรเป็นหลักด้วยระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งผลผลิตโดยรวมที่ได้มาจะตกเป็นของส่วนรวม

ลัทธิมาร์กซ์มีแนวคิดว่า ระบอบคอมมิวนิสต์สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยการทำการปฏิวัตินายทุนและชนชั้นสูง จากนั้นจึงเปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทฤษฎีของมาร์กซ์ได้สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดพรรคสังคมนิยมไปทั่วยุโรป แม้ว่านโยบายของพวกเขาในเวลาต่อมาจะค่อนข้างคล้อยตามระบบทุนนิยม ยกเว้นเพียงแห่งเดียว คือ พรรคแรงงานสังคมประชาธิปัตย์แห่งรัสเซีย โดยในพรรคนี้มีกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ กลุ่มบอลเชวิค นำโดยวลาดิมีร์ เลนิน

ในเวลาต่อมาบอลเชวิคประสบความสำเร็จในการปกครองประเทศหลังจากล้มล้างรัฐบาลรักษาการในการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ต่อมาพรรคดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นพรรคนี้ได้พยายามที่จะเข้าไปเกี่ยวดองหนองยุ่งกับการเมืองของหลายประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการปกครองที่คล้ายคลึงกันขึ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในฮังการี

การกระทำดังกล่าวนำมาซึ่งความกลัวการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ทั่วทั้งยุโรปและอเมริการาวเจ๊กตื่นไฟ ดังนั้นในปี 1919 ฝ่ายไตรภาคีจึงได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐพรมแดนขึ้นประชิดชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย เพื่อป้องกันการแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์จากรัสเซีย

2.ความหวาดระแวงฟาสซิสต์
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน ลัทธิฟาสซิสต์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในอิตาลี

ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นการปกครองภายใต้แนวคิดสุดโต่งที่ว่า รัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญเหนือบุคคล ผู้นำเผด็จการของฟาสซิสต์มีอำนาจและสิทธิขาดในการควบคุมรัฐบาลและประชาชน ประชาชนจะเข้ามาเกี่ยวดองหนองยุ่งกับการบริหารประเทศไม่ได้

ที่มาของฟาสซิสต์ คือ อิตาลี แปลว่า สหภาพ หรือสมาชิก หรือการรวมกัน

ฟาสซิสต์ต่างจากคอมมิวนิสต์ตรงที่ฟาสซิสต์ไม่ต้องการเป็นเจ้าของที่ดินหรือโรงงาน เพียงแค่ต้องการควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามแนวทางที่ผู้นำกำหนด ความมุ่งหมายสูงสุดของฟาสซิสต์ คือ การพัฒนากองทัพให้ไร้เทียมทาน สำหรับฟาสซิสต์แล้วถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่โรงเรียนทุกแห่งในประเทศจะต้องปลูกฝังเด็กว่าผู้นำเผด็จการของพวกเขาเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก ใครที่ต่อต้านผู้นำหรือลัทธิจะต้องถูกสังหาร และผู้นำฟาสซิสต์มักจะเป็นบุคคลซึ่งมียศสูงในกองทัพด้วย

เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการชาวอิตาเลียนนำเอาลัทธิฟาสซิสต์มาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1922 ตามความคิดของมุสโสลินี ฟาสซิสต์เป็นระบอบการปกครองที่รัฐบาลเป็นผู้ออกกฎหมาย กฎ ข้อบังคับหรือคำสั่งเพื่อควบคุมเศรษฐกิจของประเทศให้รวมเข้าสู่ศูนย์กลาง การกำหนดแนวทางการบริหารประเทศและการตัดสินใจในนโยบายต่างๆ ย่อมเป็นสิทธิขาดของผู้นำ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศในยุโรปได้นำเอาระบอบฟาสซิสต์ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรีย เยอรมนี หรือสเปน

ฟาสซิสต์มองว่า กองทัพเป็นสัญลักษณ์ของปวงชน หลายประเทศฟาสซิสต์จึงมีนักการทหารเป็นจำนวนมาก ในหนังสือ “The Doctrine of Fascism” ของมุสโสลินี มีประโยคหนึ่งระบุว่า “ฟาสซิสต์ไม่ได้เชื่อว่าสันติภาพมีจริงและไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมี เพราะมันไม่มีประโยชน์ เพียงสงครามเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศ”

รูปภาพนี้นำมาจาก https://en.m.wikipedia.org/wiki/Adolf_Hitler (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2017): อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ป็นนักการเมืองเยอรมัน เป็นผู้นำพรรคนาซีและเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีจากปี 1933-1945 และนำพาเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลก ครั้งที่ 2 หลังจากบุกโปแลนด์ ในปี 1939


3.ความหวาดระแวงนาซี
ขณะที่ฟาสซิสต์ถือกำเนิดขึ้นในอิตาลีและเริ่มแผ่ขยายรายล้อมไปทั่วยุโรป สำหรับเยอรมนีแล้ว ในระยะแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ชาวเยอรมันไม่พอใจรัฐบาลอย่างมากที่นำพาประเทศไปแพ้สงคราม ดังนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 1918 จึงเกิดการปฏิวัติขึ้นในเยอรมนี

ผลของการปฏิวัติครั้งนี้ทำให้ไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ต้องทรงลี้ภัยไปฮอลแลนด์และทรงสละราชสมบัติในเวลาต่อมา เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม 1919 ปรากฎว่าพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันชนะและได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 2 พรรค โดยมีฟรีดิช เอเบร์ท เป็นประธานาธิบดี แต่รัฐบาลชุดนี้กลับไม่ได้รับความนิยมชมชอบนัก มีความพยายามที่จะยึดอำนาจทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในห้วงช่วงเวลานั้น หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญที่ร่วมกันร่างโดยสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติที่เมืองไวมาร์ก็เสร็จสมบูรณ์ในปลายปี 1919 ส่งผลให้นับแต่ปี 1919-1933 สาธารณรัฐเยอรมนีก็ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาธารณรัฐไวมาร์

สาธารณรัฐไวมาร์ ขาดเสถียรภาพมาตั้งแต่ต้น และเมื่อต้องเผชิญกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างหนักในช่วงปี 1929 ฐานะของสาธารณรัฐแห่งนี้ก็ง่อนแง่นแคลนคลอน กระทั่งสุดท้ายเมื่อถึงปี 1933 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จากพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ (พรรคนาซี) ก็ได้ปกครองประเทศและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบฟาสซิสต์

แม้นาซีจะเป็นรูปแบบหนึ่งของลัทธิฟาสซิสต์ แต่หลักการสำคัญที่สุดที่ทำให้นาซีดูผิดแผกแตกต่างจากฟาสซิสต์ คือ การกีดกันเชื้อชาติ กล่าวคือ นาซีมองว่า มนุษย์แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มอารยันและกลุ่มที่ไม่ใช่อารยัน นาซีเชื่อว่าอารยันเป็นชาติพันธุ์บริสุทธิ์เหมาะแก่การปกครองโลก ส่วนชนชาติอื่นเป็นชนชาติที่ต่ำกว่าเหมาะแก่การเป็นทาสของอารยัน เช่น สลาฟ นิโกร และยิว เป็นต้น

ในระยะแรกก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุ ฝ่ายสัมพันธมิตรต่างมองและหวาดกลัวอิทธิพลและการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในตะวันตก มากกว่าการกำเนิดขึ้นของลัทธิฟาสซิสต์และนาซี ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรมองว่ารับมือได้สบายๆ ดังนั้น เพื่อป้องกันการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงยอมตำข้าวสารกรอกหม้อไปก่อน เพราะยังไม่พร้อมจะเข้าไปเกี่ยวดองหนองยุ่งกับสงครามมากนัก โดยหันมาเจรจากับนาซีเพื่อให้ช่วยเป็นกำแพงชั่วคราวในการป้องกันการลุกลามของคอมมิวนิสต์

โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสที่ดำเนินแผนการเอาใจเยอรมนีในช่วงปลายทศวรรษ 1930 เพื่อหวังให้ฮิตเลอร์ช่วยต้านอำนาจของคอมมิวนิสต์ โดยเยอรมนีได้รับข้อเสนอให้สามารถขยายพื้นที่ไปทางทิศตะวันออกได้แบบไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร แต่แผนการดังกล่าวกลับก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงตามมา เนื่องจากมันได้เพิ่มความทะเยอทะยานให้ฮิตเลอร์มากขึ้น บวกกับความใฝ่สูงจนเกินศักดิ์ของฮิตเลอร์เองเมื่อได้รับโอกาสเขาจึงดำเนินการผนวกแผ่นดินต่างๆ ด้านทิศตะวันออกมาเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีอย่างเมามัน จนในที่สุดเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถทนได้กับการแผ่ขยายดินแดนของเยอรมนีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องราวไฟลามทุ่ง จึงได้ยื่นคำขาดให้เยอรมนียุติการดำเนินการดังกล่าว เมื่อเยอรมนีไม่ยอมยุติ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงต้องประกาศสงครามกับเยอรมนี
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  อาวุธยุทโธปกรณ์ การเมือง ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่