ผู้พิพากษาอาวุโส สุดทน!! พิธีกรโทรทัศน์ เสนอข่าว ครูแพะขับรถชนคนตาย

วันพฤหัสบดี ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560, 15.24 น.

6 ม.ค. 60 จากกรณี นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตครูโรงเรียนบ้านม่วงไข่ประชาราษฎร์สงเคราะห์ ต.ด่านม่วงคำ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ถูกตัดสินจำคุกในคดีถูกกล่าวหาขับรถชนคนตาย ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ และได้ร้องเรียนถึงกระทรวงยุติธรรมขอให้รื้อคดี โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิด จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นั้น

ด้าน นายไพรัช เกิดศิริ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต  ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Pairat Kerdsiri" ถึงกรณีดังกล่าวว่า "คนไทยจะชอบแต่ดราม่าหรือ ?

นักกฏหมายหลายฝ่ายอึดอัดนะ...  เห็นท่าจะต้องถ่ายทอดต่อให้ฟังบ้างครับ

เห็นพิธีกรโทรทัศน์อย่างน้อยสองช่อง กำลัง"มัน" กับการเสนอข่าว ครูแพะ แล้วรู้สึกอึดอัดใจ ขอคุยเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีนี้บ้าง เผื่อจะทำให้พิธีกรผู้มีจอโทรทัศน์เป็นเครื่องมือจะได้เกิดความคิดที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ตามกระบวนการที่เขาวางไว้ในกฎหมาย

exclaimเรื่องแรก คือ การไม่ให้การในช้นสอบสวน ผู้ต้องหาจำนวนมากเข้าใจไปผิดๆว่า การไม่ให้ปากคำในชั้นสอบสวนจะเป็นประโยชน์แก่คดีของตน ผมเข้าใจว่า คดีที่มีผู้แนะนำให้ผู้ต้องหาไม่ให้ปากคำนั้นมักจะเป็นคดีที่ผู้ต้องหามีส่วนพัวพันอยู่ในคดี และทุกคดีประเภทนี้ก็มักเป็นเช่นนั้น เพราะเกรงว่าเมื่อให้ถ้อยคำไปแล้ว พนักงานสอบสวนจะเอาข้อที่พัวพันนั้นไปหาแง่มุมให้เป็นโทษแก่ตนในภายหลัง จึงใช้วิธีหุบปากไว้ก่อน ความจริงแล้ว การไม่ยอมให้การในชั้นสอบสวนนั้นเป็นพิรุธอยู่ในตัวเอง ว่าตนผิด จึงไม่กล้าแสดงเบาะแสใดๆ ออกมาเพราะกลัวจะถูกจับได้ และผู้ต้องหาประเภทนี้ หากพิสูจน์ในภายหลังได้ว่าผิด ศาลจะลงโทษโดยไม่ลดหย่อน

ความจริงแล้ว หากผู้ต้องหาที่บริสุทธิ์จริงๆ โดยเฉพาะเมื่ออ้างว่าตนไม่อยู่ในที่เกิดเหตุก็ควรจะต้องให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนไปโดยตรง แล้วหาพยานมาประกอบ เมื่อให้ปากคำไปโดยสุจริตใจเช่นนั้นแล้ว ก็จะยกขึ้นอ้างในภายหลังได้ว่าได้เคยบอกไว้เช่นนั้นแล้ว ความจริงอันบริสุทธิ คือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเช่นนี้ไม่มีใครจะยกขึ้นมาแกล้งให้เป็นอย่างอื่นไปได้ เมื่อถึงเวลาสืบพยานก็นำพยานมาแสดงต่อศาล ศาลจะเชื่อหรือไม่ก็อยู่ที่ดุลพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ล่วงพ้นไปจากหน้าที่ของอัยการและพนักงานสอบสวนแล้ว

การไม่ยอมให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เท่ากับไม่มีข้อต่อสู้ใดๆไว้ให้ศาล พิจารณาในสำนวนเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์พิสูจน์ถีงองค์ประกอบความผิด ที่ถูกกล่าวหา ได้ครบถ้วนแล้ว ศาลย่อมลงโทษได้ทันที ดังที่เป็นอยู่ และจะไม่มีสิ่งใดที่จะช่วยคานน้ำหนัก ผ่อนผันหรือสะกิดใจศาลในอันที่จะช่วยทำให้ข้อกล่าวหาเบาลงได้เลย คนที่บริสุทธิ์ จึงควรให้การกับพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง แต่ถ้าคิดว่า จะไม่ให้การ ก็เท่ากับคิดว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องและกำลังหาทางต่อสู้อยู่ก็ตามใจ คนในวงการกฏหมายเข้าใจเรื่องนี้ดีครับ เพียงชาวบ้านไม่รู้และหลงเชื่อตามๆ กันไปว่า การไม่ให้การจะเป็นข้อได้เปรียบในภายหลัง ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องสำหรับคนที่บริสุทธิและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิด

ขอย้ำอีกครั้งว่า สำหรับคนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่ได้อยู่ในเหตุที่เกิดนะครับ ส่วนคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนผิดจริงหรือไม่ จะไม่ให้การก็แล้วแต่จะพอใจ สุดแต่ใจจะเลือกเอาเองว่า ต้องการผลด้านใด จะสู้เพื่อเอาชนะให้ได้ หรือถ้าแก้ตัวไม่หลุดก็ต้องรับโทษหนัก

exclaimเรื่องที่สอง เท่าที่ติดตามดูจากจอโทรทัศน์ รู้สึกว่าพิธีกรที่ทำหน้าที่อยู่หน้าจอจะแสดงอาการออกนอกหน้า ว่าเชื่อพยานที่เพิ่งโผล่มาหลังเกิดเหตุเป็นปีๆแล้ว มากกว่าถ้อยคำพยานที่พยานได้ให้ไว้ในขณะใกล้เคียงเวลาเกิดเหตุ วิธืคิดเช่นนี้ นักกฏหมายเขาไม่คิดกัน เพราะการที่พยานมาพูดเอาหลังจากเวลาผ่านไปเป็นปีๆ แล้วนั้น พยานโกหก"ตοแหa"ได้ครับ ไม่ได้แปลว่าพูดตอนหลังแล้วจะเป็นความจริงแต่อย่างใด

เหตุผลทางกฏหมายขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ รวมถึงพยานหลักฐาน ทางวิทยาศาสตร และต้องเป็นพยานที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ เพราะขณะเกิดเหตุ พยานยังไม่มีโอกาสไปคิดหาเรื่องโกหกได้ ต่างจากเมื่อเวลาผ่านไปนาน ย่อมมีสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้ถ้อยคำวิปริตไปได้ หากินทางเป็นนักข่าวหรือพิธีกรรายการข่าว ก็น่าจะมีความรู้เรื่องพื้นๆ อย่างนี้บ้าง เป็นเรื่องของวิญญูชนแท้ๆ

exclaimเรื่องที่สาม คือในการต่อสู้คดีอาญาในศาล ย่อมมีที่ปรึกษากฏหมายอยู่แล้ว ข้อต่อสู้ต่างๆที่คิดว่ามีอยู่ในขณะนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องยกขึ้นกล่าวอ้างเสียในขณะต่อสู้คดี เพื่อให้ศาล ใช้ประกอบการพิจารณาไปในคราวเดียวกันนั้นเอง การกล่าวอ้างว่ามีพยานปรากฏขึ้นในภายหลังนั้น วิญญูชน -โดยเฉพาะพิธีกรรายการโทรทัศน์ ควรใช้วิจารณญาณด้วยว่า ควรเชื่อถือได้หรือไม่

ขอย้ำว่า การกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ หลังจากเวลาได้ผ่านมานานแล้วนั้น เป็นสิ่งน่าสงสัย คำพูดของคนนั้น พูดได้ตามใจชอบเพื่อประโยชน์ของตน เสกสรรปั้นแต่งได้ บอกว่าจะพาไปสวรรค์ก็ได้ เคยไปคุยกับพระอินทร์มาแล้วก็ยังมีคนมาอ้าง แถมยังมีคนเชื่อด้วย ความน่าเชื่อของคำพูดจึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานอื่นมาประกอบด้วย

exclaimเรื่องที่สี่ พิธีกรคนหนึ่ง ขอไม่เอ่ยชื่อ คนที่ดูอยู่คงรู้แล้ว พยายามซักพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนให้สัมภาษณ์แล้วว่า หลังเกิดเหตุพยานในคดีให้ถ้อยคำไว้ในสำนวนว่า "พยานขี่รถมาประสบเหตุ จึงลงไปดูและอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจน และไม่มีใครลงมาจากรถยนต์ จากนั้นรถก็ขับออกไปเลย" แล้วพยานคนนั้นไปให้การในศาลในภายหลังว่า เห็นคนขับเป็นผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่ลงมาดู พิธีกรพยายามคาดคั้นว่า ทำไมพนักงานสอบสวนจึงไม่ถามพยานในครั้งนั้นว่า เห็นคนขับหรือไม่ อะไรทำนองนั้น โดยพยายามจะให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนบกพร่อง

อันที่จริง ในเมื่อพยานบอกแล้วว่าไม่เห็นมีใครลงมาจากรถ ก็เท่ากับเป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้วว่า เขาไม่เห็นคนขับ หรือไม่เห็นใครทั้งสิ้น จะต้องให้ถามทำไมว่า เห็นคนขับหรือไม่ การซักถามประเด็นข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องถามกันโดยละเอียดทุกเรื่อง ถ้าถามพอให้เห็นได้แล้วว่ารูปเรื่องเป็นอย่างไร ได้ความเพียงพอแล้วก็ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องถามซอกแซกเหมือนที่ที่ปรึกษากฎหมายชอบถามกันเรื่อยเปื่อยในศาลโดยมิได้ทำให้ได้ข้อเท็จจริงอื่นใดเพิ่มขึ้นเลย (จนบางทีศาลท่านก็รำคาญ แต่คงไม่อยากขัดคอ)

เมื่อมีข้อเท็จจริงที่สรุปใจความได้เพียงพอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็ถือว่าพอแล้ว คนอ่านสำนวนเขาเข้าใจได้ และเมื่อเบิกความศาลเข้าใจได้ ก็ถือว่าสมประโยชน์แห่งหน้าที่แล้ว เมื่อจำเลยไม่ยอมให้การและยกเป็นประเด็นข้อต่อสู้ขึ้นเองในภายหลังก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องหาพยานมาต่อสู้ด้วย เมื่อผู้ต้องหาไม่ยอมให้การก็ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องไปหาพยานอื่นใดต่อไปอีกเพื่อช่วยผู้ต้องหา หากจะให้พนักงานสอบสวนตั้งประเด็นที่จะสอบพยานฝ่ายผู้ต้องหา ผู้ต้องหาก็ต้องให้การเพื่อตั้งประเด็นไว้ก่อน นี่เป็นเรื่องธรรมดา สามัญสำนึกทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องเรียนกฏหมาย มิฉะนั้นก็ควรจะให้การในชั้นสอบสวนไว้ก่อนดังกล่าวข้างต้น

เรื่องที่ห้า อยากให้สังคมช่วยกันคิดถึงความสูญเสียของผู้เสียหายบ้าง เวลามีเหตุเช่นนี้ สังคมมักจะเกิดอาการ "ดรามา" หรือเกิดอารมณ์สะเทือนใจไปกับผู้ต้องหา โดยลืมไปแล้วว่า ผู้เสียหายนอนรอความเป็นธรรมอยู่ในโลง หรือกลายเป็นเถ้าและกระดูกอย่างวังเวงไปแล้ว

สังคมกำหนดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายอยู่แล้ว คนที่ทำความผิดจริงก็ควรจะรับสารภาพหรือให้การที่เป็นประโยชนเสียตั้งแต่ชั้นสอบสวน หากเชื่อว่าตนไม่ผิดก็ควรให้การในเรื่องจริงว่าตนอยู่ที่ไหนในขณะเกิดเหตุ หรือหากมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง และไม่แน่ใจว่าตนผิดหรือไม่ จะไม่ให้การหรือรอให้การต่อศาลอย่างที่ชอบกันนัก ก็ตามใจเถิด ผิดพลาดขึ้นมาแล้วจะมาโวยวายภายหลังไม่ได้ เพราะระบบกฎหมายเปิดทางให้ท่านอยู่แล้ว เมื่อตัดสินใจเลือกใช้หนทางที่ผิดพลาดก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร และคง ต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะรอรับผลอย่างไร และจะปฏิเสธไม่ได้

สื่อสารมวลชนเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและความคิดของประชาชน ท่านอาจมีสิทธิคิดและทำอย่างไรก็ได้ด้วยความมีอิสระเสรีที่ท่านต้องการ แต่ต้องไม่ลืมว่า ขณะที่ท่านได้ร่ำเรียนหรือสร้างตัวขึ้นมาจนมีชื่อเสียงในศาสตรด้านสื่อมวลชนนั้น กระบวนการทางกฏหมายเขาก็มีศาสตร์ที่เขาร่ำเรียนกันมาและใช้กันอยู่เป็นหลักอันหนึ่งในสังคมมาถึงบัดนี้ เป็นร้อยปีเศษแล้ว เรื่องคดีความทางศาลไม่ใช่บทละครเรียกน้ำตาหรือเพื่อความบันเทิง หรือสะใจแก่ผู้ชมครับ ท่านพิธีกร"

Cr. http://www.naewna.com/local/253141
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
คุณกนกตอบว่า

ถ้าพิธีกรที่คุณระบุ หมายรวมถึงพวกผมที่ตามข่าวนี้ด้วย ผมจะบอกว่า คุณยังตามดูเรา "ไม่ละเอียด"

"การไม่ให้การในชั้นสอบสวน" ครูจอมทรัพย์บอกกับเราในเก็บตกจากเนชั่นว่า ตำรวจไม่ฟัง เน้นแต่หลักฐาน ทะเบียนรถ บค 56 สกลนคร กับ การให้นายประพัฒน์ (คนซื้อรถจากครู) เซ็นลงนามผูกมัดครู จุดนี้ ทำให้ครูมึน..พบทางตัน ร้องไห้ตอนที่ไปถามนายประพัฒน์ ทำไมเซ็นแบบนั้น เขาบอกว่า ตำรวจขอให้เซ็น เมื่อตำรวจมีท่าทีเชื่อว่าเธอทำ ไม่ฟังเธอ เธอจึงขอไปให้การในชั้นศาล อยู่ดีๆผู้ถูกกล่าวหา คงไม่หุบปากเฉยๆ ถ้าตำรวจจะฟังเธอบ้าง

คุณบอกว่าในสำนวนตำรวจระบุ "พยานขี่รถมาประสบเหตุ จึงลงไปดูและอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจน และไม่มีใครลงมาจากรถยนตร์ จากนั้นรถก็ขับออกไปเลย" อันนี้ไม่ใช่แล้วครับ คุณเติมถ้อยคำที่ได้จากการฟังพิธีกรสัมภาษณ์ตำรวจ เพราะตำรวจ บอกกับเราชัดเจนว่า เน้นที่ทะเบียนรถตามที่พยานบอก ไม่ไต่ถามถึงคนขับรถจากพยานเลย ผมยังถามว่า เป็นตำรวจไปสอบสวนคดีรถชนคนตาย ทำไมไม่ถามพยานว่า เห็นคนขับหรือเปล่า มันผิดวิสัยการเข้าไปคลี่คลายคดีนี้มั๊ย ตำรวจยังตอบเน้นแต่เรื่องทะเบียน และสีรถอยู่เลย เมื่อพยานไปให้การในชั้นศาลว่า เห็นคนขับรถ เป็นผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่ ลงมาจากรถ...ตำรวจกลับบอกว่า พยานกลับคำให้การ

"อยากให้สังคมช่วยกันคิดถึงความสูญเสียของผู้เสียหายบ้าง" คุณโพสต์แบบนี้ เหมือนให้คนอ่านเข้าใจว่า พิธีกร กับสื่อ ละเลยคนตาย เหมือนเบี่ยงประเด็นไปจาก คนบริสุทธิ์ต้องไปติดคุก การที่เราต้องการพิสูจน์ว่า "แพะ - ไม่แพะ" ไม่ได้หมายถึง เรามองข้ามผู้เสียหาย มันคนละประเด็น สังคมกำลังต้องการรู้ความจริงว่า ครูคนนี้เป็นแพะหรือไม่? ถ้าจะว่าไป สถานภาพตอนนี้ของตำรวจ อัยการ กับศาล ก็อยู่ในซีกเดียวกัน ถ้าครูเป็นแพะจริงๆ แล้วติดคุกมาแล้ว ปีครึ่ง! ศาลต้องลงมาช่วยตอบคำถามหรือไม่ว่า คนบริสุทธิ์เข้าไปติดคุกได้อย่างไร?

แต่อย่ามาเขียนทำนอง สื่อรู้สึก "มัน" กับการเสนอข่าวนี้ หรือ คนไทยชอบ "ดราม่า" หรือ? มันคนละเรื่องครับ
ความคิดเห็นที่ 7
เพิ่งรู้นะนี่ การขอให้การในชั้นศาล ถูกตีความว่ามีพิรุธ
ไอ้เราก็นึกว่าเขาดูหลักฐานทุกอย่าง แล้วพิจารณาหลักฐานด้วยหลักกฎหมายโดยปราศจากอคติ เรื่อยมา

ไม่นึกว่าเขาจะไม่รู้ว่า ประชาชนไทยน่ะกลัวและไม่ไว้ใจตำรวจไทย
จึงขอไปให้การกับผู้ที่เขาเลือกว่า ไว้ใจได้กว่า กลับกลายเป็นมีพิรุธไป

ทำไมหนังฝรั่งเวลาตำรวจจับผู้ร้าย ตำรวจจะท่องว่า "ท่านมีสิทธิที่จะไม่พูด คำพูดขอบท่านจะผูกพันในขั้นศาล.... บลาๆๆๆ"
แต่เมืองไทยกลับชอบที่จะให้พูดๆๆๆ
ไม่เข้าใจ ทำไมไม่เหมือนกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่