สมมุติบัญญัติ ไม่ใช่ติต่างที่ไม่มีจริงแล้วบัญญัติขึ้นมาเอง

🌷 คำบัญญัติและคำสมมุติในพระพุทธศาสนา

คำบัญญัติและคำสมมุติ เป็นกระบวนการทางคำพูด ที่ตั้งขึ้นสำหรับเรียกขานสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในโลก เพื่อใช้เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหนึ่ง ให้อีกบุคคลหนึ่งเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องของโลก

ดังนั้น ทุกคนจึงต้องใช้ คำบัญญัติ-สมมุติ และต้องจดจำไว้สำหรับพูดให้เป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด จึงจะพูดกันรู้เรื่อง ด้วยเหตุนี้ คำบัญญัติ-สมมุติ ทั้งหลาย จึงต้องตั้งขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ คือ

๑.มีเหตุผล
๒.มีคำไวพจน์อื่นที่ใช้พูดแทนกันได้
๓.พันธุ คือ บัญญัติให้เป็นพวกๆไม่ปะปนกัน
๔.เป็นทวินิยม เพื่อให้เห็นสิ่งคู่กันโดยตรงกันข้าม

🌻 คำบัญญัติ-สมมุติ ย่อมอยู่ในหลักทวินิยม

คำบัญญัติ-สมมุติทั้งหลาย ที่ใช้เรียกหรือพูดถึงวัตถุสิ่งของและอารมณ์ต่างๆ นั้น เป็นเรื่องฝ่ายโลก ดังนั้น จึงต้องอยู่ในหลักทวินิยม จึงจะพูดกันรู้เรื่องชัดเจน

หลักทวินิยมนี้ เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ทรงดำริและปรารภก่อนตรัสรู้ จนนำพระองค์ให้ได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อครั้งเสด็จประพาสสวนนั้น ได้ทรงพบเทวทูตสี่ มีคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และ พระสมณะตามลำดับ แล้วได้ทรงดำริปรารภด้วยพระปรีชาญาณตามหลักทวินิยมว่า

ตามธรรมดานั้น เมื่อมีของร้อน ก็ย่อมมีของเย็นแก้ เมื่อมีที่มืด ก็ย่อมมีที่สว่างแก้ ดังนั้น เมื่อมีแก่ มีเจ็บ และมีตาย ก็ย่อมต้องมีที่ที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แก้เช่นเดียวกันด้วย

สิ่งที่แก่ เจ็บ ตายนั้น พระองค์ทรงพบและรู้จักแล้ว แต่สิ่งที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนั้น พระองค์ทรงยังไม่พบและไม่รู้จัก แต่ทรงเชื่อว่าจะต้องมีคู่กันด้วย

ครั้นอนุมานด้วยพระปรีชาญาณว่า หลักปฏิบัติตามแบบพระสมณะเป็นวิธีเดียว ที่สามารถนำพระองค์เข้าไปพบ สิ่งที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ซึ่งเรียกว่า "อมตธรรม" ได้ จึงทรงละพระราชสมบัติและผนวชเพื่อปฏิบัติธรรม จนกระทั่งได้ทรงพบ "อมตธรรม" คือ จิตอันบริสุทธิ์ ในที่สุดสมพระประสงค์

คำบัญญัติสมมุติในหลักทวินิยมอื่นๆ ได้แก่ สัตว์ ตรงข้ามกับ พุทโธ, อนัตตา ตรงข้ามกับ อัตตา เป็นต้น

สัตว์ แปลว่า ผู้ติดข้อง (เราเรียกจิตที่ยึดติดหรือข้องอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ว่าเป็นสัตว์)

พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่ติดข้อง (เมื่อปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ จนจิตเลิกติดข้องกับอารมณ์แล้ว ก็ไม่ใช่ สัตว์ อีกต่อไป กลายเป็น พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในที่สุด).

🌷 คำบัญญัติและคำสมมุติ

🌻 คำบัญญัติ คือ การกำหนดหรือตั้งคำพูด เพื่อใช้เรียกขานบรรดาวัตถุหรือสิ่งของที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ใช้พูดจากันรู้เรื่อง หมายความว่า ภาษาคำพูดทั้งหมดเป็นบัญญัติทั้งสิ้น เมื่อบัญญัติคำใดขึ้นก็ตาม จะต้องมีสิ่งรองรับคำบัญญัตินั้นอยู่ก่อนแล้ว ใครจะคิดตั้งเป็นบัญญัติคำพูดขึ้น โดยที่ไม่มีวัตถุหรือสิ่งของรองรับคำบัญญัตินั้นไม่ได้เลย

ดังนั้น คำบัญญัติ จึงต้องมีภายหลังวัตถุหรือสิ่งของ เช่น ถ้วยแก้ว เป็นต้น จะต้องมีผู้ประดิษฐ์ภาชนะที่ทำด้วยแก้วสำหรับใส่น้ำขึ้นก่อน แล้วจึงบัญญัติชื่อเรียกภาชนะอันนี้ว่า “ถ้วยแก้ว”ในภายหลัง

แล้วต่างคนต่างก็ยอมรับและจดจำความหมายของคำว่า “ถ้วยแก้ว” ไว้ ถ้าใครเอ่ยถึงคำที่ได้บัญญัติว่า “ถ้วยแก้ว” ขึ้นเมื่อใด ก็ต้องรู้ว่า ผู้เอ่ยหมายถึงอะไร? รูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร?

🌻 คำสมมุติ คือ การกำหนดหรือตั้งบัญญัติซ้อนบัญญัติลงไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้จำกัดชัดลงไปว่า หมายถึง วัตถุชิ้นนั้น สิ่งนั้น หรือหมายถึงคนๆ นั้น ไม่ใช่หมายถึงวัตถุชิ้นอื่น สิ่งอื่น หรือคนอื่น ซึ่งอยู่ในบัญญัติคำเดียวกัน หรือมีชื่อเรียกอย่างเดียวกัน

เช่น คำสมมุติ พ่อแม่ สามีภรรยา ลูกหลาน พระราชา พระราชินี เป็นต้น คำสมมุติที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ มาจากคำบัญญัติเดิมว่า “คน” เหมือนกัน แต่เพราะคนๆ นั้น ได้ทำหน้าที่ หรือมีภาระในการให้กำเนิดแก่บุตร ฝ่ายชายก็เรียกว่าพ่อ ฝ่ายหญิงก็เรียกว่าแม่ ดังนี้เป็นต้น

🌻 บัญญัติ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

๑.อัตถบัญญัติ ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้เนื้อความ รูปร่าง สัณฐาน กิริยาอาการของสิ่งที่ได้ตั้งชื่อนั้นๆ ไว้ เช่น ต้นไม้ เมฆ น้ำ เดิน สวย เป็นต้น

๒.สัททบัญญัติ ตั้งเป็นถ้อยคำสำหรับใช้พูดจากัน ตามที่ได้ตกลงยอมรับว่าหมายถึงอะไรในตอนที่ตั้งเป็นอัตถบัญญัติ เมื่อได้ยินเสียงกล่าวขานออกมาอย่างใดก็เข้าใจ และรู้เรื่องตามนั้น เช่น ได้ยินเสียงคนพูดออกมาว่า “ต้นไม้” ผู้ได้ยินก็สามารถนึกรูปร่างของต้นไม้ได้ถูกต้อง ตรงกับที่ผู้พูด หมายความถึงได้ เป็นต้น

คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อัตตา นิพพาน และคำที่เรียกว่า ปรมัตถ์, เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นคำบัญญัติ และต้องมีสภาวะรองรับทั้งสิ้น จะบอกว่าคำบัญญัติคำหนึ่งคำใดเหล่านี้ ไม่มีสภาวะรองรับย่อมไม่ได้ ถ้าหากหยุดพูดกล่าวขานเสียเมื่อใด คำบัญญัตินั้นก็ดับไป แต่วัตถุหรือสิ่งนั้นๆ อันเป็นสภาวะรองรับยังคงมีอยู่โดยปกติธรรมดา มิได้หายสูญไป ตามบัญญัติที่เลิกพูดถึงไปด้วย.



สมมุติบัญญัติ มีบัญญัติ (กำหนด) ขึ้นมาเพื่อเอาไว้ใช้เรียกหาในสิ่งนั้นมีอยู่จริงในโลก เป็นการกำหนดคำพูดขึ้นมาไว้เรียกหาได้ตรงกัน ไม่ใช่มีไว้ให้เพิกถอน เพิกถอนไม่ได้ การสมมุติอะไรขึ้นมา สิ่งนั้นต้องมีอยู่จริง ถึงเพิกถอนคำพูดนั้นไป สิ่งนั้นก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น

เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรม

ธรรมภูต ภูตแห่งธรรม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่