JJNY : "เหนื่อย".....แบงก์คุมเข้มลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรใหม่‘เคทีซี-กรุงศรีฯ’ยอดร่วง เหตุติดบูโร-หนี้สูง

กระทู้คำถาม
ธุรกิจบัตรเครดิตยันคุมอยู่เอ็นพีแอล-หนี้ตกชั้น เผยบัตรใหม่ยอดร่วง เหตุลูกค้าแบกหนี้เกินเกณฑ์ขั้นตํ่าและติดเครดิตบูโร “เคทีซี” เกาะติดลูกค้าใหม่ใช้จ่าย-ตามลูกค้าเก่าชำระหนี้ หลังหนี้เสียขยับ เดินหน้าอัดโปรแกรมกระทุ้งยอดใช้จ่าย ส่วน “กรุงศรีอยุธยา” ลั่นให้ทีมงานคอลเลกชันกลับมาตามหนี้ต่อ

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(เคทีซี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือผิดนัดชำระตั้งแต่ 31-90 วัน ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.3% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 2.0% มาอยู่ที่ 2.1%

ทั้งนี้ภาพรวมหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษและเอ็นพีแอลยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ แต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก บริษัทจึงยังต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของลูกค้าเก่าจะดูแลการชำระหนี้ ส่วนลูกค้าใหม่จะดูในเรื่องของการใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending)

อย่างไรก็ตามบริษัทไม่มีการปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด แต่ด้วยคุณภาพของลูกค้าที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การอนุมัติ ส่งผลให้ยอดการอนุมัติบัตรใหม่ตกลงเหลืออยู่ที่ 44-45% จากปีก่อนอยู่ที่ 49-50% เนื่องจากลูกค้ามีภาระหนี้ต่อรายได้ที่สูงกว่าเกณฑ์และไม่ผ่านเครดิตบูโร

นางพิทยา กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าบัตรใหม่ 4 แสนใบ ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกสามารถอนุมัติบัตรไปแล้วประมาณ 3 แสนใบ คาดช่วง 2 เดือนที่เหลือจะอนุมัติได้อีก 5-6 หมื่นใบ ส่งผลภายในสิ้นปีฐานบัตรเคทีซีจะอยู่ที่ 2.1 ล้านใบ หรือคิดเป็นสมาชิก 1.5-1.6 ล้านบัญชี

สำหรับยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วง 2 เดือนสุดท้าย บริษัทมองว่ากลุ่มรายได้ 5 หมื่นบาทต่อเดือนยังคงมีกำลังซื้ออยู่ แม้ว่ายอดใช้จ่ายในช่วง 10 เดือนแรกจะยังขยายตัวน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปีเติบโต 15% คิดเป็นยอดใช้จ่ายอยู่ที่ 1.65-1.7 แสนล้านบาท ปัจจุบันทำได้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยยอดใช้จ่ายอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน เติบโตประมาณ 10% จากปีก่อนยอดใช้จ่ายอยู่ที่ 1.45 แสนล้านบาท ส่วนแบ่งตลาดของ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรปรับขึ้นจาก 10% เป็น11%

“ภาพรวมเชื่อว่ายอดใช้จ่ายจะทยอยเติบโตเพิ่มขึ้น ประกอบกับบริษัทจะมีโปรแกรมเข้าไปรุกตลาดถี่ขึ้น ทั้งหมวดร้านอาหาร ช็อปปิ้ง ซื้อของขวัญ และประกันที่จะมีดีมานด์มากขึ้นช่วงปลายปี โดยจะยังใช้เรื่องของคะแนนสะสมเป็นกลยุทธ์หลัก เนื่องจากหมวดการใช้จ่ายกลุ่มนี้ยังคงมีอัตราการเติบโตได้ดีขยายตัวกว่า 20% สูงกว่าหมวดอื่นๆ ที่เติบโตเฉลี่ย 10%”

ด้านนางสาววรรณวิมล กนกธนาพร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ให้พนักงานติดตามทวงถามหนี้(Collection) หยุดติดตามหนี้หรือส่งข้อความเตือนลูกค้า เนื่องจากไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่ควรเรียกเก็บเงิน อาจมีผลให้การชำระหนี้คืนล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อตัวเลขหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษและภาพรวมเอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากกลางเดือนนี้บริษัทได้เริ่มให้พนักงานกลับมาติดตามหนี้เป็นปกติแล้ว คาดว่าตัวเลขเอ็นพีแอลทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8-1.9%

ขณะที่ยอดการอนุมัติปรับตัวลดลงจากระดับ 40-45% ในปีก่อนเหลือประมาณ 40% เป็นผลมาจากบริษัทเพิ่มความเข้มงวดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จึงทำให้สัดส่วนการอนุมัติบัตรปรับลดลง ส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านจะเป็นเรื่องของภาระหนี้ต่อรายได้ที่เกินกำหนดที่ 40% โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มบัตรใหม่อยู่ที่ 2 แสนใบ คาดว่าภายในสิ้นปีน่าจะสามารถทำได้เป้าหมาย จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าบัตรกรุงศรีอยุธยาอยู่ที่ 1.9-2 ล้านใบ

ส่วนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงที่เหลือปีนี้ แม้ว่าจะชะลอการโปรโมตไปในช่วงเดือนก่อน แต่หลังจากนี้บริษัทจะทยอยเริ่มทำแคมเปญการตลาด ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายผ่ายบัตรที่ชะลอตัวน่าจะกลับมาดีขึ้น ประกอบกับยังเห็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน หรือกลุ่มที่มีรายได้ 7 หมื่นบาทต่อเดือนยังมีกำลังซื้อและใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ โดยปัจจุบันยอดใช้จ่ายบัตรมีอัตราการเติบโตประมาณ 5-6% คิดเป็นเม็ดเงินราว 1 แสนล้านบาท จากเป้าหมายอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าเล็กน้อยในช่วง 1-2 เดือนที่เหลือ แต่เชื่อว่าน่าจะใกล้เป้าเพราะจะมีการเติบโตในกลุ่มท่องเที่ยวและประกันเข้ามาในช่วงปลายปี

“ตอนนี้ตัวเลขเอ็นพีแอลยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แม้เราจะหยุดทวงถามไปเดือนหนึ่ง อาจจะมีผลอิมแพ็กต์บ้าง แต่คิดว่าสัดส่วนหนี้ตกชั้นและเอ็นพีแอลคงไม่ได้เพิ่มแบบมีนัยสำคัญ ส่วนหมวดยอดใช้จ่ายจะเห็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ประกันและท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 – 23 พฤศจิกายน 2559
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่