ชาวนาอีสานสุดเจ๋ง! วางตาข่ายดักปลากลางอากาศ

"ศาสตร์ในการอ่านใจปลาของชาวนาอีสาน เทคนิคพิเศษที่ใช้ในการจับปลาช่วงต้นฤดูหนาว การหาอยู่หากินแบบเรียบง่ายตามวิถีเกษตรกรสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารแบบไทบ้าน"

เป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับผมที่อยากเล่าแลกเปลี่ยน ที่ไหนมีวิธีการดักปลาแบบแปลกๆ นำมาแลกเปลี่ยนให้ทราบบ้างก็ได้นะครับ

เป็นภาพที่ได้จากการลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดศรีสะเกษ ผมมีโอกาสได้ติดตามชาวนาท่านหนึ่งเพื่อไปเอาปลาที่ทุ่งนา ระหว่างเดินก็ได้สนทนาแลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามประสา



หญิงชราท่านนี้เป็นชาวนาที่อาศัยอยู่ที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ท่านเล่าว่า "ที่ผ่านมาก็ทำนาเหมือนกับชาวนาคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ใช้วิธีการหว่านข้าวเมล็ด เพื่อกระชับเวลาในการทำนาให้สั้นลง แต่ปีนี้ทดลอง "ทำนาดำต้นเดียว" เป็นเทคนิคที่ได้จากนักพัฒนาเอกชนแนะนำ สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าแปลงที่ทดลองข้าวเขียวงามมากกว่าแปลงอื่น ปีนี้ทดลองเพียง 2 งานเท่านั้น  พอเห็นข้าวเขียวงามก็รู้สึกดี ชาวบ้านที่ผ่านไปมาเห็นถึงกับเอ่ยปาก "ผีบ้ามันคือเฮ็ดนาข้าวได้งามแท้" แต่เขาก้ไม่ได้มาอะไรมากมาย ปีนี้ตั้งใจจะเก็บข้าวจากแปลงที่ทดลองไว้เป็นเมล็ดพันธ์ุ และในปีหน้าจะขยายแปลงเพิ่มขึ้นแน่นอน"



ระหว่างที่เดินไปคุยไป มั่นใจว่าแปลงข้าวไม่มีการใช้สารเคมี มองเห็นผักบุ้งยอดอ่อนมากมายบนคันนา เป็นผักบุ้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมีบำรุงให้งาม ไม่มีสารเคมีกำจัดแมลง



ผมเก็บผักบุ้งมาหนึ่งกำใหญ่ จินตนาการถึงผัดผักบุ้งไฟแดงบนจานพร้สำหรับกินกับข้าวสวยอุ่นๆ (หิว 555+)



เมื่อเดินลงไปในแนวคันนา ถึงบริเวณจับปลาเห็นตาข่ายสีขาวที่ถูกดึงเป็นแนวยาวบนคันนา ตอนแรกก็คิดว่าเขาวางไว้ดักหนู หรือนกที่มากินเมล็ดข้าว แต่ไม่เลยครับ มันคือ ตาข่ายสำหรับจับปลา อ่านไม่ผิดนะครับ "สำหรับจับปลา"

"ป๊าดดดด แม่! ปลาอยู่นี้มันเรียนกายกรรมมาจากไส มันคือนขึ้นมาได้" ผมถามเป็นภาษาอีสาน
คำตอบที่ได้คือ "บ่หว่าแหล่ว ขึ้นมาติดเต็มตินิบ่อึดแต่สิกิน" พร้อมกับเสียงหัวเราะ



ตอนหลังท่านอธิบายต่อว่า "ช่วงนี้เปนช่วงน้ำเริ่มลด ปลาจะพยายามหาแหล่งน้ำใหม่สำหรับอยู่อาศัย ลมที่พัดแรงช่วงฤดูหนาวจะทำให้ปลากระโดดขึ้น ตาข่ายที่วางไว้จึงมีไว้เพื่อจับปลา"



"ปลาช่อน" ภาษาอีสานเอิ้น "ปลาข่อ" เด้อครับ



นอกจากปลาตัวใหญ่ที่ติดตาข่ายแล้ว ยังมีการวางลอบสำหรับดักปลาในน้ำด้วย วางง่ายๆ บริเวณร่องน้ำ และใช้หญ้าวางคลุมด้วนบน ท่านบอกอีกว่า "แต่ละครั้งก็เอาปลากลับเาที่พอกัน ปลาที่เหลือในลอบก็ปล่อยไว้ที่นี่ คนอื่นผ่านมาเขาก็เอาไปกินบ้างก็ไม่เป็นไร ขอแค่เทปลาไปแล้ววางลอบลงน้ำให้คืน"





ปลาที่ได้จากการวางลอบดัก ขนาดไม่ใหญ่มากครับ ส่วนใหญ่เป็นปลาหมอ ปลาดุก และปลาช่อนตัวเล็กๆ ครับ



แน่นอนแหละครับมาถึงขั้นนี้แล้ว ปลาที่ได้เหมาะสุดสำหรับการนำไปทำอาหารรับประทานตอนสดใหม่ ท่านแนะนำให้ใช้ไม้ไผ่แหลมเสียบปลาหมอโรยเกลือไปย่างไฟอ่อนๆ สุกตามต้องการ บางคนอาจย่างแล้วนำไปสับทำก้อยคลุกมดแดงสุดแสนอร่อย



ส่วนปลาช่อนก็นำไปย่างบนเหล็กย่างเช่นกัน กลิ่นหอมลอยเตะจมูกเลยที่เดียว นั่งไป ย่างไป พญาธิในท้องก็ประท้วง



ปลาสุก ข้าวเหนียวพร้อม ผักบุ้งล้างสะอาด (ไม่ต้องเอาไปผัดให้เสียเวลา) เรียกทุกคนมาแจมด้วยกัน ช่างเป็นความอร่อยที่หาได้ยาก ภัตราคารหรูไม่มีบรรยากาศแบบนี้แน่นอน



ที่ขาดไม่ได้คือ เมนูตำบักหุ่ง ปลา-นัวๆ สูตรต้นตำหรับอีสาน โอ๊ย! พี่น้องเอ๊ย แซบคัก



นี่แหละครับ ความสุขแบบคนอีสาน

(ไผ่มีเรื่องราวดีๆ กะเอามาแบ่งปันกันแน่เด้อพี่น้อง)

สามารถติดตามเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่แฟนเพจ: ชาวประมงพื้นเมือง

ตามลิ้งด้านล่างนี้


https://www.facebook.com/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87-1763159507235652/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่