เที่ยวไปกินไป by laser : ทำกินกันเอง : น้ำอัญชัน

ที่บ้านปลูกอัญชัน หรือ Butterfly Pea ไว้หลายกระถาง ช่วงนี้หน้าฝนออกดอกเต็มต้นกันทุกวัน

เดิมปลูกไว้ 3 สี คือ สีน้ำเงิน สีครามและสีขาว แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองสี คือ สีน้ำเงินกลีบเดี่ยว



สีน้ำเงินกลีบซ้อน



และสีขาวกลีบเดี่ยว ซึ่งนาน ๆ จะออกดอกสักครั้งหนึ่ง



ดอกอัญชันสีน้ำเงิน เป็นสีที่พบมากที่สุด มักพบเห็นขึ้นตามริมรั้ว

ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ กล่าวว่าต้นอัญชันสามารถใช้เป็นยาได้ตั้งแต่ ราก ลำต้น ใบ ดอกและเมล็ด

และกล่าวถึงดอกอัญชันว่า มีสาร “แอนโทไซยานิน” (Anthocyanin) ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต

ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ควรระมัดระวังการรับประทานร่วมกับยา

ที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด หรือ ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน และ warfarin

เป็นต้น เนื่องจากมีรายงานว่าสาร ternatin D1 ในดอกอัญชัน มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

ซึ่งอาจมีผลเสริมฤทธิ์กันจนเกิดอันตรายต่อร่างกาย แม้จะไม่มีโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ก็ไม่ควรดื่มต่อเนื่องนาน ๆ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



ดอกอัญชันสามารถกินสดได้ บางวันรดน้ำต้นไม้เด็ดกินไปด้วย

บางวันเอามาจิ้มน้ำพริก บางวันเอาไปชุบแป้งทอด บางวันใส่ตอนหุงข้าว

บางวันทำขนมชั้น แต่ที่นิยมทำกัน คือ เอาไปต้มน้ำเพื่อดื่ม



ต้มจนน้ำเดือด ต้มจนสีน้ำเงินในดอกอัญชันละลายอยู่ในน้ำเดือด จนกลีบดอกกลายเป็นสีขาว



มีคำแนะนำว่า เมื่อกรองเอาดอกไม้ออกแล้ว ควรดื่มทันที

ไม่ควรเก็บไว้นาน เพราะสารต้านอนุมูลอิสระ คุณค่าทางอาหาร และวิตามินต่างๆ จะเสื่อมสลายไป

ดอกอัญชันมีรสอ่อน น้ำต้มดอกอัญชันจึงมีรสอ่อนด้วย จึงนิยมใส่น้ำตาลเพิ่มรสหวาน



แต่นิยมกันมาก คือ การใส่น้ำมะนาวลงไปด้วย

มีน้ำมะนาวแช่แข็งเก็บไว้ช่วงมะนาวถูก แบ่งมาใส่ในน้ำดอกอัญชัน



นอกจากได้ความเปรี้ยวพิ่มความอร่อย ความสดชื่นและวิตามินซีแล้ว

ยังได้เห็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาตร์ ซึ่งใช้ทดสอบความเป็นกรดได้

เพราะทันที่ที่สีน้ำเงินของน้ำดอกอัญชัน สัมผัสกับน้ำมะนาวที่มีฤทธิ์เป็นกรด

สีน้ำเงินจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแผ่ไปตามการกระจายของน้ำมะนาว



ไม่มีสมการทางเคมีให้ดู แต่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า

น้ำอัญชันจากดอกอัญชันสีน้ำเงิน กลายสภาพจากน้ำเป็นกลาง กลายเป็นน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด



เทียบกับสีเดิม



หยอดน้ำมะนาวลงไปในแก้วอีกก้อน



ความเย็นของน้ำอัญชัน ทำให้ก้อนน้ำแข็งน้ำมะนาวละลายช้าลง





เทน้ำอัญชันมะนาวใส่อีกแก้ว



ลองใส่ เบกกิ้งโซดา (baking soda) ที่มีฤทธิ์เป็นด่างลงไป



สีม่วงของน้ำอัญชันมะนาวเริ่มเปลี่ยนกลับเป็นสีน้ำเงิน



เบกกิ้งโซดาละลายช้า ต้องใช้ช้อนคนให้ละลาย



ได้น้ำอัญชันสีน้ำเงินเหมือนเดิม แต่ยังมีรสเปรี้ยวของมะนาว

ส่วนน้ำอัญชันสีน้ำมัน เมื่อเติมเบกกิ้งโซดา บางคนบอกว่าจะทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียว

ทดลองแล้วไม่ได้สีเขียว แต่สีน้ำเงินอ่อนลงเล็กน้อย



พอดีมีอัญชันดอกขาวบานสามดอก



ใส่น้ำในถ้วยขนม ต้มเดือดด้วยไมโครเวฟ



ได้น้ำอัญชันสีเหลืองอ่อน



ลองหยอดน้ำมะนาว



น้ำดอกอัญชันขาวไม่เปลี่ยนเป็นสีม่วง แต่สีซีดลง

แสดงว่าสารแอนโทไซยานิน มีเฉพาะในดอกสีน้ำเงินเท่านั้น

ส่วนดอกอัญชันสีแดงที่เห็นในกูเกิ้ล มีสารแอนโทไซยานินเช่นกัน

เพราะสารแอนโทไซยานิน มีในผักและผลไม้กินได้ ที่มีสีดำ สีแดง สีน้ำเงินและสีม่วง

สีดำ เช่น ข้าวเหนียวดำ ข้าวสีนิล ถั่วดำ แบล็กเบอรี่ แบล็กเคอแรนท์ เป็นต้น

สีแดง เช่น ทับทิม สตรอเบอรี่ เชอรี่ ราสเบอรี่ ชมพู่ กระเจี๊ยบแดง เป็นต้น

สีน้ำเงิน เช่น ดอกอัญชันสีน้ำเงิน บลูเบอรี่  เป็นต้น

สีม่วง เช่น กะหล่ำปลีม่วง ข้าวโพดม่วง มะเขือม่วง มันม่วง ลูกหม่อน องุ่นสีม่วง ลูกไหน ลูกพรุน เป็นต้น



ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ได้ที่เพจ"เที่ยวไปกินไป by laser"

ที่เอาไว้รวบรวมเรื่องเที่ยวเรื่องกิน ที่สั้นเกินกว่าจะนำมาลงเป็นบทความ

หรือ อยู่ระหว่างรวบรวมเป็นบทความที่สมบูรณ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่