“5 ความเสี่ยงหางอ้วน” ต้นเหตุ...หุ้นตกหนัก ตอนที่ 1

คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย   
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2559
“5 ความเสี่ยงหางอ้วน”  ต้นเหตุ...หุ้นตกหนัก  ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.CsiSociety.com
Add Line:  @CsiSociety


“ความเสี่ยงหางอ้วน”... ผมได้รู้จักคำๆนี้จาก ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กูรูด้านฟันด์โฟลว์ของเมืองไทย ซึ่งต้องขอขอบพระคุณอาจารย์สำหรับความรู้ดังกล่าวมา ณ ที่นี้ด้วย  และเพื่อให้คุณผู้อ่านเข้าใจคำๆนี้ได้ดีขึ้น ผมจึงขอขยายความคำว่า “ความเสี่ยงหางอ้วน” (Fat Tail Risk) กันเสียก่อน  ความเสี่ยงหางอ้วนคือ เหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งในที่นี้ก็คือ ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้นนั่นเอง


ภาพบน:  แสดงให้เห็นว่า Fat Tail จะมีลักษณะผอมและสูง นั่นคือ โอกาสเกิดน้อย...แต่รุนแรง

ทั้งนี้ ผมจะขออธิบาย ความเสี่ยงหางอ้วน...ที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทย โดยผมจะขอเรียงลำดับจากความรุนแรงน้อยที่สุดไปถึงความรุนแรงมากที่สุด ดังนี้ครับ
อันดับที่ 5  ปัญหาการก่อการร้าย
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการก่อการร้ายที่ดูเหมือนจะมีความรุนแรงมากที่สุดเกิดขึ้นในทวีปยุโรป จากเหตุการณ์ก่อการร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การขับรถบรรทุกชนผู้คนในงานที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิต 84 ราย การโจมตีสนามบินอิสตันบูลที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 41 คน และการก่อการร้ายในสนามฟุตบอลในกรุงปารีส
เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ได้มีสถาบันวิจัยหลายแห่งที่ทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นและผลหลังจากนั้น สถาบันวิจัยเน็ดเดวิด (Ned David Research)  ได้ทำการวิจัยเหตุการณ์การก่อการร้ายหลายต่อหลายครั้ง โดยย้อนหลังไปตั้งแต่การโจมตีค่ายทหารในเบรุตในปี 2526 ไปถึง การวางระเบิดในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนในปี 2548 รวมทั้งสิ้น 23 เหตุการณ์ พบว่าในระยะเวลาไม่เกิน 9 เดือน ตลาดหุ้นก็กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในเหตุการณ์ 22 ครั้งจากทั้งหมด 23 ครั้ง
ผลการศึกษาจาก Citi Research ก็ออกมาในลักษณะเดียวกัน โดยดูได้จากกราฟ


ภาพบน: ผลตอบแทนจากดัชนี S&P 500  หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 1 สัปดาห์

กราฟด้านบนจะแสดงค่าผลตอบแทนจากดัชนี S&P 500 หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายภายในหนึ่งสัปดาห์ เปรียบเทียบกับด้านล่าง


ภาพบน: ผลตอบแทนจากดัชนี S&P 500  หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 1 ปี  

กราฟนี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนดัชนี S&P 500 หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายนั้นๆ เกิดขึ้นไปแล้วนานหนึ่งปี มีเพียงเหตุการณ์เดียวคือ USS Cole Bombing ที่ออกมาติดลบมาก เพราะโดยเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ซ้ำเติม ทำให้ผลตอบแทนติดลบมาก
ข้อสรุปคือ หากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้น ตลาดหุ้นจะมีปฎิกิริยาออกมาในทางลบในช่วงเวลาไม่นานนัก หลังจากนั้นก็จะกลับมาให้ผลตอบแทนได้ตามปกติ ดังนั้นความเสี่ยงหางอ้วนในลักษณะนี้จึงมีผลรุนแรงในระยะสั้นเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบลง เศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาดีเหมือนเดิมได้ในระยะปานกลาง  ดังนั้น “ความเสี่ยงหางอ้วน” ตัวนี้จึงมีความรุนแรงน้อยที่สุด จึงได้จัดให้อยู่ในอันดับที่ 5

อันดับที่ 4  Brexit & The Next Country
คุณผู้อ่านบางท่านคงพอจะจำกันได้ว่า เหตุการณ์ที่ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรลงคะแนนเสียงโหวตว่าจะให้ประเทศอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรป (EU)  เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผลออกมาก็เป็นที่รู้กันว่า โหวตออกเอาชนะไปได้ด้วยคะแนนเสียง 52% ต่อ 48%  โดยเสียงทั้งหมดมาจากประชาชนมากกว่า 30 ล้านคน   
พอผลการลงมติออกมาอย่างไม่เป็นทางการว่า สหราชอาณาจักรจะออกจากยุโรปแน่ ตลาดหุ้นยุโรปก็โดนผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ บางตลาดหุ้นในบางประเทศในยุโรปตกลงมากกว่า 10%  ดัชนีตลาดหุ้นอเมริกาทั้งสามดัชนีตกลงประมาณ 3-4%  ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นตกลงประมาณ 8%  ตลาดหุ้นในเอเชียประมาณ 2-3%  และตลาดหุ้นไทยตกลงค่อนข้างน้อยไม่ถึง 2%
กระบวนการ Brexit คงจะกินเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงดูเหมือนว่ายังอีกห่างไกล..ไม่เห็นจะต้องเป็นกังวลเลย แต่สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ จะมีประเทศอื่นโหวตออกตามสหราชอาณาจักรอีกไหม? และถ้ามี...มันจะนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพยุโรปหรือไม่? ซึ่งถ้าเกิดจริง...ผลกระทบมันอาจจะถึงขึ้นเป็นระเบิดปรมาณูลูกเล็กๆสำหรับตลาดหุ้นทั่วโลกเลยก็เป็นได้

อิตาลี ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดูเหมือนว่าอาจจะเป็นประเทศแรกที่ดิ้นรนจะออกสหภาพยุโรป เพราะมีพรรคการเมืองหนึ่งที่มีชื่อว่า Five Star Movement (M5S) ซึ่งเป็นพรรคที่รวบรวมเอาดาราตลก บล็อกเกอร์ และบุคคลดังๆในอิตาลีไว้มากมาย พรรคนี้มีนโยบายชัดเจนที่จะให้อิตาลีออกจากอียู ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ พรรคนี้ก็ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญ และหากยังเป็นเช่นนี้อีกต่อไป อาจจะนำไปสู่การจัดทำประชามติลงคะแนนเสียงว่า อิตาลีควรจะออกจากอียูหรือไม่?

กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ประสบกับปัญหาการให้รับผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดของทั้งสี่ชาติในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน เดนมาร์ก นอรเวย์ และฟินแลนด์  ทั้งสี่ประเทศมีประชากรในประเทศที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในยุโรป แต่ต้องมาแบกรับทั้งผู้อพยพแปลกหน้าเข้าประเทศ และค่าใช้จ่ายซึ่งมาจากภาษีอากรจำนวนมากของประชาชนของตน

กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก  หลายประเทศในยุโรปตะวันออกเพิ่งจะเข้ามาอยู่ในครอบครัวของอียูได้ไม่นาน โดยหวังว่าจะได้รับอานิสงส์ทางเศรษฐกิจจากการเป็นสมาชิก แต่พอเข้ามาเป็นก็เจอกับค่าสมาชิกที่สูงลิบลิ่ว ตามมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสของหลายประเทศ และท้ายที่สุดเจอปัญหาต้องรับผู้อพยพครั้งใหญ่ เหตุการณ์ Brexit ได้ทำให้ประเทศเหล่านี้กลับมาคิดใหม่ว่า ควรจะอยู่กับอียูต่อไปหรือไม่?  
หากเหตุการณ์ข้างต้นทยอยเกิดขึ้นจริง อียู...คงยากที่จะรักษาสถานภาพการเป็นสหภาพไว้ได้ และจะนำมาซึ่งความวุ่นวายอย่างใหญ่หลวงมาสู่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างแน่นอน ดังนั้น “ความเสี่ยงหางอ้วน” ตัวนี้ จึงถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 4

พรุ่งนี้ เชิญพบกับ “5 ความเสี่ยงหางอ้วน”  ต้นเหตุ...หุ้นตกหนัก  อีก 3 อันดับที่เหลือนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่