เปลี่ยน “พระวินิจฉัย” พระสังฆราชเป็น “พระดำริ” เพื่อให้ ธัมมชโย พ้นปาราชิก

ผู้ตรวจการแผ่นดินสงสัยเหตุใดจึงมีการเปลี่ยน จากคำว่า “พระวินิจฉัย” มาใช้คำว่า “พระดำริ” ในมติมหาเถรสมาคม 193/2542 กรณีพระวินิจฉัยธัมมชโยปาราชิก


จากคำสัมพาษณ์ของคุณรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 22 กค. 2558 ได้มีการแสดงข้อสงสัยจากทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ในเอกสารที่กรมการศาสนาเสนอพระวินิจฉัยเข้าสู่ที่ประชุม มส. ครั้งที่ 16/2542 ว่าเหตุใดไม่ใช้คำว่า “พระวินิจฉัย” ตามที่ระบุในเอกสารจากผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช แต่กลับใช้คำว่า “พระดำริ” ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไป

ในขั้นต้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงมีพระวินิฉัยการปาราชิกของธัมมชโย ตามเอกสารพระวินิจฉัยลงวันที่ 26 เมษายน 2542 ซึ่งได้มีการเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางนั้น

ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2542 พระราชรัตนมงคล ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้ทำจดหมาย เลขที่ พ258/2542 เพื่อส่งพระวินิจฉัยดังกล่าวไปให้กรมการศาสนาเพื่อนำเข้าที่ประชุม มส. โดยได้ไว้ระบุอย่างชัดเจนว่า เอกสารส่งที่ส่งมาด้วยคือ “พระวินิจฉัย” และเนื้อหาในจดหมายดังกล่าวยังมีข้อความระบุชัดว่า

“ด้วย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก มีพระวินิจฉัย เรื่องโทษการบิดเบือนพระพุทธธรรมคำทรงสอน และการถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนฯ”

แต่ประเด็นสำคัญ คือในเวลาต่อมา เหตุใด? ทางกรมการศาสนาจึงได้ทำเอกสารมติ มส. ที่193/2542 เพื่อเสนอพระวินิจฉัยดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม มส. ครั้งที่ 16/2542 วันที่ 10 พฤษภาคม 2542 โดยได้เปลี่ยนมาใช้คำเรียกเอกสารที่พระเลขาฯระบุว่าเป็นพระวินิจฉัย มาใช้คำว่า “พระดำริ” แทน ทั้งที่คำว่า “พระวินิจฉัย” ได้ระบุมาแต่เดิมในจดหมายจาก ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เลขที่ พ258/2542 อย่างชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้งกรมการศาสนาได้อ้างอิงเลขที่จดหมายไว้ใน มติ มส. ดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุความความหมายของ วินิจฉัย ดำริ และลิขิต แตกต่างกันดังต่อไปนี้

วินิจฉัย หมายถึง ตัดสิน ชี้ขาด
ดำริ หมายถึง คิด ไตร่ตรอง
ลิขิต หมายถึง หนังสือ จดหมาย (นิยมใช้เฉพาะจดหมายของพระสงฆ์)

ขณะที่ในพรบ.คณะสงฆ์ ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าสมเด็จพระสังฆราชคือประมุขของฝ่ายสงฆ์ และให้พระที่อยู่ระดับชั้นต่ำลงมาปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งคัด เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสมเด็จพระสังฆราชมีคำวินิจฉัยให้พระธัมมชโยปาราชิกไปแล้ว หากไม่มีการดำเนินการก็ถือมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพรบ.คณะสงฆ์ใช่หรือไม่

เรียบเรียงจาก รายการ ตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส : เคลียร์ “คำวินิจฉัย” ปาราชิก พระธัมมชโย, สถานีไทยพีบีเอส, 22 กค. 2558

อ่านต่อได้ที่  https://thaidhammakaya.wordpress.com/2016/01/05/edited/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่