กับข้าวพื้นบ้าน แต่ชื่อไปออกแนวสากลทั่วไป "แกงกะหรี่เนื้อวัว" แบบเสือเห็นต้องร้องไห้

กระทู้สนทนา
จริง ๆ แล้วก็ยังไม่กล้ายืนยันเต็มปากเต็มคำว่าเป็นกับข้าวพื้นบ้านเฉพาะถิ่น  แต่ก็เชื่อว่าแกงแบบนี้ไม่ค่อยจะมีทั่วไป
แกงกะหรี่แบบที่จะนำเสนอในวันนี้ สล่าปู่ได้กินบ่อย ๆ เวลาที่พี่น้องมุสลิมเขามีเทศกาลปีใหม่  เขาจะแกงกะหรี่เนื้อวัว
แล้วแบ่งแจกเป็นทาน  ซึ่งเราจะเรียกแกงนี้ง่าย ๆ ว่าแกงกะหรี่แขก  ฟังดูเหมือนไม่สุภาพ  แต่กลิ่นและรสชาติมันไม่
ธรรมดาเอาเสียมาก ๆ

วันนี้เข้าตลาดไปเจอ เสือร้องไห้วางอยู่ 1 ชิ้น  แม่ค้าก็ชวนซื้อนึกในใจว่าเอาไปทำอะไรดี ถามถึงเนื้อน่องก็บอกว่าไม่มี
แต่มีเนื้อสามชั้น  นึกในใจลองเอาเสือร้องไห้ไปแกงกะหรี่ดูสักครั้งว่าจะอร่อยแค่ไหน  ก็เลยซื้อเสือมาชิ้นหนึ่ง + กับเนื้อ
สามชั้น กะให้ได้หม้อแกงเล็ก ๆ  ไว้กินกับขนมปังปิ้ง

สุกแล้วมันยั่วตา ยั่วจมูกมาก ๆ เลยครับ  ตามรูปนี้เลย



เนื้อล้างแล้วหั่นชิ้นค่อนข้างใหญ่ สไตล์แกงกะหรี่  จัดใส่หม้อเตรียมรอไว้เลย





จัดการเรื่องน้ำพริก  ไม่มีอะไรมากเลยครับ  พริกแห้ง  หอมแดง  (ช่วงนี้หอมแดงค่อนข้างหาซื้อยาก
เล่นหอมแขกแทนเลยครับ) กระเทียม  ขิงแก่  กะปินิดเดียว  แต่งานนี้ใช้หอมแขกเยอะมาก ใส่ลงไป
ในโถปั่น ปั่นละเอียด  นำไปเทลงในหม้อพร้อมใส่น้ำมันพืชลงไปค่อนข้างเยอะ  ขมิ้นผง  อบเชย
โป๊ยกั๊ก  ใบกระวาน  ลูกกระวาน  อย่างละนิดละหน่อยใส่ลงไป กะร้อนแรงเต็มที่



เครื่องแกงหรือที่ท้องถิ่นเรียกกันว่า มะส่าหล่า  วันนี้ใช้ของแขกครับ  มะส่าหล่าที่บ้านสล่าปู่จะมี 2 ที่มา
คือของพม่ากับของอินเดีย  ขึ้นอยู่กับว่าจะแกงแบบไหน



คลุกทั้งหมดให้เข้ากันเปิดไฟกลางเคี่ยวจากเนื้อจนน้ำออกไปจนงวด 1 ครั้ง  แล้วเติมน้ำเปิดไฟอ่อน
เคี่ยวไปเรื่อย ๆ สล่าใช้เวลาเคี่ยววันนี้ไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง



เปื่อยได้ที่ ทุบขิงแก่ปอกเปลือกใส่ลงไป พร้อมมะส่าหล่ารอบสอง แค่นี้ก็หอมไปสามบ้านแปดบ้านละครับ



วันนี้ยังไม่พร้อม แค่ตักมาโชว์มาชิมก่อน 1 ถ้วย  ที่เหลือปล่อยให้ข้ามคืน พรุ่งนี้เช้าไปตลดกะไปซื้อโรตีจืด
มันคงเข้าคู่กันกับน้ำแกงข้น ๆ เนื้อนุ่ม ๆ อย่างหรูทีเดียว







ถ้าใครอยากลองทำเผื่ออยากชิม ติดขัดเรื่องมะส่าหล่า  ก็สามารถใช้ผงแกงกะหรี่ที่มีขายทั่วไปแทนได้
ลองดูนะครับ

สวัสดีครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่