แนวคิดอาหารไทย "พริกแกง" กับการ์ตูน ยอดเชฟครัวท่านทูต

ประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับ "อาหารไทย" ตอนนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีภาพยนตร์เรื่อง "พริกแกง" ที่ได้รับความสนใจมาแต่ต้น
โดยส่วนตัวยังไม่ได้ดูด้วยตนเองนะครับ แต่คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา หากจะนำมาพูดคุย เพราะแก่นของเรื่อง เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งจากการได้ตามอ่านรีวิว หรือบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็ได้พบว่า ประเด็นที่หนังนำเสนอมันมีส่วนที่ชวนให้นึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง เรื่อง "ยอดเชฟครัวท่านทูต"

กล่าวโดยย่อ
ยอดเชฟครัวท่านทูต เป็นเรื่องราวของ โอซาว่า โก เชฟอาหารฝรั่งเศส ที่ได้เข้ามาทำงานเป็นเชฟประจำตัวของ ท่านทูต คุรากิ ในช่วงแรกจะเป็นเชฟประจำสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศเวียดนาม ก่อนที่จะกลายเป็นเชฟที่ได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ และใช้อาหารเข้าเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาต่างๆ จำนวน 23 เล่มจบ

ซึ่งช่วงเวลาหนึ่งของเรื่อง โอซาว่า โก ต้องทำอาหารให้กับศิลปินชาวฝรั่งเศส ที่ขึ้นชื่อว่า "อนุรักษ์นิยม" เป็นอย่างมาก โดยที่เมื่อทำอาหารเสร็จ กลับถูกปฏิเสธ เนื่องจากมองว่าอาหารที่นำมานั้น ไม่ใช่อาหารฝรั่งเศสแท้ และเป็นไปในลักษณะ "ฟิวชั่น" มากกว่า ซึ่งตั้งแต่ต้นเรื่อง จะพบว่า สูตรอาหารต่างๆ ในเรื่องไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญเลย เช่น ตำราอาหารมีแค่บอกว่าจะต้องใส่อะไร แต่การจะใส่เท่าไหร่ จะขึ้นอยู่กับลิ้นของเชฟผู้รังสรรค์มากกว่า ซึ่งในช่วงเวลาที่เชฟโอซาว่า หมดไฟ ก็ได้กลับไปยังที่ทำงานเก่า เจอหัวหน้าเก่า โดยได้พูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวนี้ว่า


ซึ่งประเด็นนี้ ผมมองว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ คือ "อย่ามุ่งหาอาหารฝรั่งเศสที่แท้จริง แต่ให้เป็นเชฟฝรั่งเศสที่แท้จริง" และยังมีอีกหลายตอนในเรื่อง ที่เน้นย้ำประเด็นนี้ เช่น ตอนที่อดีตประธานาธิปดีไต้หวัน ปรามาสว่า เป็นคนญี่ปุ่นแต่ทำไมเป็นเชฟฝรั่งเศส หลงลืมรากเหง้าไปหรือเปล่า แต่โอซาว่า ตอบกลับไปว่า ถึงจะเป็นเชฟฝรั่งเศส แต่ตนก็สามารถทำอาหารญี่ปุ่นได้ เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว การทำอาหารที่อร่อย ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการเป็นอาหารชาติใด

หรือ การที่เชฟโอซาว่า พูดถึงอาหารที่เมียเป็นคนทำ โดยนำสูตรที่คาดว่า จะมาจากนิตยสารผู้หญิง ที่ไม่ได้ทำตามสูตรเป๊ะ มีการปรับให้ทำง่าย แต่กลับเป็นอาหารแห่งความทรงจำ

บางครั้งคนเรามุ่งแสวงหาอาหารที่รสชาติเป็นเลิศ แต่ในที่สุด เรากลับแสวงหารสชาติแห่งความทรงจำมากกว่า อาหารที่คนทำไม่เก่งแต่ถ้าใส่ใจลงไป มันก็เป็นอาหารที่ดีได้แล้ว

และตอนสำคัญตอนหนึ่ง ที่ใกล้เคียงกับประเด็นที่หนัง "พริกแกง" นำเสนอ และเป็นที่ถกเถียงกัน คือ ในเล่มที่ 20
เชฟอาหารญี่ปุ่น เข้ามาสอนภริยาทูต ถึงเสน่ห์ของอาหารญี่ปุ่น แต่ติดปัญหาเรื่อง วัตถุดิบเมื่อต้องทำในต่างแดน




กลับมาที่ประเด็นจากภาพยนตร์ "พริกแกง" นำเสนอ การพยายามรักษาความเป็นสูตร "ดั้งเดิม" (?) ไม่มีการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นสิ่งที่ดีได้หรือไม่ อาหารไทยถ้าต้องทำตามสูตรของ "ใคร" มาโดยตลอด ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เลย จะเรียกว่าอาหารไทยได้จริงมากน้อยแค่ไหนกัน
ยังไม่รวมประเด็นว่า "อาหารไทยคืออะไร" เลยด้วยซ้ำ การใช้เครื่องมือ กรรมวิธีการปรุงแบบใหม่เข้ามาทำอาหาร ก็เป็นอีกการพัฒนาไปจากเดิม แต่ทำไมในเรื่องกลับรับได้ มีการนำชุดเชฟแบบตะวันตกเข้ามา มีการใช้เตาแก๊สที่สมัยโบราณคงไม่มีแน่ๆ แต่ทำไมถึงยอมรับได้

มีเพื่อนนำเสนอว่า ภาพยนตร์ "พริกแกง" ถ้ามองในมุม "คนสูงวัย" เป็นตัวเอง ก็อาจจะได้คำตอบ ฝั่งพระเอกต้องสู้ในสิ่งที่เชื่อ จนฝ่ายอื่นยอมรับได้
แต่พอดีว่า สิ่งที่เขาเชื่อไม่ใช่สิ่งที่สังคมเชื่อมากกว่า

สรุปท้าย อาหารไทยถ้ามีแค่ข้าวกับไข่ เราจะสามารถทำอาหารไทยได้หรือไม่?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่