JJNY : เฉลยเอกชนลงทุนไม่เข้าเป้า "ความเชื่อมั่น" ตอบโจทย์ใหญ่รัฐบาล

กระทู้คำถาม
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจะมีแนวโน้มเป็นบวก โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า ตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตในระดับ 3.2% ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เศรษฐกิจช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน จึงคงเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีที่ 3.3% โดยการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ดูเหมือนทีมเศรษฐกิจรัฐบาลภายใต้การนำของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังต้องการกระตุ้นให้ภาคเอกชนขยับลงทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ เพื่อให้สอดรับกับการประกาศนโยบายให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลงทุน ด้วยมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อความสะดวกคล่องตัวในการดำเนินการมากขึ้น

สภาผู้ส่งออกรับเอกชนลดการลงทุน


นายวัลลภ วิตนากรรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวยอมรับว่า ภาคเอกชนหลายรายลดการลงทุนทั้งภาคการผลิตเพื่อการในใช้ประเทศและการส่งออก ทั้งนี้เห็นได้จากมีการนำเข้าสินค้าทุนลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าการลงทุนเพื่อขยายกิจการธุรกิจ ภาคธุรกิจ ของผู้ประกอบการเองก็ลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนลดลง ความเชื่อมั่นต่อภาคเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ไม่เอื้อต่อการค้า การส่งออก ทั้งนี้นโยบายรัฐยังเป็นเรื่องของการส่งเสริมมากกว่าที่จะก่อให้เกิดการลงทุน

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึง การชะลอการลงทุน หลักๆ จะมี 4 ปัจจัย คือ ตลาดรองรับ กระบวนการผลิต แหล่งเงินทุน และ ความเสี่ยง เป็นผลมาจากความพร้อมของตลาดไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่อง "ตลาด" นักลงทุนจะนำมาประกอบการพิจาณา สำหรับนโยบายรัฐที่ออกมาตรการกระตุ้นต่างๆ ส่วนรวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะได้เฉพาะกิจการที่มีกำไรแล้ว จึงใช้ได้เพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ตัวหลักในการตัดสินใจที่จะลงทุนได้เลย

หอการค้าซัดมีแต่นโยบาย

นาย วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือกล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือยังขาดการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐและการแก้ไขเรื่องของปัญหาภัยแล้ง ทำให้เศรษฐกิจของภาคเหนือไม่ขยายตัว โดยปัญหาส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่มาจากสินค้าเกษตรเป็นหลักโดยเฉพาะข้าว ดังนั้นภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมเรื่องการเพาะปลูกพืชระยะสั้นและหาตลาดเพื่อรองรับ

ขณะที่นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวว่า นโยบายของภาครัฐขาดการต่อเนื่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนในพื้นที่ โดยต้องการให้ภาครัฐนั้นเข้ามากระตุ้นการบริโภคและการลงทุนให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างระบบคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน และการให้ความรู้ให้กับเกษตรกร การส่งเสริมเรื่องของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-แหล่งเงินทุน การช่วยSMEs

ส่วน นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า การลงทุนของภาครัฐมีแต่นโยบายที่ยังไม่มีการ สนับสนุนกลุ่มประชาชนฐานราก อีกทั้งนโยบายการลงทุนก็ยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละภูมิภาคให้เกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งหากมีความชัดเจนเรื่องของการลงทุน ทางภาคเอกชนเองพร้อมลงทุนทำธุรกิจได้ทันที

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า เศรษฐกิจของพื้นที่ภาคกลางส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันได้รับผลกระทบเรื่องของประมงผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้การส่งออกมีปัญหา และอีกส่วนก็เป็นการลงทุนในภาคเกษตร จึงต้องการให้มีการสนับสนุนปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อสร้างรายได้และให้ภาครัฐช่วยเหลือในการกระตุ้นเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยก็คือการผลักดันการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากจะทำการค้าดีขึ้น และให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายหรือการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีโครงการใด ๆ เข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคใต้เลย

สศช.ชี้ลงทุนรัฐใหม่ ๆ ต้องเกิดจึงมีผลกระตุ้นเอกชน

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงการลงทุนของภาคเอกชนในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วว่า หากภาวะการส่งออกยังไม่กระเตื้องก็จะมีกำลังการผลิตเหลือทำให้กระตุ้นยาก เพราะเอกชนจะรู้สึกว่า "ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน" ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วงที่ผ่านมามีสต๊อกสูง และรัฐก็มีมาตรการช่วยเกลี่ยสต๊อกออกไปบ้างแล้ว

"คงต้องมีโครงการลงทุนภาครัฐใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก็จะไปกระตุ้นให้เอกชนลงทุนได้ พวกรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ที่ประกาศการลงทุนก็น่าจะกระตุ้นภาคอสังหาฯได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรมเหลือกำลังการผลิตเยอะ ก็คงยังไม่อยากลงทุน ดังนั้นก็ต้องสร้างโอกาสใหม่ ๆ อย่างที่รัฐบาลพยายามผลักดันสร้าง New S-Curve ผลักดันคลัสเตอร์ใหม่ ๆ"
นายปรเมธีกล่าว

สำหรับปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่าเอกชนลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรในส่วนของภาคก่อสร้างค่อนข้างน้อย ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2559 นี้ดีขึ้น ซึ่งมองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้น หากสถานการณ์ภัยแล้งจบลงในครึ่งปีแรก

สำหรับมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ที่ได้เตรียมการไว้แล้ว มองว่าน่าจะเพียงพอสำหรับดูแลภาวะเศรษฐกิจ เพราะที่ทำไปแล้ว 10 มาตรการก็มีเม็ดเงินจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ใช้ ซึ่งหากสามารถใช้วงเงินได้ตามที่ตั้งไว้ก็น่าจะเพียงพอ "ถ้าสิ้นปีนี้เศรษฐกิจออกมาโตในช่วง 3-3.5% ต่อปี ตามที่ สศช.บอกไว้ ผมคิดว่าปีนี้ก็น่าจะยิ้มได้ แม้ว่าล่าสุดการส่งออกเดือนเมษายนจะหดตัว -8% (เงินเหรียญสหรัฐ) แต่ถ้าเป็นเงินบาทจะ -1.5% ดังนั้นค่าเงินยังช่วยอยู่โดยเฉลี่ย 4 เดือนในรูปเงินบาทส่งออกยังบวกได้ 8% จะต่างจากปีก่อน ๆ ที่บาทแข็ง แล้วส่งออกก็ไม่ดี แต่ว่าตอนนี้ผู้ประกอบการยังพอหายใจได้ หากครึ่งปีหลังธนาคารกลางสหรัฐมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็น่าจะทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าได้อีก และส่งผลดีต่อผู้ส่งออก" นายปรเมธีกล่าว

คลังปรับมาตรการภาษีกระตุ้นลงทุน

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ที่หากลงทุนอาคาร เครื่องมือเครื่องจักรให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 จะได้รับสิทธิหักรายจ่ายจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าว โดยปรับปรุงใหม่กำหนดให้เริ่มลงทุนปีนี้ แต่ไม่จำเป็นไม่ต้องเสร็จโครงการในปี 2559 ก็ได้ โดยกระทรวงการคลังประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 3.3% โดยเฉพาะไตรมาส 3 น่าจะขยายตัวได้มากที่สุด "เท่าที่ดู ถ้าไม่มีสถานการณ์ใหม่มากระทบและมาตรการต่าง ๆ ที่วางไว้แล้วเดินได้ ทั้งโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมที่น่าจะเร่งให้เป็นไปตามแผนได้ และการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ต้องเร่งให้ได้ 97% ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่า 3.2%" นายสมชัยกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่