เรือลาดตระเวณหนักที่ดีสุดของฝรั่งเศส Algérie

มีคำกล่าวที่ว่า เรือลาดตระเวณก็เหมือนกับเปลือกไข่ที่ถูกตีแตกด้วยค้อน ซึ่งได้เปรียบเทียบกับเปลือกไข่ที่ดูจากภายนอกที่ถึงแม้มันจะดูแข็งแกร่งแค่ไหน แต่เมื่อมันถูกตีด้วยของหนักๆครั้งเดียวมันก็แตก ซึ่งเปรียบได้กับเรือลาดตระเวณที่มีอำนาจการยิงที่รุนแรงดูน่าเกรงขาม แต่มันก็มีเกราะที่น้อยและเปราะบาง จนมันไม่สามารถยืนหยัดสู้กับเรืออีกฝ่ายที่อยู่ในระดับเดียวกันได้เพียงลำพัง แต่คำๆนี้นั้นไม่สามารถใช้กับเรือลาดตระเวณของฝรั่งเศสที่ชื่อ Algerie ได้


        หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อศัตรูหลักหมายเลข 1 ของฝรั่งเศสได้เบนเข็มไปยังอิตาลี ทั้ง 2 ชาติหลังจบสงครามต่างก็พยายามพัฒนากองทัพแข่งกันมาตลอด ในตอนนั้นเรือประจัญบานเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย มันอืดอาดและ-ทรัพยากรมหาศาล การขึ้นมามีบทบาทของเรือลาดตระเวณที่มีขนาดเล็กกว่า แต่มีความอ่อนตัว และมีความอเนกประสงค์ที่มากกว่าเรือประจัญบาน ทั้ง 2 ชาตินี้ต่างก็ได้เห็นถึงข้อดีที่กล่าวมาของเรือชนิดนีเ จึงได้พยายามสร้างเรือชนิดดังกล่าวแข่งกันตลอดมา แต่เรือลาดตระเวณในยุคแรกๆนั้นต่างก็มีข้อด้อยเหมือนๆกันนั่นก็คือ"เกราะ" ที่บางมากจนเกือบๆจะเท่าเรือพิฆาต ทำให้มันเปราะบางและอ่อนแอต่ออำนาจการยิงที่รุนแรง จนในปี 1929 การมาของแผนการที่จะสร้างเรือลาดตระเวณหนักชั้น Zara ของอิตาลี ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเรือลาดตระเวณหนักทุกๆแบบของฝรั่งเศส ทั้งอำนาจการยิง อำนาจการป้องกันโดยเกราะของมันที่หนาถึง 6 นิ้ว นั้นถือว่าหนาอย่างมากจนเกินกว่าจะเป็นเรือลาดตระเวณในยุคนั้น ฝรั่งเศสนั้นเกรงกลัวเรือลาดตระเวณลาดตระเวณหนักชั้นนี้ของอิตาลีเป็นอย่างมาก ถึงแม้อิตาลีจะบอกระวางขนาดของเรือลำนี้นั้นถึงอยู่เกณฑ์กำหนดของสนธิสัญญาวอชิงตันที่กำหนดไว้ 10000 ตัน ก็ตามแต่ก็นั่นแหละความจริงเรือดังกล่าวได้ถูกอิตาลีปกปิดระวางขนาดที่แท้จริงของมันเอาไว้ เพราะที่แท้จริงแล้วเรือลาดตระเวณหนักชั้นนี้นั้นมีระวางขนาดถึง 12000 ตัน ซึ่งเกินข้อจำกัดที่ทางสนธิสัญญากำหนดไว้ที่ 10000 ตัน
เรือลาดตระเวณหนักชั้น Zara ภัยคุกคามอันแสนร้ายกาจของฝรั่งเศส


         ในทศวรรศที่ 1930 หลังจากที่เรือลาดตระเวณหนักชั้น Zara ลำแรกของอิตาลีถูกปล่อยลงน้ำและกำลังถูกนำไปติดตั้งอาวุธเพื่อเข้าประจำการ ฝรั่งเศสก็ได้เริ่มออกแบบเรือลาดตระเวณหนักของตนเองเพื่อตอบโต้กับเรือลาดตระเวณหนักของอิตาลี โดยได้ตัดสินใจโยนแนวคิดหลักนิยมในการออกแบบเรือลาดตระเวณแบบเดิมๆที่แสนล้าสมัยของตนเองทิ้งลงถังขยะ การออกแบบคราวนี้นั้นจะเน้น "เกราะ" ที่หนาเป็นหลัก ฝรั่งเศสแตกต่างจากอิตาลีตรงที่ในการออกแบบเรือนั้นฝรั่งเศษยังคงเล่นตามกติกา คือพยายามออกแบบเรือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งอำนาจการยิงและอำนาจการป้องกันโดยพยามไม่ให้เรือนั้นมีขนาดระวางเกิน 10000 ตัน ตามที่สนธิสัญญาได้กำหนดไว้ และตั้งชื่อให้กับเรือลาดตระเวณหนักชั้นนี้ว่า  Algerie

         Algerie นั้นมีน้ำหนักรวมของเกราะประมาณ 2657 ตัน เมื่อเทียบกับเรือลาดตระเวณหนักของฝรั่งเศษลำก่อนหน้าอย่าง Dupleix ที่มีน้ำหนักรวมของเกราะที่หนักเพียง 1553 ตัน โดยการออกแบบได้กระจายอำนาจการป้องกันไปยังตรงจุดต่างๆทั่วเรือมากขึ้นทั้งใต้น้ำและบนน้ำ ในด้านการป้องกันจากใต้น้ำจากอาวุธอย่างตอร์ปิโดนั้น ได้มีการทำผนังกั้นตามขวางอย่างหนาประมาณ 2.75 นิ้ว และผนังกั้นตามยาวของเรือที่หนา 1.5 นิ้ว   มีการแยกตรงส่วนเกราะใต้น้ำที่หนาประมาณ 5.1 นิ้ว กับเกราะด้านข้างไว้โดยเฉพาะ ตรงส่วนท้องเรือก็ได้มีการทำผนังกั้นไปจนถึงตรงส่วน Barbettes กับบนดาดฟ้าตรงส่วนหน้าเรือที่หุ้มเกราะหนาประมาณ 3 นิ้ว ด้วยการออกแบบดังกล่าวทำให้ห้องเก็บกระสุนและดินปืนที่ได้หุ้มเกราะแยกไว้อีกทีได้รับการปกป้องและมีความปลอดภัยจากการโจมตีด้วยตอร์ปิโด ในขณะที่การป้องกันจากบนน้ำนั้นตรงส่วนด้านข้างเรือนั้นหุ้มเกราะไว้หนาราว 4.75 นิ้ว ซึ่งเป็นเกราะแบบแปะทับภายนอกไว้อีกที ซึ่งการใช้เกราะแบบแปะทับนั้นช่วยเซฟน้ำหนักให้เรือถึง 370 ตัน ส่วนหอสังเกตการณ์นั้นหุ้มเกราะไว้หนา 3.75 นิ้ว ตรงเกราะดาดฟ้าที่หุ้ม Citadel ไว้นั้นหนาประมาณ 2.95 นิ้ว  ส่วนดาดฟ้าที่ยาวไปจนถึงท้ายเรือนั้นหุ้มเกราะไว้หนาประมาน 25 มิลลิเมตร ด้านหน้าป้อมเรือนั้นหุ้มเกราะไว้หนา 3.75 นิ้ว ในขณะที่ด้านข้างหุ้มเกราะไว้หนา 2.75 นิ้ว

         เนื่องจากการออกแบบที่เน้นเซฟพื้นที่เรือมากที่สุด เพื่อเหลือพื้นที่ให้สำหรับติดตั้งอาวุธ ทำให้เรือมีปล่องไฟแบบคู่เพียงแค่ปล่องเดียว ยัดรางส่งเครื่องบินแบบแรงดันไอน้ำลงไปแค่รางเดียวด้านซ้าย(จากแผนเดิมที่จะยัด 2 ราง ทั้งซ้ายและขวา)แทนที่จะยัดลงตรงกลางเพื่อเพิ่มพื้นที่ติดตั้งอาวุธ เพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างเรือด้วยการใช้ดาดฟ้าเรือแบบเรียบยันท้ายแทนที่จะใช้ดาดฟ้าแบบยกหน้าสูงที่ใช้ในเรือลาดตระเวณก่อนหน้านี้ โดยสามารถเซฟน้ำหนักจากใช้ดาดฟ้าลักษณะดังกล่าวได้ 80 ตัน แต่มันก็ส่งผลให้เรือมีความคงทนต่อทะเลน้อยลงตามไปด้วยเมื่อเทียบดาดฟ้าแบบยกหน้าสูง จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกอย่างคือ นอกจากเรือจะเป็นเรือลาดตระเวณแบบแรกของฝรั่งเศสที่ใช้ดาดฟ้าแบบเรียบลำแรกในกองทัพแล้ว เรือยังเป็นเรือลาดตระเวณแบบแรกสุดของฝรั่งเศสที่ใช้หอบังคับการแบบตึกสูง แทนที่จะใช้หอบังคับการแบบลักษณะ 3 ขาแบบที่ใช้กันเกลื่อนในเรือลาดตระเวณลำอื่นๆในกองทัพ

         เพื่อเพิ่มพื้นพิเศษให้กับตัวเรือ เรือได้ติดระบบขับเคลื่อนด้วยไอน้ำซึ่งเป็นระบบที่ค่อนข้างเก่า โดยมีแกนเพลา 4 ตัว พร้อมกับห้องหม้อน้ำแบบรวมอีก 3 ห้องโดยที่แต่ละห้องจะมีหม้อน้ำของ Sural-Indret ห้องละ 2 ตัว เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ระบบขับเคลื่อนและเครื่องยนต์ของเรือลำนี้นั้นให้กำลังแรงม้าที่น้อยกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้ในเรือลาดตระเวณหนักชั้นก่อนหน้าอย่าง Suffren แต่การที่ออกแบบรูปทรงตัวเรือทีทำการบ้านดีกว่า เดิมมากในการลดแรงต้านจากน้ำทะเลทำให้เรือนั้นสามารถทำความเร็วได้เท่ากับเรือลาดตระเวณหนัก Suffren ถึงแม้จะมีแรงม้าที่น้อยกว่า เรือมีความเร็วสูงสุด 31.7 น็อตเมื่อเร่งใช้กำลังแรงม้าประมาณ 84000 แรงม้าได้นานกว่า 6 ชั่วโมง และสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 33 น็อต เมื่อเร่งกำลังหม้อน้ำจนถึงขีดสุดได้ภายใน 1 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้ทำความเสียหายให้กับเครื่องยนต์แต่อย่างใด

          ในด้านอาวุธหลักนั้นเรือเป็นเรือลาดตระเวณหนักของฝรั่งเศสลำแรกที่นำระบบควบคุมการยิงของปืนหลักไปติดไว้บนเสากระโดงของเรือ เรือใช้อาวุธหลักเป็นปืนเรือลำกล้องคู่ขนาด 8 นิ้ว 50 คาลิเบอร์ ระยะยิงไกลสูงสุด 30 กิโลเมตร เมื่อยิงจากมุมเงยสูงสุด 45 องศา อัตราการยิง 4 นัด/นาที จำนวน 4 ป้อมวางไว้หน้าและหลังอย่าง 2 ส่วนทางด้านอาวุธรองฝรั่งเศสได้พัฒนาอาวุธรองตัวใหม่มาใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยได้ใช้อาวุธรองเป็นปืนเรือลำกล้องคู่ขนาด 3.9 นิ้ว 45 คาลิเบอร์ M1930 มุมกดสูงสุด 10 องศา มุมเงยสูงสุด 80 องศา อัตราการยิง 10 นัด/นาที ข้างละ 3 ป้อมรอบเรือ ในด้าน AA เรือติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานแท่นคู่ขนาด 37 มิลลิเมตร M1925 จำนวน 4 แท่น และติดตั้งปืนต่อต้านอากาศยานแท่นรวม 4 ลำกล้อง ขนาด 13.2 มิลลิเมตร อีกจำนวน 4 แท่น และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้สำหรับเรือลาดตระเวณในสมัยนั้นคือเรือได้ติดแท่นยิงตอร์ปิโดแบบ 3 ลำกล้อง ขนาด 21.7 นิ้ว 2 แท่นรอบเรือ พร้อมกับตอร์ปิโดสำรองที่เก็บไว้ในตู้ล็อคเกอร์เหล็กข้างละ 3 นัด เวลาจะบรรจุก็ต้องใช้เครนที่ใช้ยกเครื่องบินทะเล หิ้วตอร์ไปไว้บนรถเข็นก่อนที่จะเข็นรถตามรางไปยังท่อยิงเพื่อบรรจุ ในด้านปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มิลลิเมตร ฝรั่งเศสเองมีแผนจะเปลี่ยนไปใช้ตัว 37 มิลลิเมตร M1935 ตัวใหม่ที่กำลังพัฒนาอยู่ในภายหลัง(แต่ไม่ทันได้ใช้ฝรั่งเศสก็โดนเยอรมันยึดครองซะก่อน)

         เรือลาดตระเวณหนักชั้น Algerie ลำแรกถูกวางกระดูกงูในวันที่ 13 มีนาคม 1931 และเข้าประจำการในกองทัพเรือในปี 1934 และถูกตั้งชื่อว่า Algerie โดยมีแผนที่จะสร้างลำที่ 2 แต่ก็ดันมีสงครามซะก่อน ทำให้แผนถูกยกเลิก ทำให้เรือลาดตระเวณหนักชั้นนี้นั้นถูกสร้างเสร็จออกมาแค่เพียงลำเดียว แต่เรือเพียงแค่ลำเดียวก็ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการออกแบบเรือลาดตระเวณอย่างชั้น Admiral Hipper ของเยอรมัน โดยเยอรมันได้เบนเข็มการออกเรือลาดตระเวณหนักชั้นดังกล่าวมาเพื่อฆ่า Algerie ของฝรั่งเศสโดยเฉพาะ โดยต้องออกแบบเกินขนาดที่กำหนดสำหรับเรือลาดตระเวณถึง 40% เพื่อมาจัดการเจ้าเรือลำนี้

         ในทศวรรศที่ 1940 เมื่อภัยทางคุกคามทางอากาศได้เริ่มรุนแรงขึ้นจนเหมือน AA เดิมของเรือจะเอาไม่อยู่ ทำให้เรือได้ถอดเอารางดีดเครื่องบินพร้อมเครื่องทะเลออก และติดตั้งปืนต่อต้านอากาศยานแบบเดิม M1925 แท่นคู่เข้าไปเพิ่มอีก 4 แท่น  และติดตั้งปืนต่อต้านอากาศยานแท่นรวม 4 ลำกล้อง ขนาด 13.2 มิลลิเมตร เพิ่มเข้าไปเพิ่มจำนวน 4 แท่น เรือยังได้รับการติดตั้งเรดาร์ แต่สุดท้ายเมื่อฝรั่งเศสตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมัน ทำให้เรือลำนี้ต้องถูกจอดแช่อยู่ในท่าที่เมือง Toulou ก่อนจะโดนพวกเดียวกันเองทำลายทิ้งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1942 เพื่อไม่ให้เรือตกไปอยู่ในการครอบครองของฝ่ายอักษะ ซึ่งถือว่าเรือนั้นมีอายุที่สั้นมากๆ และที่สำคัญเมื่อสงครามจบตั้งแต่ Algerie ถูกแยกชิ้นส่วน ฝรั่งเศสเองก็ไม่เคยสร้างเรือลาดตระเวณหนักลำไหนขึ้นมาอีกเลยจนถึงปัจจุบัน





อ้างอิง
https://en.m.wikipedia.org/wiki/French_cruiser_Algérie
http://forum.worldofwarships.com/index.php?/topic/2769-heavy-cruiser-algerie/
http://www.navypedia.org/ships/france/fr_cr_algerie.htm
http://www.steelnavy.com/CombrigAlgerie.htm
http://www.chuckhawks.com/heavy_cruisers.htm
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่