ศึกมือถือหลังประมูลคลื่นรอบใหม่

กระทู้ข่าว

คอลัมน์ นอกลู่ในทาง: ศึกมือถือหลังประมูลคลื่นรอบใหม่
มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
โดย : เชอรี่ ประชาชาติ

          เกมการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือหลังการประมูลคลื่น 900MHz รอบใหม่คงเพิ่มดีกรีแข่งดุขึ้นอีกระดับ แต่ผู้เล่นหลักหนีไม่พ้น 3 ค่ายมือถือหน้าเดิม ด้วยว่าถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่อย่างที่เคยคาดหวังกันไว้ เมื่อ "แจส โมบายบรอดแบนด์" ในเครือจัสมินเบี้ยวไม่มาจ่ายเงินค่าประมูล ซะงั้น

          งานเข้า "กสทช." ทันที ต้องเสียเงินจัดประมูลอีกรอบ พร้อมกับปฏิบัติการไล่ล่าเช็กบิลเรียกค่าเสียหายจาก "แจส โมบายบรอดแบนด์" เพิ่มเติม แม้ยากที่จะหวังผลได้ นอกเหนือไปจากการริบเงินค้ำประกัน 664 ล้านบาทแล้ว

          การประมูลรอบนี้ใช้วิธีพิเศษ จัดให้โดย คำสั่ง "คสช." ที่ 16/2559 เรื่องการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม

          ไม่เพียงให้ "กสทช." จัดประมูลคลื่น 900MHz รอบใหม่เท่านั้น แต่ได้ขยายเวลาเยียวยาลูกค้าเอไอเอสที่ยังใช้ 2G คลื่น 900MHz อยู่ด้วย

          โดยขยายไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.2559 นี้ หรือไปจนกว่า "กสทช." จะออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้ แล้วแต่อย่างใดจะถึงกำหนดก่อนกัน

          มากกว่านั้นยังไม่ตัดสิทธิ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด(TUC) ในเครือทรู เข้าประมูล  เพียงแต่ "ทรู" ตัดสินใจไม่เข้าประมูลด้วย ซึ่งก็ไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

          ถ้า "ทรู" เข้าประมูลด้วยจะแปลกกว่า เพราะได้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 900MHz ไปครอบครองแล้วหนึ่งใบจากการชนะประมูลหนก่อนในราคา 76,298 ล้านบาท กับชุดคลื่นที่ 2 ในช่วงความถี่ 905-915MHz คู่กับ 950-960MHz

          นอกจากนี้ ราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 900MHz รอบใหม่นี้ยังยึดราคาที่ "แจส" ชนะไปเป็นตัวตั้ง ที่ 75,654 ล้านบาท

          และด้วยราคาตั้งต้นที่สูงลิบขนาดนี้ ทำให้ "ดีแทค" ประกาศชัดเจนก่อนใครเป็น รายแรกว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลด้วย เมื่อ "กลุ่มทรู" ตามมาอีกรายก่อนวันยื่นซองแค่วันเดียว ศึกชิงคลื่นรอบนี้ "เอไอเอส" จึงไร้คู่แข่ง (ตามคาด)

          สถานการณ์การแข่งขันหลังประมูลคลื่นจบลงจะเป็นเช่นไร ใครจะเปิดเกมรุกได้ดุเดือด กว่ากัน

          ระหว่างเอไอเอส, ทรูมูฟเอช หรือดีแทคที่น่าจับตาเป็นพิเศษเห็นจะเป็น "ดีแทค" เพราะเพิ่งได้แม่ทัพการตลาดคนใหม่ นอกจากเป็นคนไทยแล้วยังมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ ไม่น้อยหน้าใคร แม้จะอยู่ในฝั่งฟากของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่ผู้ให้บริการ (โอเปอ เรเตอร์) ก็ตาม

          อีกทั้งที่ผ่านมา "ดีแทค" เล่นบทตามน้ำมาตลอดทำให้โดนทั้งพี่ใหญ่ และน้องเล็กแย่งซีนไปเกือบหมด หนนี้คิดที่จะพลิกกลับขึ้นมามีบทบาทในตลาดอีกครั้งไหม ต้องรอดูช็อตต่อไป

          แต่เชื่อว่าที่จะไม่มีทางลดราวาศอกลงอย่างแน่นอน คือน้องเล็ก "ทรูมูฟเอช" มือวางอันดับสามในตลาดปัจจุบัน หากเทียบกันที่ฐานลูกค้าโดยรวม

          เพราะที่ผ่านมา "ทรูมูฟเอช" ไม่เพียงเดินเกมรุกไล่เก็บแต้มชิงฐานลูกค้าคู่แข่งแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกับพี่ใหญ่ "เอไอเอส" เท่านั้นแต่ให้น้ำหนักกับการเดินหน้าตอกย้ำความเป็นผู้นำบริการ 3G และ 4G เต็มพิกัด

          โดย "ทรูมูฟเอช" มีเป้าหมายที่จะกวาดส่วนแบ่งการตลาดในแง่รายได้ให้เป็น 1 ใน 3 ของตลาดภายในไม่เกิน 3 ปีนี้

          ที่น่าสนใจก็คือ แม้ฐานลูกค้าโดยรวมของ "ทรูมูฟเอช" จะยังเป็นอันดับสาม แต่ถ้าแยกเฉพาะลูกค้าแบบรายเดือนหรือโพสต์เพด "ทรูมูฟเอช" มีส่วนแบ่งเป็นอันดับสองไปแล้วเรียบร้อย ด้วยฐานลูกค้า ณ ไตรมาส 1 ปี 2559 นี้ ที่ 5.1 ล้านราย ห่างจากพี่ใหญ่ "เอไอเอส" ประมาณ 3 แสนราย และแซงหน้าเบอร์สอง "ดีแทค" ไปไกลแล้ว (เอไอเอส 5.4 ล้านราย ดีแทคที่ 4.4 ล้านราย)

          และสำหรับ "เอไอเอส" คงไม่ยอม น้อยหน้าในการรักษาโมเมนตัมผู้นำตลาด แม้จะมีงานหนักรออยู่เพียบ ทั้งที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการคลื่นความถี่ และอื่นๆ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ได้คุ้มค่าเงินที่ต้องจ่ายไปในราคาสูงลิบ ด้วยว่าแถบคลื่น 900MHz ที่จะได้มา ในทางเทคนิคใช้จริงได้ไม่เต็ม 10MHz

          ถึงจะอย่างนั้น การมีคลื่น 900MHz ไว้ใช้งานต่อก็ทำให้ "เอไอเอส" พอมีเวลาหายใจเพิ่มอีกหน่อย ไม่ต้องเร่งเกมแจกเครื่องให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้ 3G-4G เหมือน ที่แล้วมา

          และถ้า "ดีแทค" ไม่อยากโดนทิ้งห่างไปมากกว่านี้ ก็คงต้องเร่งเครื่องหนักขึ้นกว่าเดิมในจังหวะที่เบอร์หนึ่ง "เอไอเอส" และเบอร์สาม "ทรูมูฟเอช" ยังคงขยันเล่นเกมบุกเขย่าตลาดเต็มสตรีม


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 14)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่