ขุมทรัพย์ประมูลคลื่นมือถือ 3 ความถี่ รัฐโกย 2.7 แสนล้าน

กระทู้ข่าว

ขุมทรัพย์ประมูลคลื่นมือถือ 3 ความถี่ รัฐโกย 2.7 แสนล้าน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  26 พ.ค. 2559


          เป็นไปตามความคาดหมายสำหรับการเปิดยื่นซองเอกสารแสดงความจำนงเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่ ที่ปรากฏว่ามีแค่ "AWN" บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือของเอไอเอสเพียงรายเดียวที่ยื่นเอกสารเข้าประมูล แม้ก่อนหน้านี้บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) จะขอรับเอกสารเตรียมเข้าประมูลด้วย แต่ที่ประชุมคณะกรรมการของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 มีมติไม่เข้าประมูลเนื่องจากมีคลื่นความถี่เพียงพอแล้ว

          "นพปฎล เดชอุดม" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นระบุว่า คลื่นความถี่ที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันครอบคลุมทั้งคลื่นความถี่ต่ำที่ครอบคลุมกว้างไกล และความถี่สูงที่สามารถเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้ จึงมีความสมบูรณ์แบบในการให้บริการทั้งเทคโนโลยี 2G, 3G และ 4G แม้การเข้าประมูลจะทำให้มีโอกาสได้คลื่นเพิ่มซึ่งเป็นประโยชน์ แต่ยังไม่จำเป็นในระยะ 3-5 ปี

          "ในมุมมองของผู้บริหารชัดเจนว่า คลื่นที่เรามีปัจจุบันเพียงพอต่อการให้บริการที่ดีเยี่ยมกับลูกค้าทั้งในแง่ความครอบคลุมและความเร็ว เราวิเคราะห์หลายด้าน ถ้าเข้าไปประมูลแข่งจะสู้กันไปถึงเท่าไร และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ถ้าเราได้คลื่นมาต้องยอมรับว่ากระทบมูลค่าหุ้นในระยะสั้น แต่ระยะกลางและยาวยังไงก็ได้ใช้ เพราะคลื่นเป็นสิ่งมีค่า แต่เราก็มองว่าในอนาคตอาจมีคลื่นอื่นที่เหมาะกว่า สุดท้ายบอร์ดก็มีมติให้ทรูไม่เข้าร่วมประมูล"



          ขณะที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ประกาศตัวตั้งแต่แรกว่าจะไม่เข้าประมูลด้วย เมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าราคาตั้งต้นสำหรับการประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่นี้จะใช้ราคาที่ "แจส" ได้ไปเป็นตัวตั้งต้นคือ 75,654 ล้านบาท

          14.00 น. วันที่ 18 พ.ค. 2559 พลันที่ "AWN" มายื่นซองประมูลตามนัด "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศเข้าสู่ช่วง "ไซเรนต์พีเรียด" ทันที แม้จะมีผู้เข้าประมูลรายเดียว โดยห้ามไม่ให้ AWN เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประมูล และยังมีคณะกรรมการธรรมาภิบาลเข้ามาตรวจสอบและติดตามการประมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด

          การประมูลจะจัดขึ้นในเวลา 09.00 น.วันที่ 27 พ.ค.นี้ โดย AWN จะต้องเคาะรับราคาตั้งต้นประมูลที่ 75,654 ล้านบาท คาดว่ากระบวนการประมูลจะเสร็จสิ้นภายในเวลา 10.00 น. และในช่วงบ่ายวันเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะรับรองผลการประมูล

          "ฐากร" กล่าวว่า AWN จะนำเงินประมูลงวดแรก 8,040 ล้านบาท มาชำระเพื่อออกใบอนุญาตให้เร็วที่สุด แม้เงื่อนไขการประมูลจะมีเวลา 90 วัน แต่เนื่องจากกำหนดระยะเวลาเยียวยาลูกค้าคลื่น 900 MHz ของเอไอเอสจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ดังนั้น หากบริษัทไม่ต้องการให้ลูกค้า 2G มีปัญหาซิมดับจะต้องเปิดให้บริการบนโครงข่าย 900 MHz ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยา ซึ่งเป็นผลดีทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ 4G เร็วขึ้นด้วย

          "การประมูลครั้งนี้จัดขึ้นตามประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกำหนดว่าแม้จะมีผู้เข้าประมูลคนเดียวก็จะเดินหน้าต่อแต่จะให้เอไอเอสมายื่นซองเฉย ๆ ไม่ได้ต้องทำตามประกาศ ตอนนี้แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ถ้าก่อนนี้รู้ว่าจะมีแค่รายเดียวคงไม่ต้องใช้เงินเยอะขนาดนี้ แต่จากที่ตั้งงบฯไว้ 18 ล้านบาท คร่าว ๆ น่าจะใช้ราว 10 ล้านบาท เป็นส่วนของการวางระบบประมูลราว 6 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าค่าใช้จ่ายจากการจัดประมูลใหม่จะเรียกค่าเสียหายจากแจสได้"

          และคาดว่าคณะทำงานพิจารณาความรับผิดในกรณีบริษัทแจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะได้ข้อสรุปจำนวนเงินทั้งหมดที่จะเรียกเก็บจากบริษัทได้ภายในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุม กทค.พิจารณาภายในต้น มิ.ย.นี้

          ด้าน "พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" ประธาน กทค.กล่าวว่า ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าราคาคลื่นความถี่นี้ถูกหรือแพง เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอด ขณะที่ความนิยมในการใช้โมบายอินเทอร์เน็ตก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้โอเปอเรเตอร์ที่มีคลื่นน้อยกว่า 50 MHz จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันต่ำลงแน่นอน

          ดังนั้น ในอีก 2 ปีจากนี้มีความเป็นไปได้ที่ราคาคลื่นที่หลายฝ่ายมองว่าสูงมากอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว และสิ่งที่ กทค.จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อจากนี้ คือการกำกับด้านคุณภาพและราคาให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล รวมถึงมีการออกประกาศต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้มีข้อถกเถียงในทางปฏิบัติอีก

          สำหรับเงินรายได้เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ที่กสทช.จัดขึ้นที่ผ่านมา ได้แก่ คลื่น 2100 MHz ที่ประมูลเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 เป็นเงินทั้งสิ้น 41,625 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เงื่อนไขการชำระเงินแบ่งเป็นงวดแรก 50% ภายใน 90 วัน นับจากได้รับหนังสือแจ้งว่าเป็นผู้ชนะ งวดที่ 2 อีก 25% เมื่อได้รับใบอนุญาตครบ 2 ปี และอีก 25% เมื่อได้รับใบอนุญาตครบ3 ปี โดย กสทช.ทยอยนำส่งเงินเข้าคลังแล้วตั้งแต่ ธ.ค. 2555 เป็นเงิน 20,812.5 ล้านบาท งวดที่ 2 เมื่อ ธ.ค. 2557 เป็นเงิน 10,406.25 ล้านบาท และงวดสุดท้ายในเดือน ธ.ค. 2558

          ส่วนการประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อเดือน พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา รวม 2 ใบอนุญาต เป็นเงิน 80,778 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดย กสทช.นำส่งเงินรายได้งวดแรก (50% ของวงเงินประมูล) เข้าคลังไปเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2558 เป็นเงิน 40,389 ล้านบาท

          ขณะที่การประมูลคลื่น 900 MHz รอบแรกเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ชนะประมูลไปในราคา 76,298 ล้านบาท และงวดการชำระเงินกำหนดไว้ที่ 8,040 ล้านบาทก่อนรับใบอนุญาต และปีที่ 2 และปีที่ 3 จ่ายปีละ 4,020 ล้านบาท

          ส่วนที่เหลือจ่ายปีที่ 4 และ กสทช.นำส่งเงินรายได้จากการประมูลคลื่นไปในเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา เป็นเงิน 8,040 ล้านบาท

รวมเบ็ดเสร็จแล้วตั้งแต่มีการเปิดประมูลคลื่นเป็นต้นมา มีรายได้เข้าแผ่นดินแล้ว 90,054 ล้านบาท



แหล่งข่าว
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  26 พ.ค. 2559
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1464242212
ภาพประกอบจาก Droidsans.com
http://images.droidsans.com/sites/default/files/900mhz-2nd-round.png
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่