กรุงศรีถกแบงก์ชาติ รับมือเอกชนลงสนาม 'ฟินเทค'


กรุงศรีถกแบงก์ชาติ รับมือเอกชนลงสนาม 'ฟินเทค'
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
โดย : เสาวรส รณเกียรติ

          ไม่ใช่เพียงธนาคารขนาดใหญ่อย่าง ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เปิดตัวเชิงรุกด้านเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค (Financial Technology) ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ประกาศตั้งแต่ต้นปี และพร้อมจะรับมือการแข่งขันด้านฟินเทค โดยใช้ยุทธศาสตร์ 7  เสาหลัก (Pillar) ในการก้าวสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้ง

          อย่างไรก็ตาม แม้กลยุทธ์หนึ่งที่เกี่ยวกับฟินเทคและสตาร์ทอัพของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะคล้ายคลึงกับธนาคารอื่น คือมองเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมากกว่าคู่แข่งก็ตาม แต่สำหรับธุรกิจรายใหญ่ของไทยบางราย รวมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เริ่มแสดงความสนใจและพยายามจะใช้ฟินเทคในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งน่าจะเป็นคู่แข่งของธนาคารได้มากกว่ากลุ่มสตาร์ทอัพนั้น

          ในมุมมองของ ฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส หรือ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เห็นว่า แทนที่จะกลัวกลุ่มนี้มาเป็นคู่แข่งและมัวแต่ตั้งรับ ธนาคารเองควรกระโดดเข้าไปอยู่ในจุดนั้น และบางทีอาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ หรือ บิซิเนส โมเดล โดยให้กลุ่มฟินเทค กลุ่มสตาร์ทอัพมาช่วย ขณะที่ธนาคารก็มีระบบการทำงาน เช่น Operating Model ระบบชำระเงิน เป็นจุดแข็งอยู่

          ทั้งนี้ ฐากร ระบุว่า มีธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์อยากเข้าร่วมในวงฟินเทคด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพย์พาล (PayPal) อาลีเพย์ บิตคอยน์ ซึ่งจะส่งผลให้อนาคตการโอนเงิน ชำระเงินไม่ต้องผ่านธนาคารเลย

          รวมทั้งเลนดิ้งคลับ (Lending Club) พีทูพี หรือการปล่อยกู้ระหว่างบุคคลโดยไม่ผ่านสถาบันการเงินที่ประสบความสำเร็จ ในอเมริกา โดยเจ้าของคือแพลตฟอร์มที่คนอยากปล่อยกู้ก็เอาเงินมาใส่ไว้ที่แพลตฟอร์มนี้ คนอยากกู้ก็เข้ามาในแพลตฟอร์ม ซึ่งทั้งเลนดิ้ง คลับ และพีทูพี ยังเกิดไม่ได้ในไทย เนื่องจากปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแล เขียนกฎไว้ว่า การจะปล่อยกู้ได้ต้องมี ใบอนุญาต

          แต่จุดที่ทำให้ธนาคารคิดที่จะกระโจนเข้าไปสร้างแพลตฟอร์มนั้นเอง เพราะสิ่งที่ธนาคารกลัวคือ  วันหนึ่ง ธปท.บอกว่าจะเปิดเสรี อาจจะด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ระบบสถาบันการเงินมีการผูกขาด ไม่สามารถทำให้สินเชื่อไปถึงคนที่อยู่ไกลๆ ได้ จึงจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์นี้ โดยต่อไปจะไม่ใช่เพียงธนาคาร 14 แห่ง ไม่ใช่ลีสซิ่ง นาโนไฟแนนซ์ที่ทำได้ แต่เป็นใครก็ไม่รู้สามารถเข้าทำได้

          และจากการที่ธนาคารได้หารือกับ ธปท.ได้คุยกันว่า ถ้าธนาคารจะทำเองบ้าง อย่างอาลีบาบา ที่เปิดแพลตฟอร์มจับให้ผู้กู้กับผู้ให้กู้มาเจอกัน จะทำได้หรือไม่

          จากการพูดคุย ผมว่า ธปท.เริ่มมอง ไปข้างหน้ามากขึ้น เข้าใจแบงก์มากขึ้น เมื่อก่อนแบงก์อาจจะไม่เคยทำแบบนี้ได้ ต่อไปธปท.อาจจะบอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้เพราะผิด จะกลายเป็นเอ็นพีแอล มีการฟอกเงินแต่ผมเชื่อว่า ธปท.มีความก้าวหน้า หากเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา เขารู้ว่าจะต้องทำแบบไหน"สำหรับเรื่องของ ฟินเทค และสตาร์ทอัพที่ฐากรพูดถึง จะเกี่ยวโยงกับ 1 ใน 7 พิลลาร์ของธนาคาร โดยสิ่งที่ธนาคารต้องทำคือการหาแนวทางให้ธนาคารทำงานกับกลุ่มนี้ได้ เพราะพนักงานธนาคารกับกลุ่มฟินเทค หรือสตาร์ทอัพนั้นมาจากคนละวัฒนธรรม และมีจุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน ซึ่งในมิติธนาคารคือธนาคารต้องการโซลูชั่นที่กลุ่มนี้คิดค้นขึ้น เพื่อใช้ในการให้บริการของธนาคาร ขณะเดียวกันก็อยากให้ฟินเทคกับสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ สามารถตั้งเป็นบริษัทได้ ท้ายสุดก็อาจมาทำธุรกรรมกับธนาคารได้ และเป็นโอกาสที่ธนาคารจะได้ร่วมลงทุนเป็นเวนเจอร์ แคปปิตอล ด้วย

          สำหรับพิลลาร์อื่นๆ นั้น ประกอบด้วย การสร้างความชื่นชอบในช่องทางที่ลูกค้าจะใช้บริการ ซึ่งขณะนี้ธนาคารโฟกัสไปที่เรื่องเดียว ให้บริการทุกอย่างอยู่บนสมาร์ทโฟนหมด ทั้งธุรกรรมที่เคยทำผ่านสาขาตู้เอทีเอ็ม บัตรเครดิต บัตรเดบิต รวมทั้งคอลเซ็นเตอร์

          นอกจากนี้ ยังมีปรับเปลี่ยนการทำงานของสาขา จากธุรกรรมกระดาษเป็นดิจิทัลที่ทำให้ต้นทุนต่ำลง เช่น ต่อไปการเปิดบัญชีไม่ต้องมาเซ็นชื่อในกระดาษที่สาขา เป็นต้น การลดกระบวนการขั้นตอนการทำงานให้กระชับขึ้น และเป็นดิจิทัลแทน การใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ต้องสื่อสาร 2 ทาง คือ นอกจากใช้ประชาสัมพันธ์แล้ว ยังต้องมีการรับมือ หรือบริหารจัดการข่าวในภาวะวิกฤตด้วย การสร้างนวัตกรรมด้านฟินเทค โดยการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้บุคลากรของธนาคารมีส่วนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงินใหม่ๆ สุดท้ายคือ ระบบอี-เพย์เมนต์ ตามนโยบายของรัฐบาล

          ทั้ง 7 พิลลาร์ที่ธนาคารทำนี้ วัตถุประสงค์สุดท้ายคือเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้ธนาคารได้ลูกค้าใหม่ คงลูกค้าปัจจุบันไว้ และใช้บริการธนาคารมากขึ้น


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า A15)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่