จับตา กฎหมายแบงก์-ค่ายมือถือ ร่วมรับผิดมิจฉาชีพ รวมโซเชียลมีเดีย ?

ดีอีดันแก้กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์เสร็จปีนี้ บีบแบงก์-ค่ายมือถือ ร่วมรับผิดชอบกรณีปล่อยปละให้เกิดอาชญากรรมไซเบอร์ เพิ่มโทษโจร คืนเงินเหยื่อ จับตา พ.ร.ก.ฉบับแก้ไขครอบคลุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียร่วมรับผิดชอบหรือไม่ 

“ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้าและเจาะประเด็นสำคัญของกฎหมายมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2568 นี้ มีความมุ่งมาดเพื่อแก้ไขปัญหามิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดในประเทศ

หลังค้างคามาหลายเดือนสำหรับการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยมีส่วนสำคัญคือแนวทางคืนเงินให้เหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ และการดึงเอาสถาบันการเงิน/ธนาคาร และค่ายมือถือ ซึ่งเป็นต้นทางที่อาชญากรไซเบอร์ใช้ในหลอกลวงและโอนเงิน ร่วมรับผิดชอบหากพบว่าปล่อยปละให้อาชญากรใช้งานซิม-บัญชีธนาคาร

ล่าสุดมีรายงานว่าร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมผ่านขั้นตอนกฤษฎีกา และกำลังกลับเข้ามาพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

เมื่อแก้ไขข้อกฎหมายเดิมแล้ว จะมีการเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงซิมผี บัญชีม้าด้วย โดยมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ให้อำนาจการระงับ หรือยกเลิกการใช้ซิม หรือการสื่อสารต้องสงสัย ซึ่งทั้งค่ายมือถือ และธนาคาร ล้วนมีมาตรการในการตรวจสอบแล้ว เช่น ฝั่งค่ายมือถือหากพบว่ามีเบอร์โทร.ออกมากกว่า 100 ครั้ง จะระงับไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบ

ดังนั้น ส่วนที่สำคัญคือการ “เพิ่มความรับผิดชอบ” ของสถาบันการเงินหรือธนาคาร ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ตลอดจนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ในความเสียหายของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงออนไลน์

“กรณีของธนาคาร หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีการปล่อยปละให้เปิดบัญชีม้า หรือการกระทำใด ๆ ที่เอื้อให้โจร ก็อาจจะต้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย 100% แต่หากทำให้เห็นว่าป้องกันแล้วก็ยังเกิดเป็นช่องทางให้โจรใช้ ก็ขึ้นอยู่กับศาลท่านว่าจะให้ธนาคารชดใช้อย่างไร”

เงื่อนไขที่ธนาคารต้องดำเนินการตามขั้นตอนมีอยู่ 5 อย่างสำคัญ ได้แก่
   - ตรวจจับธุรกรรมที่น่าสงสัย เพื่อป้องกันการหลอกลวง
   - หยุดธุรกรรมที่มีความเสี่ยง
   - แจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ เมื่อตรวจพบกิจกรรมผิดปกติในบัญชี
   - ให้ความรู้ผู้ใช้งาน
   - จัดการระบบความปลอดภัย 

บริษัทโทรคมนาคมต้องทำ 3 อย่างคือ 
    - กรองข้อความที่เป็นสแปมหรือปลอมแปลง
    - ปิดกั้นลิงก์ที่น่าสงสัย ที่อาจนำไปสู่เว็บไซต์ฟิชชิ่ง
    - ตรวจสอบและอัพเดตระบบความปลอดภัย เพื่อป้องกันการกระทำผิดทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อธนาคารและค่ายมือถือทำตามเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ยังต้อง “พิสูจน์” การหลอกลวง ที่คาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร

จึงต้องจับตาต่อไปว่า พ.ร.ก.อาชญากรรมไซเบอร์ฯ ฉบับแก้ไขใหม่นี้ จะจัดวางตำแหน่งความรับผิดชอบร่วมกันของ “แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” ที่ล้วนเป็น “บิ๊กเทค” ข้ามชาติไว้อย่างไร

ที่มา : prachachat.net
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่