ช่วยผมสรุปหน่อยครับ

ตั้งคำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” ก่อให้เกิดความเสียหายแน่ แต่ไม่ใช่กับคนที่แต่งเครื่องแบบจำนวนน้อยที่เป็นนายทหาร พวกนี้เสียหายเหมือนกัน แต่เป็นความเสียหายระดับกระจอก แม้แต่เมื่อรวมเงินกินนอกกินในที่ได้จากการซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์แล้ว ก็ยังถือว่ากระจอก

เงินจำนวนมหาศาลจากวิสาหกิจกองทัพไม่ได้ใช้จ่ายไปกับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เหรียญตรา ฯลฯ ของทหารหรอกครับ แต่จ่ายไปกับอาวุธยุทธภัณฑ์และยุทธบริการที่ขายให้แก่กองทัพโดยบริษัทต่างๆ นี่เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการผลิตในโลกปัจจุบัน มีการจ้างงานคนจำนวนมาก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำกำไรต่อปีมากกว่างบประมาณประจำปีของหลายประเทศในโลกนี้ แบ่งปันกันไปในหมู่ผู้ถือหุ้น ทั้งรายใหญ่และเล็ก รวมทั้งรัฐบาลของประเทศผู้ผลิตอาวุธด้วย

หากไม่สามารถตอบให้เป็นที่น่าพอใจได้ว่า “ทหารมีไว้ทำไม” จนทำให้โลกนี้ไม่มีทหารเหลืออยู่อีกเลย ส่วนนี้ของระบบการผลิตในโลกปัจจุบันจะต้องยุติลง คงใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าเศรษฐกิจใหญ่ๆ ทั้งหลายจะสามารถปรับตัว เอาทุนและแรงงานฝีมือไปใช้ในการผลิตสิ่งอื่นซึ่งมีการแข่งขันสูงกว่าได้ ฉะนั้น บางส่วนคงเจ๊ง และบางส่วนก็อาจหากำไรในการประกอบการอย่างอื่นได้ แต่จะให้ได้กำไรเหมือนการผลิตอาวุธและยุทธบริการไม่ได้หรอก

เสียหายแน่ แต่เสียด้านหนึ่งก็จะมีผลดีต่ออีกด้านหนึ่ง

ย้อนกลับไปเพียงแค่สมัยอยุธยาตอนปลาย ไปถามว่าทหารมีไว้ทำไม ชนชั้นปกครองก็จะตอบว่า เพื่อจัดหมวดหมู่กำลังแรงงานไพร่ เอาไว้ใช้ในราชการบ้าง ในกิจการส่วนตัวของเจ้าขุนมูลนายบ้าง แต่จะไม่มีใครตอบว่าเพื่อเป็นยามไว้ป้องกันขโมยเป็นอันขาด เพราะไพร่ที่ถูกจัดในหมวดทหาร มิได้มีหน้าที่พิเศษในด้านการรบ เมื่อเกิดศึกสงครามขึ้น ไพร่ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่พลเรือนก็ถูกเกณฑ์ไปรบไม่ต่างจากไพร่ในหมวดหมู่ทหาร

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมไทยไม่เคยมีชนชั้น หรือกลุ่มประชากร ที่มีอาชีพในการรบเหมือนสังคมยุโรปหรือญี่ปุ่น อันที่จริงพูดว่าอัศวินในสมัยกลางของยุโรป หรือซามูไร เป็นอาชีพ ก็ชวนให้ไขว้เขวได้ อย่างน้อยคนเหล่านี้ไม่เคยคิดว่าตัวต้องทำอะไรเพื่อแลกกับอาหารและเครื่องอุปโภค คนที่ต้องทำอย่างนั้นคือชาวนาซึ่งไม่มีศักดิ์ศรีเหมือนอัศวินหรือซามูไร พวกเขาสั่งสมความสามารถในการรบไว้กับตัวเพื่อรับใช้นายของเขาด้วยความภักดี และความสามารถในการรบเป็นเกียรติยศในตัวของมันเอง ไม่ใช่ไว้ทำมาหากิน

คนเหล่านี้สังกัดใน “ชนชั้น” ของนักรบ เรียกว่าชนชั้นก็เพราะสืบทอดสถานะนั้นผ่านลงมายังลูกหลานได้ และสังคมไทยกับอีกหลายสังคมในโลกนี้ ก็ไม่เคยมี “ชนชั้น” อย่างนี้ในสังคม จริงๆ คำว่า “ทหาร” ในกฎหมายตราสามดวงแปลว่าอะไรก็ไม่รู้แน่หรอกครับ ถ้ามันเคยมีความหมายอะไรเกี่ยวกับเรื่องรบราฆ่าฟันมาก่อน ความหมายนั้นก็เลือนไปในกฎหมายตราสามดวงแล้ว

หากจะนับนักรบเป็นชนชั้นในสังคมโบราณ ยังมีชนชั้นนักรบในสังคมที่ไม่ใช่ยุโรปและญี่ปุ่นอีก เช่นบางสังคมมีกองทัพทาส คือเอาทาสมาฝึกรบ จนกลายเป็นกองกำลังประจำการของพระราชาหรือของเจ้าครองแคว้น ลูกหลานของทาสเหล่านี้ก็ยังดำรงสถานะนักรบประจำการของนายสืบมา จึงถือว่าเป็นชนชั้นเหมือนกัน

ในอีกหลายสังคม โดยเฉพาะชนเผ่าเร่ร่อน การรบหรือการต่อสู้สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากการล่าสัตว์, การรักษาทุ่งหญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์, หรือบางทีก็รวมการหาคู่ด้วย ดังนั้น วิถีที่เด็กผู้ชายเติบโตขึ้นมาก็คือถูกฝึกปรือให้มีความชำนาญด้านการต่อสู้ เช่น ขี่ม้าได้ตั้งแต่ยังเดินไม่คล่อง ผู้ชายของเผ่าทุกคนจึงรบเป็น แต่จะเรียกว่าพวกเขาเป็น “ทหาร” ทั้งหมดก็คงไม่ได้ เพราะเขาคือนักเลี้ยงสัตว์ที่รบเป็นเท่านั้น

ผมไล่เรียงนักรบในสังคมต่างๆ มาเพื่อจะบอกว่า “ทหาร” ตามที่เราเข้าใจปัจจุบันเป็นสิ่งใหม่มาก เป็น “อาชีพ” ที่เกิดขึ้นในเงื่อนไขของโลกสมัยใหม่ นั่นคือเมื่อรัฐไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวของพระราชาแล้ว แต่เป็นสมบัติร่วมกันของพลเมืองทุกคน หน้าที่ป้องกันบ้านเมืองจึงกลายเป็นของทุกคน

ในยุโรป ความคิดแบบนี้เกิดแก่ชาวฝรั่งเศสขึ้นก่อนหลังปฏิวัติฝรั่งเศส และด้วยเหตุดังนั้นกองทัพฝรั่งเศส จึงสามารถป้องกันประเทศจากการรุมยำของมหาอำนาจยุโรปสมัยนั้น (ออสเตรีย, ปรัสเซีย, อังกฤษ) ได้สำเร็จ เพราะมหาอำนาจเหล่านั้นล้วนยังใช้กองทัพนักรบและไพร่พลสังกัดมูลนายมารบกับกองทัพฝรั่งเศส ซึ่งกลายเป็นกองทัพของอาสาสมัครพลเมือง ซึ่งไม่คิดจะรบให้ใครนอกจากให้แก่ “ชาติ” ซึ่งมีตนเองเป็นส่วนหนึ่งในชาติ ปลดปล่อยฝรั่งเศสจากศัตรู คือปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการของระบบศักดินา

ความเป็นชาติทำให้เกิดกองทัพประจำการขึ้นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากกองทัพประจำการที่เคยมีมาก่อนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพซึ่งมีไว้รักษาพระองค์, หรือราชวงศ์, หรือตระกูลเจ้าเมือง, หรือเจ้าครองแคว้น และไม่เหมือนกองทัพรับจ้างซึ่งนายทุนใหญ่ๆ มักสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการหากำไรทางการค้าของตนเอง เช่นกองทัพของบริษัทอินเดียตะวันออกทั้งของวิลันดาและอังกฤษ มีคนหลายชนชาติรับจ้างรบให้กับบริษัทของทั้งวิลันดาและอังกฤษ

กองทัพแห่งชาติเป็นกองกำลังประจำการ คือไม่ได้มีอยู่ตอนจะรบกับใคร แต่มีประจำการอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยก็ต้องรักษาแกนกลางของกองทัพเอาไว้ คือกลุ่มนายทหารซึ่งร่ำเรียนมาในการทำสงครามและทำการรบ ส่วนพลทหารก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากการอาสาสมัครไปสู่การเรียกเกณฑ์ ด้วยอำนาจของรัฐชาติ ทำให้เรียกเกณฑ์ได้จำนวนมาก เพราะรัฐชาติรวบรวมภาษีไว้ได้มากกว่าที่เจ้านายสมัยก่อนจะสามารถเรียกได้ จึงมีกำลังทางเศรษฐกิจที่จะเลี้ยงดูกองทัพที่มีกำลังพลจำนวนมาก พร้อมทั้งฝึกปรือทักษะขั้นพื้นฐานในการรบให้แก่ทหารเกณฑ์ได้หมด

ในหลายรัฐทั่วโลก ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยมีกองทัพประจำการมาก่อน นอกจากกองกำลังเล็กๆ ที่มีไว้รักษาความปลอดภัยให้เจ้านาย เช่นเมืองไทยนั้นไม่เคยมีทั้งกองทัพประจำการจนถึง ร.5 และเช่นเดียวกับเมืองไทย เมื่อรัฐต่างๆ เริ่มเปลี่ยนหรือถูกบังคับให้เปลี่ยนมาเป็นรัฐชาติ (รัฐชาติจริงหรือจำแลงก็ตาม) ก็เกิดกองทัพประจำการของชาติขึ้นทั่วไป

ที่เรียกว่า “ทหาร” ในความหมายปัจจุบัน คือคนที่ทำงานอยู่ในกองทัพประจำการ เป็นอาชีพใหม่มากจนกระทั่งจะถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” จึงเป็นปรกติธรรมดามากๆ

ที่สงครามในโลกสมัยใหม่มักรุนแรงและเกิดความเสียหายมาก ไม่ได้มาจากอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งมีกำลังทำลายล้างสูงเพียงอย่างเดียว แต่เพราะกองทัพแห่งชาติที่เข้าสัประยุทธ์กันนั้น เป็นกองทัพขนาดใหญ่กว่าที่พระราชาหรือบริษัทค้าขายจะสามารถระดมมาได้ด้วย

เมื่อรัฐชาติมีกองทัพประจำการขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของความเป็นรัฐชาติ เพราะกองทัพเป็นเครื่องมือให้รัฐผูกขาดความรุนแรงได้เด็ดขาดที่สุด แต่ปัญหาที่ตามมาทันทีก็คือ แล้วกองทัพประจำการนั้นอยู่ในความบังคับบัญชาของใครกันเล่า โดยทฤษฎีแล้วกองทัพต้องอยู่ภายใต้การบังคับควบคุมของผู้บริหารรัฐ เพราะกองทัพเป็นกลไกรัฐอย่างหนึ่ง

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ในรัฐชาติซึ่งเกิดขึ้นโดยยังไม่มีอำนาจอื่นพัฒนาขึ้นมาให้สูงเด่นเป็นที่ยอมรับทั่วไป เช่น รัฐสภา, พรรคการเมืองผูกขาด (เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคอุมโน หรือพรรคกิจประชา), หรือองค์กรศาสนา ฯลฯ กองทัพมักเป็นอิสระเหมือนเป็นรัฐซ้อนรัฐ (และมักจะซ้อนข้างบน) แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, เกียรติยศ, อำนาจทางการเมือง ฯลฯ ให้แก่องค์กรของตนเอง หรือผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นนายทหารระดับสูง วิธีจะทำอย่างนั้นมักใช้อำนาจดิบที่มีในมือข่มขู่ให้อำนาจอื่นๆ ต้องยอมตามคำเรียกร้อง หรือมิฉะนั้นก็ร่วมมือกับบุคคลบางคนที่พอมีฐานคะแนนนิยมในสังคมอยู่บ้าง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน เช่น อดีตประธานาธิบดีมาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ หรือซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย กองทัพได้ค่าต๋งจากงบประมาณและการเรียกเก็บนอกกฎหมาย รวมทั้งตำแหน่งฝ่ายพลเรือนทั้งในรัฐวิสาหกิจและผู้ว่าราชการจังหวัด ในขณะที่ผู้มีฐานคะแนนนิยมอยู่ในสังคมได้อำนาจเด็ดขาดทางการเมือง จะใช้อำนาจนี้ไปทำอะไรต่อก็แล้วแต่บุคคล

ในแง่นี้ กองทัพในหลายรัฐชาติ จึงขัดขวางพัฒนาการสองอย่างของรัฐชาติ หนึ่งคือขัดขวางพัฒนาการของประชาธิปไตย และสองคือขัดขวางแม้แต่พัฒนาการของความเป็นชาติในรัฐนั้น เพราะบทบาทของกองทัพทำให้พลเมืองทั่วไปมองไม่เห็นว่าชาติเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคนโดยเสมอภาค ตราบเท่าที่แม้แต่สำนึกพื้นฐานของชาติเพียงเท่านี้ยังไม่เกิดแก่พลเมืองทั่วไป ตราบนั้นก็ไม่มีทางจะเกิด “ชาติ” ที่แท้จริงขึ้นได้ ไม่ว่ากองทัพจะเน้นย้ำความรักชาติสักเพียงใดก็ตาม

ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งคือ การรักษาอธิปไตยของรัฐชาติ อันที่จริงเป็นหน้าที่ซึ่งทำกันหลายฝ่าย แต่หากโชคร้ายที่ถึงที่สุดแล้วต้องมาลงเอยที่สงคราม กองทัพจะมีหน้าที่สำคัญสุด แต่สงครามเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่ทุกฝ่าย แม้แต่ฝ่ายที่ชนะ จึงมีความพยายามจะสร้างกลไกไว้นานาชนิด เพื่อทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐไม่พัฒนาไปจนถึงจุดที่ต้องทำสงครามระหว่างกัน แต่จะพูดว่ากลไกระหว่างประเทศเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ เช่น สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Westphalia) ซึ่งกำหนดให้รัฐไม่ว่าใหญ่หรือเล็กในยุโรปตะวันตกมีอธิปไตยเท่าเทียมกันหมด ตามมาด้วยการสร้างดุลอำนาจระหว่างรัฐใหญ่ต่างๆ เพื่อทำให้สงครามเกิดขึ้นได้ยาก แต่แล้วยุโรปตะวันตกก็เกิดสงครามขึ้นจนได้ ซ้ำเป็นสงครามร้ายแรงด้วย เพราะยกเอาพันธมิตรในดุลอำนาจฝ่ายตนเข้าราวีห้ำหั่นกัน

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงสงครามแย่งผลประโยชน์กันนอกยุโรปตะวันตก เช่นในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งไม่ถูกถือตามสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียว่าทุกรัฐมีอธิปไตยเท่ากัน

มองด้านล้มเหลวก็ล้มเหลว แต่มองด้านสำเร็จก็สำเร็จมากเหมือนกัน จากสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียมาถึงปัจจุบัน กลไกระหว่างประเทศดังกล่าวถูกพัฒนาไปอย่างมาก นอกจากองค์กรโลกเช่นสหประชาชาติแล้ว ยังมีการรวมกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป, อาเซียน และกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอเมริกาเหนือและกลาง โอกาสที่จะเกิดสงครามภายในกลุ่มเหล่านี้เหลือน้อยลงมาก ถึงยังมีสงครามกับประเทศนอกกลุ่ม แต่ก็อยู่ในวงจำกัดไม่ลามไปเป็นสงครามขนาดใหญ่

โลกภายใต้กลไกระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและระงับสงครามดังที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้คำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” เป็นคำถามที่มีเหตุผล และควรต้องถามกันอย่างวิเคราะห์เจาะลึกทีเดียว อาจเป็นได้ว่ากองทัพประจำชาติคือกระดุมที่ติดอยู่ปลายแขนเสื้อนอก ซึ่งไม่ได้มีไว้กลัดกับอะไร แต่ต้องมีไว้เพราะเป็นธรรมเนียมที่เหลือตกค้างมาแต่อดีต

แม้แต่จะธำรงรักษากองทัพแห่งชาติไว้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนการจัดองค์กร, ขนาด, เครื่องไม้เครื่องมือ, สายการบังคับบัญชา ฯลฯ กันใหม่หมด จึงจะเหมาะกับโลกปัจจุบันซึ่งมีกลไกระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและป้องปรามการสงครามที่สลับซับซ้อนเช่นนี้

คําถาม “ทหารมีไว้ทำไม” เป็นคำถามสำคัญแห่งยุคสมัยอย่างที่แทบจะหาคำถามอื่นเทียบไม่ได้ และเราต้องไม่ลืมว่า กองทัพแห่งชาติบวกกับธุรกิจค้าอาวุธและยุทธบริการแก่ทหาร ทำให้กองทัพไม่ว่าของชาติใดทั้งสิ้นเป็นองค์กรรัฐที่สิ้นเปลืองอย่างมาก จนบางครั้งแทบทำให้รัฐพิการลงไปเพราะหมดสมรรถนะที่จะดูแลพลเมืองของตนเอง

ไม่มีกองทัพ เราจะสามารถทำให้ทุกคนเข้านอนได้ด้วยท้องที่อิ่ม ไม่มีกองทัพ จะมีเงินเหลือมาปรับปรุงระบบสุขภาพถ้วนหน้าได้มากกว่านี้อีก และในทุกประเทศทั่วโลก ไม่มีกองทัพ เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนที่อยากเรียนรู้ จะได้เรียนรู้ ไม่มีกองทัพ โลกทั้งโลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้ก่อนเวลาที่ตกลงกันเป็นหลายสิบปี ไม่มีกองทัพ เราจะสามารถขจัดโรคติดต่อร้ายแรงให้หมดไปจากโลกโดยสิ้นเชิงได้ ไม่มีกองทัพ ทั้งโลกจะยิ่งพัฒนากลไกระหว่างประเทศเพื่อระงับสงครามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่มีกองทัพ… จะมีโลกใหม่ที่ชีวิตผู้คนอาจดำเนินไปอย่างสงบสุขและสร้างสรรค์กว่าที่เราเผชิญมา

เรามาช่วยกันตั้งคำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” ให้ติดปากทุกคน และช่วยกันหาคำตอบต่อคำถามนี้อย่างเอาจริงเอาจัง โดยไม่ยอมให้ใครสถาปนาแนวคำตอบของตนขึ้นครอบงำคนอื่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่