คอลัมน์ คิดคนละวัน: ยื่นหมูยื่นแมวคลื่น 900


คอลัมน์ คิดคนละวัน: ยื่นหมูยื่นแมวคลื่น 900
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559
โดย : พรพรต ชัยศรีบุญเรือง บรรณาธิการธุรกิจ-ตลาด



          เอาที่สบายใจกันเลย สำหรับการจัดสรรคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งกลุ่มจัสมินหรือแจสเบี้ยวไม่มาจ่ายเงินค่าใบอนุญาต ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เข้ามาแก้ปัญหา จากนั้นเรื่องก็เข้าสู่แดนสนธยา เต็มไปด้วยวาระแฝงเร้น ระแวงแบ่งฝ'าย ซ่อนปมที่อธิบายไม่ได้

          คงจำกันได้ หลัง กสทช.จัดการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 2 ใบ แบ่งเป็นใบละ 10 เมกะเฮิรตซ์ อายุสัญญา 15 ปี โดยใบแรกกลุ่มจัสมินหรือแจสชนะประมูลด้วยราคา 75,654 ล้านบาท รองลงไปเป็นกลุ่มดีแทค เคาะราคาที่ 70,180 ล้านบาท ส่วนใบที่สองทางกลุ่มทรูชนะประมูลที่ 76,298 ล้านบาท รองลงไปเป็นเอไอเอสเคาะประมูลครั้งสุดท้ายที่ราคาสูงสุดในคลื่นสล็อตที่สอง 75,976 ล้านบาท

          หลังการประมูล ทางกลุ่มทรูมาจ่ายค่าใบอนุญาต พร้อมหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงิน หรือแบงก์ การันตีตามกำหนด ส่วนกลุ่มจัสมินไม่มาจ่าย ทำให้คลื่น 900 สล็อตแรกกว่า 7.56 หมื่นล้านบาท ต้องโดนนำมาจัดสรรใหม่ ซึ่งในการแก้ปัญหา ทาง กสทช.บอกว่าหากนำมาจัดสรรใหม่ให้เร็ว และท่ามกลางข่าวแปลกๆ ว่าทางเอไอเอสเสนอตัวจะเซ้งคลื่นดังกล่าวต่อจากจัสมิน อำนาจของ กสทช.มีไม่พอดำเนินการได้ ต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ซึ่งนายกฯ ตู่ วางแนวทางไว้ 2 ข้อ คือ 1.ต้องไม่ทำให้ประโยชน์ของชาติลดลง และ 2.ต้องไม่ขัดกับกฎหมาย

          ในเบื้องต้นของการแก้ปัญหา มีการเรียกหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม งานด้านกฎหมาย และเอไอเอสเข้าไปเจรจา ผลออกมาว่าให้เอไอเอสช่วยชาติด้วยการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 สล็อตที่หนึ่ง ในราคาสุดท้ายที่จัสมินประมูลแล้วไม่มาจ่ายเงิน 7.56 หมื่นล้านบาท เพื่อให้รัฐมีรายได้เท่ากับที่เปิดประมูล และไม่ต้องโดนผู้ชนะประมูลอีกรายมาเรียกร้องให้ลดค่าใบอนุญาตตาม เพราะรัฐบาลต้องการใช้งบประมาณไปลงทุนพัฒนาประเทศอีกหลายโครงการ

          ทางเอไอเอสจึงเสนอเงื่อนไขกลับว่า 1.ต้องให้รัฐแก้ปัญหาคลื่นรบกวนในสล็อตหนึ่ง ซึ่งต้องติด ฟิลเตอร์กรองคลื่น 2,000-3,000 ล้านบาท 2.ต้องการให้รัฐแก้ปัญหาที่ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว ซิม 2จี บนคลื่น 900 ที่เหลืออีก 4 แสนราย ซึ่งจะหมดในวันที่ 14 เม.ย. ให้ไม่มีปัญหาซิมดับ และมีที่ใช้บริการโรมมิ่ง หรือใช้เครือข่ายร่วมอีกกว่า 7.8 ล้านเลขหมาย สามารถใช้บริการได้ เพื่อเอไอเอสจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าโรมมิ่งกับดีแทค และ 3.ต้องให้เวลาเอไอเอส 2 เดือน ในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติ 75% ให้จ่ายค่าใบอนุญาต 7.56 หมื่นล้านบาท

          จากนั้น กสทช.ประชุมบอร์ดวาระพิเศษ มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 900 โดยมีสาระสำคัญ ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 75,654 ล้านบาท เคาะเพิ่มครั้งละ 152 ล้านบาท ห้ามกลุ่มทรูประมูล เพราะได้รับใบอนุญาตจากการประมูลคลื่น 900 ครั้งก่อนไปแล้ว หากได้ใบอนุญาตอีกอาจเป็นการผูกขาดตลาด และห้ามกลุ่มจัสมินที่เบี้ยวครั้งก่อนเข้าประมูล

          ความแปลกๆ ต่อมา หลังรัฐบาลหารือกับ กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม ทาง กสทช.ได้ทวิตเตอร์ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz ในราชกิจจานุเบกษา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 เปิดประมูลเปลี่ยนเป็นวันที่ 27 พ.ค. (จากเดิมเลื่อนจากวันที่ 23 มิ.ย. มาเป็น 22 พ.ค. ) และเปิดให้ทรูเข้าร่วมประมูลได้ เพราะเป็นการเปิดกว้าง โดยคาดว่าทรูน่าจะเข้าร่วมประมูลรอบใหม่ที่จะเปิดขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้คู่แข่งได้ใบอนุญาตในต้นทุนที่ต่ำกว่า อาจไม่ได้มีเป้าหมายจะชนะการประมูล เพราะทรูมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว จากใบอนุญาตหลายใบที่ได้ไปก่อนหน้านี้

          เรื่องแปลกถัดมาก็เมื่อ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประชุมกับอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ กสทช. สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อหารือทางออกเรื่องการเยียวยาลูกค้าที่ยังอยู่ในระบบ 2จี คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนการประมูลครั้งใหม่ในวันที่ 27 พ.ค. โดยมีการยื่นเงื่อนไขให้เอไอเอสเปลี่ยนจากเช่าคลื่นดีแทค เพื่อแก้ปัญหาซิมดับ มาเป็นเช่าคลื่นกลุ่มทรูแทน และมีการให้ทั้งทรูกับเอไอเอสใช้คลื่น 900 ไปได้จนถึงสิ้นเดือน พ.ค.ที่ประมูลเสร็จ หรือใช้ฟรีไป 2 เดือน หากนำเงินค่าคลื่นที่ประมูลกว่า 7.56 หมื่นล้านบาท มาหารเฉลี่ยก็ตกอยู่ที่เดือนละ 420 ล้านบาท หรือทั้งสองรายได้ใช้คลื่นฟรีไป 2 เดือน กว่า 840 ล้านบาท

          จากภาพรวมทั้งหมดจึงขอตั้งข้อสังเกตไปเลยว่า คงจะมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นในการประมูลคลื่น 900 สล็อตแรกอีกหลายเรื่องเกิดขึ้นแน่ บอกแล้วว่าวงการโทรคมนาคมปีละกว่า 4 แสนล้านบาท เดิมพันมันสูงมาก ช้าไปแค่วันหรือสองวัน เงินหมุนปีละ 4 แสนล้านบาท หารด้วย 365 วัน เป็นเงินวันละกว่า 1,000 ล้านบาท งานนี้จึงฟันธงได้เลยว่า จากนี้ไปคงจะมีเรื่องพิสดารเกิดขึ้นอีกแน่…ตามไปดูได้

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 (หน้า A4)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่