ส่องศึกชิงคลื่น 1800-900 หวยออก 2-1-1

กระทู้ข่าว
ส่องศึกชิงคลื่น 1800-900 หวยออก 2-1-1
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558



          ใกล้วันประมูล 4จี เข้าไปทุกที ทำให้โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายต่างก็ลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร แล้วใครจะได้ใบสัมปทานไปครอบครอง เพราะใบอนุญาต 900 และ 1800 มีเพียง 4 ใบ ผู้เข้าแข่งขันก็มี 4 ราย ซึ่งเจ้าใหญ่อย่างเอไอเอสที่ต้องการอย่างน้อย 2 ใบ ยิ่งทำให้การประมูลครั้งนี้ดุเดือดมากขึ้น

          หากวิเคราะห์สถานการณ์ ณ วันนี้ เอไอเอสอยู่ในสถานะที่ต้องเดินหน้าสู้เท่านั้น เพราะต้องการใบอนุญาตทั้งสองใบ หากเอไอเอสได้จะทำให้เหลือใบอนุญาตอีกเพียง 2 ใบให้ 3 ค่ายที่เหลือแข่งกัน แต่ทั้งนี้ต้องดูศักยภาพของเอไอเอส ด้วยว่าจะสามารถช่วงชิงมาได้ทั้งสองใบตามที่หวังไว้หรือไม่ ส่วน ดีแทคมีคลื่น 1800 อยู่ในมือแล้ว และมีคลื่นอื่นๆ อีก ทำให้ต้องการเพียงคลื่น 900 อย่างเดียว ขณะที่ทรูมีทั้งคลื่น 850 และ 2100 อยู่ในมือ ความต้องการคลื่นใหม่ก็อาจ ไม่มากเท่ากับค่ายอื่นๆ

          ขณะที่ค่ายน้องใหม่อย่าง บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS ปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะนำคลื่นไปใช้ทำอะไร เพราะการติดตั้งสถานีฐาน หรือเซลล์ไซต์ (Cell Site) มีต้นทุนสูง หากเป็นทั้ง 3 รายที่อยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ถือว่ายังคุ้มเพราะได้คลื่นมาต่อยอดธุรกิจเดิม แต่รายใหม่อย่าง JAS ไม่ง่ายที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เพราะต้องพร้อมทั้งเงินลงทุน ทรัพยากรบุคคล พื้นที่ในการติดตั้งเสา และการหาลูกค้า ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง

          สอดคล้องกับทางนักวิเคราะห์ทางการเงินที่มองเกี่ยวกับการแข่งขันในการประมูล 4จี ครั้งนี้ว่า เอไอเอส มาแรงและใช้เงินเยอะสุด เพราะความต้องการคลื่นสูงกว่าเพื่อน



          สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการ ผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะแข่งขันกันดุเดือดกว่าเมื่อครั้งประมูล 3จี เพราะจำนวนของใบอนุญาตมีเพียงคลื่นละ 2 ใบ ในขณะที่ผู้ให้บริการมีทั้งหมด 3 ราย คือ เอไอเอส, ดีแทค และทรูมูฟ

          นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรอย่าง กลุ่มจัสมินเข้ามาแย่งชิงคลื่น ทำให้การแข่งขันในครั้งนี้ บางค่ายเกิดความสั่นคลอนแน่นอน ซึ่งค่ายโอเปอเรเตอร์ที่มีความจำเป็นใน การใช้คลื่นมากที่สุด คือ เอไอเอส เพราะมีคลื่นอยู่ในมือน้อยที่สุด แต่มีจำนวนลูกค้าในมือมากที่สุด หากไม่สามารถประมูลได้ทั้งคลื่น 900 และ 1800 MHz อาจมีปัญหาในเรื่องต้นทุนและความสามารถในการให้บริการจนเสียเปรียบในการแข่งขัน

          ในส่วนของ ทรู ต้องการที่จะได้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำไปให้บริการต่อ หลังจากที่คลื่นนี้ยังอยู่ระหว่างการเยียวยาจนกว่าการประมูล 4จี จะเสร็จสิ้น ขณะที่ฝั่งดีแทคต้องการครอบครองคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์

          ในปี 2557 ที่ผ่านมา ผลประกอบการของดีแทคลดลงจากปัญหาการบริหารงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสภาพตลาด รวมทั้งการตัดสิน
ใจที่จะไม่ลงทุนเพิ่มเพื่อทิ้งห่างคู่แข่ง ทำให้อันดับที่ 3 ของตลาดไล่ตามขึ้นมาหายใจรดต้นคอ อีกทั้งหากมีรายใหม่เข้ามา จะสร้างวิกฤตแก่รายเก่าที่ไม่ได้คลื่นความถี่เพิ่ม ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการประมูลครั้งนี้ คือ กลุ่มผู้รับเหมาโครงการขยายโครงข่าย เช่น บริษัท สามารถเทลคอม

          "ถึงดีแทคจะมีคลื่นอยู่ในมือจำนวนมาก และอีกกว่า 3 ปีถึงจะสิ้นสุดสัมปทาน แต่หากครั้งนี้ไม่ลงทุนในโครงข่ายเพิ่มจะกระทบเรื่องการฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอีกครั้งหลังจากสะดุดเมื่อปีที่ผ่านมา" สุกิจ กล่าว

          สาเหตุที่กลุ่มจัสมินต้องการคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นล่างและมีความโดดเด่นในเรื่องขอบเขตการให้บริการ หากได้มาการขยายโครงข่ายจะทำได้ง่ายกว่าคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งเรื่องของความจุ การรับส่งสัญญาณ แต่กลุ่มจัสมินต้องลงทุนมากกว่าค่ายอื่น ทั้งในเรื่องของการทำตลาดสร้างแบรนด์และขยายโครงข่าย

          พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า กลุ่มจัสมินต้องมีเงินทุนในการประมูล 4จี ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อทุ่มทุนให้ได้ 1 ใบอนุญาต หากพร้อมทุ่มจะทำให้ราคาคลื่นสูงกว่าราคาตั้งต้นเท่าตัว ซึ่งการทุ่มทุนแบบนี้ต้องมีการวางแผนระยะยาว เพราะนอกจากเงินประมูลแล้วต้องเหลือเงินในระบบอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายโครงข่ายและทำตลาด

          ด้าน วราภรณ์ วิบูลคณารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคที ซีมิโก้ มองว่า ผู้เล่นรายเดิมน่าจะพร้อมใจกีดกันหน้าใหม่เพื่อรักษาสภาพการแข่งขันให้เหลือแค่ 3 รายเดิมไว้ ซึ่งผู้ที่ทุ่มประมูลมากที่สุด คือ เอไอเอส เพราะมีคลื่นน้อยที่สุด และคลื่นที่มีอยู่ก็กำลังจะหมดสัญญาสัมปทาน ส่วนดีแทคและทรูก็ต้องการที่จะได้คลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะแข่งขันหนักที่สุด

          จากภาพรวม คาดการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ วันที่ 11 พ.ย.นี้ 2 ใบ และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ที่เลื่อนไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค.อีก 2 ใบ ผลน่าจะออกมา 2-1-1 มี โอเปอเรเตอร์รายหนึ่งได้ไป 2 ใบ ที่เหลือแบ่งกันรายละใบ...ฟันธง

ขอขอบคุณแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (หน้า A1 , B1)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่