เตือนภัย!!! เที่ยวต่างประเทศ โปรดระวัง!!! วิธีรับมือหลังถูกขโมยบัตรเครดิตไปใช้

ก่อนอื่น ต้องขอชี้แจงว่ากระทู้นี้มีขึ้นเพื่อเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจสำหรับพวกเราที่ชื่นชอบเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหมิ่นประมาทหรือละเมิดสิทธิ์ของผู้ใด
ก่อนจะเริ่มเรื่อง ขออนุญาตเล่าที่มาที่ไปของเรื่องกันก่อน ดิฉันได้ไปเรียนรู้เพิ่มเติมด้านภาษาที่เมืองชิคาโก้ ประเทศอเมริกา เป็นเวลา 6 เดือนและในเดือนสุดท้ายหลังจากเรียนจบ จึงอยากไปท่องเที่ยวในประเทศอเมริกาอย่างสนุกสนานก่อนกลับไทย
แต่แล้วเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นหลังจากนั้น  
**************************************************************************************************
ณ เมืองไมอามี่ รัฐฟลอริด้า
พวกเรา 3 คน(ชาย1 หญิง2) ตั้งใจขับรถเที่ยวจากเมือง Orlando ไปMiami และลงไปที่ Key west ซึ่งเป็นจุดใต้สุดของประเทศอเมริกา แต่แล้ว เหตุก็เกิดขึ้นในวันที่ 2 ของทริป
ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2558
9.00 (ตามเวลาในประเทศอเมริกา) : พวกเราเดินทางออกจากที่พักซึ่งไม่ไกลจาก สวนสาธารณะที่เราตั้งใจจะแวะไปก่อนที่จะขับรถลงใต้ไปที่ Key west
9.30 : เราจอดรถไว้ที่สวนสาธารณะ (South Pointe Park at Miami beach) เพื่อเดินเที่ยวและถ่ายรูปเล่นกัน เราตั้งใจแวะเพียงแค่ 1 ชม. และได้จ่ายเงินค่าบัตรจอดรถไว้เท่านั้น
10.30 : เมื่อใกล้จะครบเวลาจอดรถ ดิฉันจึงได้รีบวิ่งไปที่รถเช่า ทันใดนั้นก็พบว่า กระจกรถด้านขวาหลังถูกทุบ กระเป๋าผ้าของดิฉัน และกระเป๋าเป้ที่มีกล้องของเพื่อนหายไป
ดิฉันตกใจทำอะไรไม่ถูก ชาวต่างชาติแถวนั้นตะโกนว่า "Call 911" ฉันเลยรีบโทรไป 911
ในระหว่างที่รอคุณตำรวจ ดิฉันและเพื่อนก็ได้คิดว่าต้องทำอะไรบ้าง ก็คิดได้ว่า ของที่หายไปนั้น มี พาสปอร์ตของดิฉัน, กระเป๋าเงิน, เอกสารจองที่พัก และอื่นๆมากมาย
คิดได้ว่า ตายแล้ว!! บัตรเครดิต(ที่เอามาเผื่อใช้ตอนเช่ารถ เพราะเค้ารับเฉพาะบัตรเครดิต) และบัตรเดบิตที่ติดมาเผื่อไว้ ดิฉันจึงหาทางโทรกลับไทยเพื่ออายัดบัตรต่างๆ โชคยังดีที่เรารู้จักกับพี่คนไทยใจดีในเมืองชิคาโก้ จึงขอยืม phone card ของพี่เค้ามาโทรกลับไทย
ในตอนที่ดิฉันโทรไปอายัดบัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่งของไทยนั้น ได้ฟังสิ่งที่น่าตกใจจากเจ้าหน้าที่ call center แจ้งว่า ก่อนที่จะโทรมาอายัดนั้นมีการใช้งานบัตรไปถึง 4 รายการเป็นยอดเงินถึง 60,000 กว่าบาท ดิฉันจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ไปว่าไม่ได้ใช้ โดนโจรกรรม เจ้าหน้าที่ธนาคารแนะนำว่าให้ทำเรื่องปฏิเสธรายการ โดยต้องกรอกเอกสารและส่งกลับมายังหน่วยปฏิเสธรายการของธนาคารแต่ต้องทำภายใน 3 วันหลังจากได้รับแบบฟอร์มที่ธนาคารส่งให้ทางอีเมล สำหรับบัตรเครดิตของธนาคารกสิกร ก็โดนนำไปรูดเช่นกัน แต่ทางธนาคารยอมให้ทำการปฏิเสธรายการโดยให้เหตุผลว่าทางร้านค้ายอมยกเลิกยอดใช้จ่ายนั้นให้กับทางธนาคาร
11.25 : ตำรวจเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ พวกเราต้องให้ปากคำ แจ้งรายละเอียดของที่หาย และเวลาที่คาดการณ์ว่าเกิดเหตุ
หลังจากนั้นจะมีคุณตำรวจ ฝ่ายตรวจสอบหลักฐานมาเก็บลายนิ้วมือคนร้ายที่รถ (เหมือนในซีรีย์ CSI)
***********************************************************************
มาดูกันว่าขั้นตอนต่างๆที่เราควรทำหลังจากบัตรเครดิตถูกโจรกรรมแล้วถูกนำไปรูดใช้ต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นวิทยาทานแก่เพื่อนๆทุกคนค่ะ (อาจจะไม่ได้ถูกต้องทุกกระบวนการแต่อยากมาร่วมแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อนๆค่ะ)

1.แจ้งความเพื่อให้เรามีหลักฐาน Case report (เหมือนเอกสารแจ้งความของบ้านเรา) โดยคุณตำรวจจะลงรายละเอียดต่างๆให้ เช่น ของใดบ้างที่หาย, ความเสียหายประเมินแล้วมูลค่าเท่าใด, ผู้ใดเป็นเหยื่อบ้าง ฯ Case report นี้สำคัญมากนะคะ เพราะในรายงานจะแจ้งเวลาทุกอย่างไว้หมด ทั้งเวลาที่เราโทรไปแจ้งความ เวลาที่คุณตำรวจออกมาที่เกิดเหตุ เวลาที่มาถึง และเอาไว้ใช้ในการทำพาสปอร์ตใหม่ที่เมกา รวมถึงการทำบัตรต่างๆที่หายไป ยกเว้นบัตรเดบิตของที่นู่นที่ดีมากเลยเพียงแค่โทรแจ้งอายัด เค้าถามหมดว่ายอดไหนไม่ใช่ยอดที่เราใช้มั้ย ถ้าไม่ใช่เค้าจะจัดการให้ และหลังจากอายัดจะจัดส่งบัตรใหม่มาให้เลยโดยอัตโนมัติใน 7 วัน ไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆนะคะ (บอกเลยว่า การดูแลลูกค้าหลังได้รับความเดือดร้อนจากการถูกโจรกรรมบัตรไปใช้ของธนาคารที่อเมริกาดีมากเลยค่ะ)  
หน้าตาของเอกสารค่ะ



2.รีบกรอกเอกสารปฏิเสธรายการจากธนาคารแห่งหนึ่งของไทย และส่งกลับภายใน 3 วัน โชคดีที่ดิฉันพักที่ รร. ที่มีเครื่องพริ้นไม่อย่างนั้นจะทำอย่างไรให้ทัน 3 วัน เพราะอยู่ระหว่างการท่องเที่ยว โดยหลังจากวันที่ยื่นเรื่องไป ประมาณ เดือนกว่าๆ ทางเจ้าหน้าที่ก็ส่งเอกสารชี้แจงมาให้ โดยในเอกสารระบุว่า "ไม่สามารถปฏิเสธการจ่ายเงินจำนวนนี้กับทางร้านค้าได้ เนื่องจากทางร้านค้าไม่ได้ทำผิดกฏระเบียบที่ตกลงไว้กับทางธนาคาร และทางธนาคารได้ยกกฏระเบียบการใช้บัตรเครดิตมา 2 ข้อ" (ตามภาพค่ะ)

ซึ่งสุดท้ายจบที่ว่า เราก็ยังคงต้องเป็นคนชำระหนี้นี้เอง (ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้) จะบอกเพื่อนๆ ว่า ลายเซ็นต์ใน sales slip ที่ทางธนาคารขอจากทางร้านค้าและส่งมาให้นั้น ต่างกันกับของดิฉันอย่างสิ้นเชิง แต่ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารฝ่ายปฏิเสธรายการก็พูดยืนยันแค่ประโยคเดียวว่า "เรื่องลายเซ็นต์บางทีมันก็พิสูจน์กันยาก บางทีก็คล้ายหรือสามารถปลอมกันได้ และการตรวจสอบลายเซ็นต์ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดของทางร้านค้ากับธนาคารด้วย"
ความรู้สึกตอนนั้นคือ เสียใจมากนะคะ โดนโจรกรรมสูญเสียทั้งเงินทั้งของไปเยอะมากแล้ว ยังมาโดนธนาคารซึ่งตัวเราก็เป็นลูกค้าที่ดีมาตลอด แต่กลับได้รับการดูแลแบบนี้อีก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

3.อย่าลืมตามเรื่องจากตำรวจว่า คดีคืบหน้ามั้ย เผื่อจับคนร้ายได้ (แต่อยากบอกเพื่อนๆไว้ว่า เผื่อใจเลยค่ะ ยากมากจริงๆที่จะได้คืน เพราะคุณตำรวจบอกว่าเกิดบ่อยมาก ขณะที่สอบสวนพวกเรายังมีแจ้งเข้ามาอีกคดีเลย)  เฮ่อ!!! เมืองนี้เค้าดุ..จริงๆ

4.พอกลับมาไทยให้รีบแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยื่นเรื่องไปที่ ธนาคารแห่งนั้นในการตรวจสอบหลักฐานการใช้บัตรเครดิต (ขั้นตอนนี้เอาจริงๆดิฉันก็ไม่ได้ทำทันที แต่มาทำหลังจากได้เอกสารชี้แจงจากทาง ธนาคารแล้วว่า ไม่ว่าอย่างไรดิฉันก็ยังคงต้องชำระหนี้ที่มีอยู่ในบัตรอยู่ดีเพราะเหตุผลดังรูปที่แนบมาก่อนหน้านี้)
เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยทำงานรวดเร็วมาก โดยหลังจากที่ดิฉันร่างหนังสือ เรียนผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินไป วันถัดมาก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า จริงๆแล้วทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีอำนาจบังคับทางกฏหมายจึงไม่สามารถเรียกทางธนาคารมาไกล่เกลี่ยกับทางเราได้จึงแนะนำให้เราไปร้องเรียนที่ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค หลังจากแจ้งกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ก็ได้จดหมายชี้แจงจากธนาคารนั้นๆอีก 1 ฉบับ ซึ่งถ้าอ่านดีดีเนื้อความเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ข้อ 2 เรื่องลายเซ็นต์บน sales slip กับลายเซ็นต์หลังบัตรค่ะ (ตามภาพค่ะ)


5.ร้องเรียนไปยัง สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเราสามารถนำหลักฐานทั้งหมดที่มีไปเขียนคำร้องได้ด้วยตัวเองเลยค่ะที่ ตึกสำนักงานอัยการสูงสุด ชั้น2 ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งอยู่บนถนนรัชดาค่ะ (ท่านอัยการและผู้ช่วยอัยการใจดีมากค่ะ ท่านช่วยเหลือและออกจดหมายเชิญทางธนาคารฯ มาไกล่เกลี่ยกันก่อนที่จะต้องไปถึงขั้นฟ้องร้องกัน)
ณ ตอนนี้ ดิฉันได้ดำเนินการมาถึงจุดนี้ ขอเล่าถึงขั้นตอนล่าสุดที่ได้ เจรจาไกล่เกลี่ยมากับทาง ธนาคารเจ้าของบัตรนะคะ
ณ วันที่ 5 เมษายน 2559
ดิฉันได้รับจดหมายจากทางสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคว่าให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางผู้จัดการธนาคารแห่งนี้ ซึ่งพอถึงวันเจรจา ธนาคารกลับส่งตัวแทนของธนาคาร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิเสธรายการมาที่สำนักงานอัยการ ทางท่านอัยการเองก็แปลกใจและสอบถามว่า "ทำไมธนาคารถึงส่งคุณมา ผมเชิญผู้จัดการธนาคารไปนะครับ แล้วนี่ได้นำใบมอบอำนาจมาหรือไม่" ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่า "ไม่มีครับ ต้องมีด้วยหรือ"  (ดิฉันได้แต่นั่งฟังเฉยๆ)
แต่ก็นั่นแหละค่ะ ทำอะไรไม่ได้ ทางท่านอัยการจึงบอกให้นำหนังสือมอบอำนาจมาให้ภายในวันพรุ่งนี้
ในการไกล่เกลี่ยครั้งนี้ โดยเจ้าหน้าที่ท่านนั้นแจ้งว่า ทางธนาคารมีหนทางบรรเทาทุกข์ให้แก่คุณลูกค้า อย่างเช่น จ่ายกันคนละครึ่ง, หรือ คุณลูกค้าจ่ายไหวที่เท่าไหร่สามารถเสนอได้โดยที่ตนจะไปเสนอหัวหน้าให้อีกที ซึ่งตัวดิฉันเองมองว่าดิฉันไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายยอดหนี้ดังกล่าว และมิได้ประมาทเลินเล่อเพราะได้เก็บของไว้ในที่ปิดกั้นมิให้ผู้ใดมาหยิบฉวยไปได้โดยง่าย จึงแจ้งขอปฏิเสธการบรรเทาทุกข์ที่ว่าไป
แต่สิ่งที่น่าสนใจในการพูดคุยคือ (เราคุยกันนอกเรื่องในระหว่างรอ รายงานสรุปคดี) ทางท่านอัยการชวนทางเจ้าหน้าที่คุยถึงการติดตามการใช้บัตรของธนาคารว่า หากมีการรูดบัตรหรือกดเงินจำนวนเยอะๆ โดยผิดปกติ ทางธนาคารมีการติดตามหรือตรวจสอบอย่างไร ทางเจ้าหน้าที่อีกท่านที่มาก็แจ้งว่าจริงๆแล้วทางหน่วยงานปฏิเสธรายการนี้จะนั่ง monitor ดูว่าหากมีรายการแปลกๆเด้งขึ้นมาจะโทรไปสอบถามผู้ถือบัตรว่ามีการใช้จริงหรือไม่
ทันใดนั้น ดิฉันก็คิดขึ้นได้ว่า แล้วในเคสของดิฉันที่ไม่เคยใช้บัตรเครดิตใบนี้!!ที่ประเทศอเมริกาเลยตลอดช่วงที่ไปอเมริกา 6 เดือน แล้ววันที่มีการใช้งาน ไม่มีข้อมูลเด้งหรือว่ามีการใช้บัตรที่ต่างประเทศซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัยเช่นกัน เจ้าหน้าที่ท่านนั้นนิ่งและตอบว่า "ครับ มีครับ จริงๆแล้วเราก็เห็นว่ามีรายการเด้งขึ้นมา" แล้วก็เงียบไป ดิฉันเลยถามว่าแล้วทำไมถึงไม่ติดต่อหรือเอ๊ะใจ เจ้าหน้าที่เงียบและไม่ตอบ  พูดแค่ว่า เรามาทราบอีกทีก็ตอนที่รายการผ่านไปแล้วจึงทำอะไรไม่ได้ ทางร้านค้าก็ไม่ทราบว่าคนที่นำบัตรมาใช้เป็นเจ้าของบัตรหรือไม่ โดยทางร้านค้ามีหน้าที่เพียงแค่ตรวจสอบว่าบัตรจริง บัตรไม่มีการอายัด, ผู้ถือบัตรเซ็นต์ลงใน sales slip (โดยไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องตรวจสอบลายเซ็นต์) **แปลกไหมคะ**
หลังจากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารจึงแจ้งว่า งั้นก็ต้องรอฟ้องจากทางธนาคาร ณ ตอนนั้นดิฉันสั่นไปหมดเลย ชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแต่คิดว่าต้องสู้เพื่อความยุติธรรมของเราเอง สู้มาขนาดนี้แล้ว
ตอนนี้ก็ได้แต่รอๆๆ โดยทางธนาคารก็มอบอำนาจให้บริษัททวงถามหนี้โทรและส่งจดหมายมาหาบ่อยครั้ง แต่ดิฉันก็แจ้งไปทุกครั้งว่า ขอปฏิเสธการชำระเพราะถูกโจรกรรมบัตร
ถึงเวลานี้ ก็คิดว่าทำดีที่สุดแล้ว เพราะเคยไปที่ศาลแขวงพระนครเหนือมา ทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่า ไม่สามารถแจ้งความกับทางธนาคารแห่งนี้ได้เพราะเรายังไม่ใช่ผู้เสียหายเนื่องจากยังไม่ได้เสียเงินให้กับทางธนาคาร หนทางเดียวคือรอทางธนาคารฟ้อง!!!
เฮ่อ ความไม่สบายใจเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า  เพราะตอนนี้ยอดหนี้ที่เกิดก็ถูกอัตราดอกเบี้ยบวกไป ยอดก็เกือบ 65,000 บาทไปแล้วค่ะ ไม่รู้เรื่องจะจบเมื่อไหร่
ปล. หากมีเรื่องคืบหน้าอย่างไรจะมาเล่าสู่กันฟังต่อนะคะ
หวังว่า เรื่องที่เกิดขึ้นจะช่วยเป็นอุทาหรณ์ให้เพื่อนๆได้ไม่มากก็น้อยนะคะ หากไปเที่ยวต่างประเทศให้ทำประกันรถเช่าจัดเต็ม รวมถึงอย่าพกบัตรเครดิตไปเยอะนัก ใบเดียวพอหรือเขียน CID (see ID) เพิ่งมารู้หลังจากหายว่าถ้าเขียนอย่างน้อยเค้าก็ขอดู ID เผื่อพนักงานเก็บเงินจะเอะใจ, เปิด roaming เผื่อไว้ก็ดีค่ะในยามจำเป็นจะได้มีโทรกลับไทย ในยามนั้นไม่คิดถึงเรื่องค่าโทรแน่ๆเชื่อเถอะค่ะ, แยกเก็บของไว้หลายๆกระเป๋าค่ะ
*********
Updated ที่ คห68 นะคะ

หมายเหตุ: เรื่องราวสนุกๆมีอีกมายมากในทริปนี้ อาทิเช่น
*พาสปอร์ตหาย แล้วจะบินกลับไปเมืองชิคาโก้อย่างไร หากที่รัฐฟลอริด้าไม่มีสถานฑูตไทยเลย(ไว้มาเล่าสู่กันฟังใหม่นะคะ)
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่