'ทรู' เชื่อรายย่อยแห่ใช้สิทธิเต็มซื้อหุ้น 'เพิ่มทุน'


'ทรู' เชื่อรายย่อยแห่ใช้สิทธิเต็มซื้อหุ้น'เพิ่มทุน
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

          "ทรู"มั่นใจรายย่อยใช้สิทธิ"ทีเอสอาร์"เต็มจำนวน "ศุภชัย เจียรวนนท์" ยันหากเหลือ"ซีพี"ใช้สิทธิแทน ระบุสนใจประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์รอบใหม่ขอ 2 เดือนตัดสินใจ

          นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยว่า บริษัท มีแผนออกใบแสดงสิทธิการซื้อหุ้น เพิ่มทุนที่โอนสิทธิ์ได้ (TSR) จำนวน 8,391,608,391 หน่วย มั่นใจว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยจะใช้สิทธิในเดือน ก.ค.   หากผู้ถือหุ้นรายย่อยใช้สิทธิไม่ครบตามจำนวน ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองราย ประกอบด้วย กลุ่ม ซีพี และไชน่า โมบาย ก็พร้อมที่จะเพิ่มทุนให้

          "เรามั่นใจว่าผู้ถือหุ้นรายย่อย จะสนใจออกมาใช้สิทธิครั้งนี้ แต่เมื่อถึงเวลาครบกำหนดใช้สิทธิยังไม่ครบ คาดว่าสองผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมที่จะเพิ่มทุนให้กับทรู แต่ ไชน่า โมบาย ตอบแทนไม่ได้ เพราะเขามีกระบวนการพิจารณาของบอร์ด แต่ถ้าหากเป็นกลุ่มซีพี เราพร้อมเข้ามาเพิ่มทุนในส่วนที่เหลือ ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ขยับมาอยู่ที่ 2 : 1 จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 : 3"

          นายศุภชัย กล่าวว่า สิ่งที่บริษัทตระหนักสูงสุดที่ทำให้เกิดการเพิ่มทุนครั้งนี้ คือ บริษัทไม่ต้องการให้หนี้สินต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย เกิน 2 เท่า ซึ่งหากบริษัทไม่เพิ่มทุน จะทำให้สัดส่วนดังกล่าวขึ้นไปถึง 4 เท่า

          ขอ2เดือนพิจารณา900รอบใหม่
          ขณะเดียวกัน นายศุภชัย กล่าวว่า ทรู มีความสนใจที่จะเข้าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากเป็นช่วงคลื่นที่ดี  บริษัทต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือนพิจารณา ซึ่งบริษัท ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า เนื่องจากเพิ่งชำระเงินจากการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปรอบแรก

          "ยอมรับว่าสนใจคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ และพอใจกฎเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศออกมา แต่เราก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะเราเพิ่งจ่ายเงินก้อนใหญ่ในการประมูลรอบแรกไป ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่สูง โดยปัจจุบันคลื่นที่เรามีอยู่ก็เพียงพอต่อการทำธุรกิจใน 3 ปีข้างหน้า"

          หากการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์  รอบใหม่ไม่ประสบผลสำเร็จ ตามกติกาจะต้องเว้นไปอีก 1 ปี ถือว่าเป็นไปตามกติกาสากล แต่เชื่อจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม เนื่องจากภาครัฐยังมีคลื่นอยู่ในมืออีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สนใจของตลาด

          กลุ่มทรู แบ่งกลุ่มธุรกิจหลักเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย 1.ธุรกิจออนไลน์ ภายใต้ทรูออนไลน์ 2.ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้กลุ่มทรูโมบาย ภายใต้แบรนด์ ทรูมูฟ เอช และทรูมูฟ และ 3. ธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ภายใต้ ทรูวิชั่นส์

          ก่อนหน้านี้ กลุ่มทรูยื่นหนังสือถึง กสทช. หนุนเร่งประมูลใหม่คลื่น 900 โปร่งใส เป็นธรรม ผู้ชนะรายใหม่ต้องมีราคาต้นทุนไม่น้อยกว่าที่ทรูชนะไปก่อน ราคาเริ่มต้นควรเท่ากับที่แจสชนะ 75,654 ล้าน

          หากผู้ชนะครั้งใหม่ราคาต่ำกว่าต้องปรับลด ให้ทรูลง หาก กสทช. ปฏิบัติโดยทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันจะเป็นที่ครหาและดูแคลนของนักลงทุนและ นักธุรกิจนานาชาติที่จับตาดูเรื่องนี้

          ต่อมาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ดกทค.) ได้ประชุม โดยมีมติกำหนด รายละเอียดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์รอบใหม่ ชุดที่ 1 ช่วงความถี่ 895-905 คู่กับ 940-950 เมกะเฮิรตซ์ ที่บริษัทแจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่มาชำระเงินแม้จะเป็นผู้ชนะคลื่นความถี่ไปเมื่อ กลางเดือน ธ.ค.2558

          24 มิ.ย.ประมูลรอบใหม่
          มติ กทค. กำหนดว่าระหว่างวันที่ 5-28 เม.ย. จะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ซึ่งผู้สนใจส่งคำถามมายังสำนักงาน กสทช. และอีเมลได้ตลอดในช่วงที่เปิดรับฟังจากนั้นวันที่ 22 เม.ย. จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่สโมสรกองทัพบก 13 พ.ค.-12 มิ.ย. จะเปิดเชิญชวนเอกชนให้มาเข้าร่วมประมูล โดยระหว่างนั้นคาดว่าวันที่ 22 พ.ค. ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 ฉบับใหม่จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้

          ต่อไปวันที่ 13 มิ.ย. เปิดให้เอกชนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นคำร้อง พร้อมต้องวางเงินประกัน และ 24 มิ.ย. กำหนดให้เป็นวันประมูลคาดว่าภายในเดือนมิ.ย.จะประมูลเสร็จ ใช้งบประมาณ สำหรับการประมูล 80 ล้านบาท เงื่อนไขเพิ่มเติมที่กำหนดในหลักเกณฑ์การประมูลรอบใหม่นั้น คือ
          1.คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลต้องไม่ใช่ผู้ทิ้งงาน ของ กสทช. หมายถึง แจส ไม่มีสิทธิเข้าประมูลรอบนี้
          2.วงเงินประกันได้อนุมัติที่ 5% คิดเป็น 3,783 ล้านบาทของราคาเริ่มต้นการประมูลในครั้งนี้ โดยราคาเริ่มต้นมีมติให้อยู่ที่ 75,654 ล้านบาท

          แบ่งงวดชำระเป็น 4 งวดตามเดิมคือ ปีที่ 1 ชำระ 8,040 ล้านบาท ปีที่ 2 ชำระ 4,020 ล้านบาท ปีที่ 3 ชำระ 4,020 ล้านบาท และปีที่ 4 ชำระจำนวนที่เหลือทั้งหมด

          นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการความรับผิด หากมีผู้ชนะการประมูล แต่ไม่ชำระตาม หลักเกณฑ์ นอกจากจะริบเงินประกัน 3,783 ล้านบาท แล้ว จะต้องชำระเพิ่มอีก 11,348 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วต้องชำระทั้งสิ้น 15,131 ล้านบาท เท่ากับราคาเริ่มต้นการประมูลครั้งแรกที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้คำนวณมูลค่าคลื่น 900 ที่แท้จริง


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559 (หน้า 4)

ข่าวอื่นๆ
เปิดธุรกรรมการเงิน ‘แจส’ เหลือแต่กระดูก จริงหรือ?
http://ppantip.com/topic/34991647
ทีวีดิจิตอล ล้มเหลว?
http://ppantip.com/topic/34991019
"อินทัช" แต่งตั้ง "ฟิลิป เชียง ชอง แทน" นั่งซีอีโอ ขับเคลื่อนองค์กรในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี
http://ppantip.com/topic/34991698
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่