ปรับเกมรุกใหม่รับคลื่น 900 AIS ปูพรมเน็ตเวิร์กทุกพื้นที่


ปรับเกมรุกใหม่รับคลื่น 900 AIS ปูพรมเน็ตเวิร์กทุกพื้นที่
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

          "เอไอเอส" ปรับเกมรุกใหม่ หลังคว้าคลื่น 900 MHz คลื่นในมือเพิ่มเป็น 40 MHz  ลั่นเดินหน้าเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่เป็นจุดขาย ยอมรับเกมแข่งขันดุเดือดขึ้น "ทรู" มั่นใจศักยภาพคลื่นในมือมากกว่า ปักธง

          "ผู้นำสปีด" กสทช.ลุ้นเปิดประมูลคลื่นใหม่ 2600 MHz ปีหน้า
          การประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ที่เพิ่งสิ้นสุดลงและตกอยู่ในมือของเอไอเอส และทำให้ยักษ์ใหญ่ค่ายนี้มีความถี่ในมือเพิ่มเป็น 40 MHz เพียงพอต่อการเดินหน้าเปิดเกมรุกได้อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเดิมเคยเป็นจุดแข็งของเอไอเอสมาโดยตลอด

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้รับรองผลการประมูลคลื่น 900 MHz ให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 75,654 ล้านบาท หลังจากต้องจัดประมูลรอบใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแก้ปัญหาจากกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ผู้ชนะประมูลครั้งก่อนไม่มาชำระเงินค่าประมูลที่เสนอราคาไว้ตามกำหนด

          โดย AWN จะต้องนำเงินมาชำระภายใน 90 วัน หรือ 24 ส.ค.นี้ โดยยอดเงินงวดแรก 8,040 ล้านบาท พร้อมวางหนังสือ ค้ำประกันจากสถาบันการเงินในส่วนที่เหลือ และงวดที่ 2 และ 3 งวดละ 4,020 ล้านบาท จ่ายในปีที่ 2 และ 3 และจ่ายส่วนที่เหลือในปีที่ 4

          "คาดว่าไม่เกิน 30 มิ.ย.นี้ ทาง AWN จะนำเงินงวดแรกมาชำระ และ กทค.ออกใบอนุญาตให้ได้ภายใน 2 วัน เพื่อให้ลูกค้า AIS 2G ยังสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาลูกค้าที่ยังค้างอยู่บนคลื่น 900 MHz"

          ลุ้นประมูลคลื่นใหม่ต้นปี 2560
          สำหรับคลื่นที่มีโอกาสจะจัดประมูลในอนาคตหลังจากนี้ คือ คลื่นย่าน 2600 MHz ที่ปัจจุบัน บมจ.อสมท ถือครองอยู่ มีแนวโน้มจะนำออกมาประมูลได้ในช่วงต้นปี 2560 ส่วนคลื่น 1800 MHz ที่อยู่ภายใต้สัมปทานของดีแทคและ บมจ.กสท โทรคมนาคม อีก 45 MHz และคลื่น 850 MHz อีก 25 MHz จะหมดสัมปทาน 30 ก.ย. 2561  กสทช.พยายามจะนำมาจัดประมูลล่วงหน้าเพื่อให้สามารถใช้งานต่อเนื่อง แต่เป็นหน้าที่ของ กสทช.ชุดใหม่ที่จะต้อง เตรียมการ ในราคาต้องไม่ต่ำกว่าราคา สิ้นสุดการประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อ พ.ย. 2558 ซึ่งจบการประมูล 2 ใบอนุญาต 30 MHz ในราคา 80,778 ล้านบาท บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค

          AIS แบไต๋ถูกกว่าประมูลครั้งแรก
          นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยภายหลังสิ้นสุดการประมูลว่า ราคา 75,654 ล้านบาท ที่ประมูลในครั้งนี้ยังต่ำกว่าราคาประมูลในรอบที่แล้ว ซึ่งเอไอเอสเดินออกจากการประมูลที่ราคา 75,976 ล้านบาท

          "เรารับคลื่นในวันนี้ ดีกว่ารอ กสทช.จัดประมูลใหม่อีก 1 ปี โดยที่ต้องยังจ่ายเท่าเดิม ฉะนั้นไม่ใช่แค่อยากได้ แต่มีเหตุผลทางธุรกิจรองรับด้วย ขณะที่คลื่น 900 MHz จะเป็นอาวุธชั้นเลิศในการทำธุรกิจ ทำให้โครงข่ายเร็วขึ้น สมาร์ทขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเป็นผู้นำของธุรกิจนี้"

          "การเข้าประมูลในครั้งนี้ของเอไอเอส คือการกดปุ่มยุติความวุ่นวายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเอไอเอสตั้งใจจะจ่ายเงินประมูลงวดแรกภายในเดือน มิ.ย. เพื่อให้ลูกค้าที่ยังค้างอยู่บนคลื่น 900 MHz ราว 2.5 แสนราย ยังใช้งานได้ต่อเนื่อง"

          นายสมชัยกล่าวว่า การได้รับไลเซนส์คลื่นเพิ่มครั้งนี้จะทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่ทั้งหมด 40 MHz แม้จะต้องจ่ายเงินค่าคลื่นเพิ่ม แต่ต้นทุนเฉลี่ยต่อปียังอยู่ที่ราว 8,000 ล้านบาท น้อยกว่าใน ยุคสัมปทานที่ต้องจ่ายให้ทีโอทีเฉลี่ยกว่า 2 หมื่นล้านบาท จึงไม่กระทบกับศักยภาพการทำกำไรของบริษัท ขณะที่ราคาหุ้นเชื่อว่านักลงทุนได้ซึมซับปัจจัยนี้ไปหมดแล้ว

          สำหรับแผนการลงทุนที่เตรียมไว้ 4 หมื่นล้านบาท จะปรับแผนจากเดิมที่จะปูพรมโครงข่าย 3G คลื่น 2100 MHz ให้หนาแน่นขึ้น เป็นการขยายการลงทุนบนคลื่น 900 MHz และปรับแผนการลงทุนโครงข่าย 4G จากเดิมสิ้นปีจะครอบคลุม ราว 50% ของประชากร ขยับเป็น 70% ตั้งเป้า จะมีลูกค้า 4G ณ สิ้นปีอยู่ที่ 10 ล้านราย จากปัจจุบันราว 7 ล้านราย ขณะที่การแข่งขันเชื่อว่า แต่ละรายคงไม่อยู่เฉย ๆ รอให้คู่แข่งแซงหน้า

          "ในอดีตเอไอเอสนำคลื่น 900 มาช่วยประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีมือถือใช้ วันนี้ เราจะทำแบบนั้นอีกครั้ง ทำให้คนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตสื่อสาร ยกระดับความเป็นอยู่ของคนอีกครั้ง" นายสมชัยกล่าว

          รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า การได้คลื่น 900 ทำให้เอไอเอสกลับมาให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ให้บริการอีกครั้ง ควบคู่ไปกับความเร็วในการใช้งาน จากในอดีตเอไอเอสเคยใช้คลื่น 900 ขยายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือสู่พื้นที่ห่างไกล แต่ครั้งนี้จะเป็นขยายเครือข่ายดาต้าให้คนในพื้นที่เหล่านี้สามารถใช้งานได้

          "ทรู" ปักธงผู้นำด้านสปีด
          นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า แม้หลังการประมูลคลื่น 900 MHz เอไอเอส จะได้คลื่นไปอีก 10 MHz แต่จำนวนคลื่นที่มีอยู่ในมือทรูก็ยังมีมากกว่าคู่แข่ง ขณะที่จำนวนลูกค้าที่เอไอเอสมีมากกว่า ทรูเกือบเท่าตัว ด้วยลูกค้าที่น้อยกว่าจะทำให้ สปีดดาต้าทรูเร็วกว่าเยอะ และต่อให้ฐานลูกค้าเท่ากัน ทรูก็มีแบนด์วิดท์เยอะกว่า

          จากนี้ต้องรอดูว่าในปี 2561 ซึ่งสัมปทานคลื่น 1800 MHz ส่วนที่เหลือจะสิ้นสุดลง จะมีคลื่นออกมาประมูลใหม่เพิ่มอีกหรือไม่ เพราะในปี 2563 ทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภคก็จะรอ 5G กันหมดแล้ว จึงต้องดูเงื่อนไขตรงนี้ด้วย

          "ตอนนี้ทรูมองเป้าหมายที่เบอร์หนึ่ง แต่ก็ไม่ลืมเรื่องความคุ้มทุน โดยพยายามให้มากขึ้นหลังจากได้คลื่นใหม่ ทุนก็เพิ่ม และเชื่อว่าปีหน้าทรูจะกลับมามีกำไรอีกครั้ง และปีนี้ทรูจะนำหน้าดีแทคในเรื่องจำนวนลูกค้า"

          วิเคราะห์ตลาดแข่งเดือด
          นายกวี ชูเกษม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า การตัดสินใจซื้อใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ของ เอไอเอส ไม่ใช่ประเด็นที่เกินกว่าความ คาดหมาย เพราะเอไอเอสจำเป็นต้องรักษาลูกค้ากลุ่มเดิมไว้ เพื่อให้สามารถครองความเป็นผู้นำต่อไป นอกจากนี้ประเมินว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจทำให้ต้นทุนประกอบธุรกิจถูกกว่า เมื่อเทียบกับการยอมปล่อยลูกค้าไปให้คู่แข่งรายอื่นในตลาดก็ได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่จะซื้อหุ้นเอไอเอสก็คงต้องทนต่อไปในระยะ 1-2 ปี เพราะการลงทุนที่สูงย่อมจะมีผลต่อราคาหุ้น

          ในส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรม เชื่อว่าการแข่งขันจะยังคงมีความรุนแรงต่อไป แม้ JAS จะไม่ได้เข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ แต่หลายค่ายจะเริ่มมองหาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคที่ผู้บริโภคต้องการเทคโนโลยีสูงขึ้น

          ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยังได้เตรียมนำเงินจากการประมูล 4G ทั้งสองรอบ รวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้วางโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับดิจิทัล เช่น การวางบรอดแบนด์ความเร็วสูง ทั่วประเทศ รวมถึงทรานส์ฟอร์มภาครัฐ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปสู่ดิจิทัล เพราะโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ ในการเดินหน้านโยบายนี้ ที่สำคัญ รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ทำให้จากนี้รัฐบาลจะกระตุ้นให้เอกชนทั้ง รายใหญ่และรายย่อยเดินหน้านำดิจิทัลเข้ามาใช้ในองค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วย



แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 1,21)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่