การรับมือ.... ข้างบ้านทะเลาะกันเสียงดังทุกวัน

วันนี้ ก็ขอฝากบทความดีๆ อีกนะคะ เป็นบทความถาม-ตอบ เช่นเคยคะ


คำถาม: ข้างบ้านทะเลาะกันเสียงดังทุกวัน จะแก้ไขอย่างไรดีคะ?


คำตอบ: การแก้ไขผ่อนปรนสถานการณ์อย่างนี้มีเรื่องที่อาจจะทำได้อยู่ 2 ประการ คือ

        ประการแรก ย้ายบ้านหนี ถ้ากำลังวังชาของเรายังไม่พอ ก็ต้องทนกันไป แต่ถ้ากำลังวังชาพอ ก็ควรปรับปรุงที่อยู่เสียใหม่ให้เหมาะสม อย่างกรณีที่ข้างบ้านทะเลาะกันทุกวันอย่างนี้ ย้ายบ้านหนีได้ก็ย้าย ถ้าย้ายไม่ได้ก็ทนกันไป ไปทำอะไรเขาไม่ได้หรอก พูดมากไปเดี๋ยวเจ็บตัว มันไม่คุ้มหรอกนะ

        ประการที่สอง เอาความดีเข้าสู้ ถ้าเราเด็กกว่าเขา อย่างดีก็ทำตัวให้น่ารัก เขาอาจจะเกรงใจเราขึ้นมาบ้าง โดยไม่กล้าทะเลาะเสียงดัง แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ มีอาชีพ มีงานการเป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน กรณีของบ้านนี้จะต้องหาทางพูดคุย กันให้รู้เรื่อง แต่ว่าก่อนจะพูดจะคุยกับเขาให้รู้เรื่องนั้น เราจะต้องทำตัวของเราเองให้เป็นทั้งที่รัก และที่เกรงใจให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นก็ยากที่จะไปพูดอะไรได้ ต่อเมื่อทำให้มีความน่ารักน่าเกรงอยู่ในตัวแล้วค่อยไปคุยกับเขา คนเราจะน่ารักได้ต้องทำอย่างไรบ้าง?

        คนจะน่ารักได้ต้องเป็นนักให้ ส่วนจะให้อะไรบ้างก็แล้วแต่กรณีๆ ไป เช่น อาจจะมีกำลังทรัพย์ มีข้าวของพอแบ่งปันพอให้กันได้ก็ปันก็ให้กันไป เขาก็จะเกรงใจเราเอง เพราะแม้เราเองพอใครเขาให้ของเราก็เกรงใจเขาเหมือนกัน หรือมีกำลังกาย พอจะให้ความช่วยเหลือในกิจอันควร ช่วยได้ก็ช่วยกันไป แม้ที่สุดถ้าเราไม่รู้จะให้อะไร ก็ให้กำลังใจ คือให้คำพูดเพราะๆ พูดอะไรก็พูดกันดีๆ หรือให้รอยยิ้ม คือ แม้ไม่ได้พูด ยิ้มให้ก็ยังดี ถ้าเราเองวางตัวให้เหมาะสมกับฐานะ หน้าที่ของเราพอถึงจุดหนึ่งเราจะเป็นที่รัก ที่เกรงใจของเพื่อนบ้าน จนสามารถว่ากล่าวตักเตือนเขาได้

        คนที่จะสามารถตักเตือนความประพฤติคนอื่นได้ ต้องรักษาศีลให้ดี ศีลของเขาต้องบริสุทธิ์ อย่างน้อยศีลทั้ง 5 ข้อของเขาต้องครบ ถ้าถือศีล 8 ได้ก็ยิ่งดี เมื่อศีลดี กิริยามารยาทและวินัยเขาดีเหมือนบัณฑิตแล้ว จึงจะมีสิทธิ์เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้ ถ้าตนเองยังไม่สามารถทำตัวให้มีแววเป็นบัณฑิตได้ละก็ อย่าเพิ่งไปเตือนใครเดี๋ยวจะเจ็บตัวเจ็บใจกลับมา

        วิธีครองใจคน หรือวิธีทำให้คนเกรงใจมีหลายวิธีเหลือเกิน แต่วิธีที่ได้ผลมากที่สุด คือ การให้ เมื่อให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้วเขาจะทั้งรักทั้งเกรงใจทีเดียว

ขอ ยกตัวอย่างวิธีที่หลวงพ่อเคยใช้สมัยยังเป็นฆราวาสสักนิด เป็นวิธีให้อย่างง่ายๆ คือ เช้าขึ้นมาหลวงพ่อคว้าไม้กวาดมาอันหนึ่ง เดินกวาดซอยเข้าบ้าน ตั้งแต่หัวซอยจรดท้ายซอยเลย วันไหนอยู่บ้านต้องกวาดทุกวัน ถ้าไม่อยู่ก็แล้วไป แต่อย่างน้อย 7 วัน ต้องกวาดที ด้วยวิธีนี้เอง ทำให้หลวงพ่อกับคนแถวนั้นรู้จักกันตลอดซอยเลย ถึงจะยังไม่รัก แต่ก็ไม่เกลียดหรอก ให้แบบนี้เรียกว่า ให้กำลังกาย

        โบราณมีวิธีให้มากมาย มีวิธีหนึ่งที่ทำกันเกือบทุกบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เห็น คือ คนโบราณตามหน้าบ้านท่านจะมีโอ่งน้ำตั้งไว้แล้วมีขันน้ำ หรือมีถ้วยวางไว้ข้างๆ ใครกระหายน้ำ ผ่านมาก็ได้ดื่มกิน ทราบว่าตามชนบทเขายังทำกันอยู่ โอ่งใบนั้นความจริงก็ธรรมดาๆ แต่กลายเป็นโอ่งศักดิ์สิทธิ์ แค่เอาน้ำสะอาดเติมเข้าไว้ ก็ได้สิ่งที่มีค่ามากกว่าคือน้ำใจไมตรี และได้ตอบแทนไปนานทีเดียว สมัยนี้ก็น่าจะลองทำกันดูนะ ถ้าจะให้ดีช่วงที่เด็กกลับจากโรงเรียนผ่านมา เราเอาน้ำแข็งใส่เสียหน่อย เมื่อเด็กดื่มน้ำหน้าบ้านเราแล้ว เราจะพูดจะเตือนอะไรก็ง่ายไปหมด ขึ้นต้นด้วยการให้ แล้วอะไรที่ดีๆ จะตามมาอีกมากมาย

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ธรรมะไว้ หมวดหนึ่ง คือสังคหวัตถุ 4 ซึ่งอาจแปลง่ายๆ ว่า หลักในการสงเคราะห์บุคคล หรือวิธีการสร้างความสามัคคีในหมู่ชนก็ได้ หมวดธรรมนี้ เริ่มด้วย

        1. ทาน คือการให้ด้วยสิ่งของ

        2. ปิยวาจา คือให้คำพูดที่ไพเราะ และพูดด้วยความจริงใจ

        3. อัตถจริยา คือประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเช่น ให้ความช่วยเหลือในการงานที่เราพอจะแบ่งเบามาได้

        4. สมานัตตตา คือให้ความเป็นกันเอง เสมอต้นเสมอปลาย

        ถ้าเราทำ 4 อย่างนี้ได้ เราจะมีแววเป็นบัณฑิต มีแววเป็นบุคคลที่ควรแก่การนับถือ ถึงไม่ยกย่องบูชา ก็ทำให้เขาเกรงใจ พอมีอะไรกระทบกระทั่งกัน เราค่อยไปเตือน ไปแก้ไข ส่วนจะแก้ไขอย่างไรนั้น ให้ดูตามสถานการณ์ เป็นเรื่องๆ ไป บางทีอาจจะปรึกษาหารือร่วมกันแก้ไขได้

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหา...


ปัจจุบันนี้ ปัญหารอบๆตัวเรามีมากมายคะ อยู่ที่เราว่าจะเลือกจัดการอย่างไร ได้อ่านเจอบทความดีๆ มา ก็อยากเอาฝากเพื่อนๆ คะ
สังคมเราจะมีความสุขมากกว่านี้แน่ ถ้าทุกๆคน มีความรัก ปรารถนาดีต่อกันคะยิ้มหัวใจหัวใจ


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่