เมื่อนักล่ากลายเป็นเหยื่อ : โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เมื่อราคาร่วงลงไปต่ำกว่าต้นทุนและบางกรณีถูกบังคับขายจากโบรกเกอร์ที่ปล่อยมาร์จิน หายนะก็บังเกิดขึ้น คนที่ทำคอร์เนอร์หุ้นหรือ “นักล่า” กลายเป็น “เหยื่อ” หรือเป็นคน “ถูกล่า”
 
 
ช่วงเร็ว ๆ นี้ ในสังคมไทยเกิดปรากฏการณ์หลายกรณีที่อยู่ดี ๆ คนที่เคยมีอำนาจ มีบทบาท และเป็นที่ยอมรับในสังคมว่าเป็น คนเก่ง คนดี คนที่มีความสามารถ คนที่ต่อสู้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นที่อาจจะถูกทำร้าย ถูกทำลาย ถูกหลอกลวงให้เสียหาย ก็กลับกลายเป็นคนที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดีที่หลอกลวง ทำร้ายคนอื่นด้วยอำนาจหรือความสามารถที่ตนมี และกำลังถูกกล่าวโทษโดยคนที่ก่อนหน้านั้น อาจจะเป็นคนที่ตกทุกข์ได้ยากและต้องการความช่วยเหลือในฐานะ “เหยื่อ” ของ “นักล่า”

 
ปรากฎการณ์ที่ “นักล่า” ซึ่งก็คือคนที่เก่งกว่า มีพลังอำนาจมากกว่า เข้าไปล่า “เหยื่อ” นั้น ผมนำมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของมนุษย์ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องของสงครามไปจนถึงการเงินที่ฝ่ายนักล่าจะเป็นผู้ที่ “บุก” เข้าไปต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาชนะ “เหยื่อ” ที่อ่อนแอกว่า แล้วก็กวาดทรัพยากรหรือทรัพย์สมบัติของเหยื่อมาเป็นของตนเอง

 
นักล่าจำนวนไม่น้อย เคยประสบความสำเร็จมาอย่างใหญ่หลวงจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและก็เป็นที่น่าหวาดกลัวสำหรับเหยื่อ รวมถึงเป็นที่น่าเกรงขามในหมู่นักล่าอื่น ๆ ที่อาจจะอิจฉาและพร้อมที่จะเข้ามา “ทำลาย” บารมีนั้นถ้ามีโอกาส และนั่นก็คือวันที่ “นักล่า” กลายเป็น “เหยื่อ” เสียเองอย่างไม่ทันตั้งตัว

 
ตัวอย่างของสงครามก็คือในศึกสตาลินกราดที่กองทัพเยอรมันบุกโซเวียตรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงที่สามารถยึดยุโรปตะวันตกได้แทบทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้น และเหยื่อรายต่อไปก็คือรัสเซีย ซึ่งก็คือ “นักล่าระดับรอง” รายหนึ่งที่บุกยึดโปแลนด์ร่วมกับเยอรมันมาก่อนหน้าแล้ว

 
เยอรมันบุกถึงสตาลินกราดและได้เข้าล้อมเมืองไว้ 3 ด้าน โดยที่ด้านหลังของเมืองติดแม่น้ำโวลกา กองทัพโซเวียตถูกต้อนเข้าไปจนมุมและดูเหมือนว่าจะต้องแพ้อย่างย่อยยับแน่นอน แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้และดึงเกมการสู้รบยาวนานอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยซากอาคารปลักหักพัง
และรอเวลาที่กองทัพใหญ่จากจุดอื่นของโซเวียตจะตีโอบล้อมกองทัพเยอรมันอีกชั้นหนึ่ง ผลก็คือ เยอรมันที่ล้อมกองทัพโซเวียตติดอยู่ที่ “มุม” กลับกลายเป็นว่าเยอรมันเป็นฝ่ายที่ถูกล้อมเสียเองเพราะฮิตเลอร์ไม่ยอมให้กองทัพถอยก่อนที่จะถูกล้อม
 

 
เยอรมันในฐานะที่เป็น “นักล่า” กลายเป็น “เหยื่อ” ที่ถูกกองทัพโซเวียตทำลายย่อยยับ ศึกสตาลินกราดถือว่าเป็นศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เยอรมันเป็นฝ่ายแพ้สงครามแทนที่จะเป็นประเทศที่จะ “ครองโลก”
 

 
ความผิดพลาดของเยอรมันก็คือ อีโก้ที่สูงเกินไปของฮิตเลอร์ เขาอยากยึดสตาลินกราดที่อยู่ห่างจากเยอรมันหลายพันกิโลเมตร ซึ่งทำให้กำลังความเข้มแข็งของกองทัพลดลงมากโดยเฉพาะในด้านของการส่งกำลังบำรุงในช่วงฤดูหนาว
 

 
เหตุผลของการบุกที่จริงก็เพื่อเข้ายึดแหล่งน้ำมันทางภาคใต้ที่อยู่เลยสตาลินกราดไป แต่เขาอยากยึดสตาลินกราดซึ่งเป็นชื่อของสตาลินผู้นำสูงสุดก่อนเพื่อข่มขวัญรัสเซีย ข้อสรุปก็คือ ฮิตเลอร์ ล่า “เหยื่อ” ตัวใหญ่เกินไป ดังนั้นเมื่อพลาด เขาก็เป็นเหยื่อเสียเอง
 

คดีดิไอคอนที่อาจเป็นเรื่องฉ้อฉลหลอกลวงประชาชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ดูเหมือนว่าจะใช้โมเดลหรือรูปแบบ “แชร์ลูกโซ่” โดยที่ “นักล่า” ออกแบบให้คล้ายกับการ “ขายตรงหลายชั้น” ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงามซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในกระแสมาตลอด และก็เป็นระบบการขายที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย มีการทำกันไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงก็คือ สินค้านั้น ขายได้จริงหรือเป็นแค่อุปกรณ์ประกอบในการหลอกลวง นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันต่อไป

ประเด็นก็คือ ผู้บริหารหลักหรือ “บอส” นั้น เป็นผู้ที่ทำเงินได้มากที่สุดและเป็น “นักล่า” ในความหมายของบทความนี้ กลุ่มที่เป็น “แม่ทีม” ที่เป็น “รายใหญ่” ในเครือข่ายการขายตั้งแต่แรกก็คงคิดว่าตนเองเป็น “นักล่า” ที่จะได้เงินจากกิจกรรมนี้ กลุ่มสุดท้ายที่เป็น “ลูกทีม” นั้น ถ้ามองจากคนภายนอกที่เป็นนักวิเคราะห์ก็คือ “เหยื่อ” แม้ว่าเจ้าตัวจะคิดว่าตนเองก็เป็น “นักล่า” เช่นเดียวกัน

แต่ผลสุดท้าย เหล่าบอส “นักล่า” ที่ใช้กลเกมฉ้อฉลหลอกล่อ “เหยื่อ” คือบรรดาลูกทีมทั้งหลายก็พลาดท่า กลับกลายเป็น “เหยื่อ” คือถูกจับและกล่าวโทษ เงินทองทั้งหลายคงถูกยึดไปหมดและอาจจะต้องโทษรุนแรงในที่สุด

อีกคดีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทนายหลายคน ซึ่งเคยเป็นทนายที่มีชื่อเสียง มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ และมีบทบาทในฐานะที่เป็นผู้ปราบ “คนร้าย” เพี่อ “ผดุงความยุติธรรม” ซึ่งในบทความนี้ผมเรียกว่าเป็น “นักล่า” นั้น อยู่ ๆ ในเวลาแทบจะแค่ “ข้ามคืน” กลับกลายเป็น “เหยื่อ” ที่กำลังถูกกล่าวโทษและถูกจำคุก โดย “เหยื่อ” ที่กลายเป็น “นักล่า”

ในวงการหุ้นเองนั้น ปรากฎการณ์นักล่า กับเหยื่อ ก็เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะในหุ้นที่มีการ Corner หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำที่ถูกนักลงทุนรายใหญ่บางคนหรือบางกลุ่มเข้าไปกวาดซื้อเพื่อดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปเกินพื้นฐานมาก ๆ ในระยะเวลาอันสั้น
 

นักล่าก็คือคนที่คอร์เนอร์หุ้น ซึ่งมีกระบวนการหลายอย่างรวมถึงการเผยแพร่บทวิเคราะห์หรือความเห็นของ “เซียน” ที่บอกว่าหุ้นนั้นกำลังมีผลงานดีสุดยอดในด้านของพื้นฐาน บริษัทมีความแข็งแกร่งโดดเด่นและยอดขายจะโตระเบิดจากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยที่สุดในขณะนั้น
 

 
ที่สำคัญที่สุดในกระบวนการก็คือ คนที่รู้เรื่องดีที่สุดซึ่งบ่อยครั้งก็รวมถึงผู้บริหารและเซียนหรือนักลงทุนรายใหญ่ต่างก็เข้าไประดมซื้อหุ้นอย่างรุนแรงซึ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นไประดับหนึ่งก่อนที่จะมีประกาศงบการเงินที่ดูดีและเติบโตขึ้นมาก
 

 
หลังจากนั้น คนกลุ่มที่สองที่ก็อาจจะเป็นรายใหญ่พอสมควร แต่ไม่ใช่นักคอร์เนอร์ ก็จะเข้ามาร่วมและดันให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเร็วขึ้นไปอีกพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่วิ่งขึ้นไปอย่างผิดสังเกตในเวลาอันสั้น อาการของหุ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน จากหุ้นที่ราคาไม่ค่อยเคลื่อนไหวและปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง กลายเป็นหุ้นที่คึกคัก ราคาวิ่งขึ้นเป็นหลาย ๆ เปอร์เซ็นต์หรือบางทีเกิน 10% ต่อวัน ปริมาณการซื้อขายต่อวันเพิ่มขึ้นบางทีเป็น 10 เท่าโดยที่ไม่มีข่าวสำคัญอะไรกับตัวบริษัท คนกลุ่มนี้ผมเรียกว่าเป็น “นักล่าระดับรอง”
 
 

กลุ่มสุดท้ายคือนักเล่นหุ้นรายย่อยและเล่นหุ้นแบบวันต่อวันเป็น “Day Trader” ที่มักคิดว่าตนเองเป็น “นักล่า” แต่อาจจะ “ล่าหาค่ากับข้าว” แต่ที่จริงแล้วก็เป็น “เหยื่อ” เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีจำนวนมาก การเข้าไปซื้อขายหุ้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปแบบติดจรวด หุ้นถูกคอร์เนอร์รุนแรง ราคาหุ้นขึ้นไปหลายเท่าในเวลาอันสั้น ค่า PE ของหุ้นขึ้นไปบางที 30-40 เท่า บางตัวขึ้นถึงเกือบ 100 เท่า มูลค่าตลาดของกิจการหรือ Market Cap. สูงเป็นหมื่นล้านบาทสำหรับกิจการขนาดเล็กที่ยอดขายอาจจะแค่หลักพันล้านบาท และในบางกรณีก็อาจสูงเป็น “ล้านล้านบาท” แม้ว่ากิจการอาจจะเป็นแค่ “หุ้นระดับกลาง”
 

 
ในระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นตกต่ำ หลายครั้งหุ้นที่ถูกโปรโมตว่าเป็นหุ้นในระดับ “ซุปเปอร์สต็อก” กลับแสดงผลงานที่น่าผิดหวังมาก หุ้นถูกขายทิ้งอย่างหนักทำให้ราคาตกต่ำลงอย่างกระทันหันแม้แต่คนที่ทำคอร์เนอร์เองก็ขายไม่ทัน สุดท้ายเมื่อราคาร่วงลงไปต่ำกว่าต้นทุนและบางกรณีถูกบังคับขายจากโบรกเกอร์ที่ปล่อยมาร์จิน หายนะก็บังเกิดขึ้น คนที่ทำคอร์เนอร์หุ้นหรือ “นักล่า” กลายเป็น “เหยื่อ” หรือเป็นคน “ถูกล่า”
 
 

เรื่องราวทั้งหมดของบทความนี้ คือความพยายามที่จะบอกว่า มนุษย์เรามีความโลภที่อยากจะได้เงินมาก ๆ อย่างรวดเร็วและมักจะใช้วิธีการที่จะ กินเงินหรือแย่งทรัพยากรจากคนอื่นในทุกวิถีทาง การฉ้อฉลหลอกลวงเป็นทางหนึ่งที่ทำได้ง่าย และวิธีทำที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดก็คือ การหลอกให้ “เหยื่อ” คิดว่าตนเองสามารถเป็น “นักล่า” ได้เช่นเดียวกันโดยทำแบบเดียวกับนักล่า ซึ่งก็จะได้เงินและสามารถใช้ชีวิตที่หรูหราแบบเดียวกับนักล่า
 

 
อย่างไรก็ตาม ในหลายครั้งและในบางสถานการณ์ “ความผิดพลาด” ก็เกิดขึ้นได้ ในชั่วข้ามคืน นักล่ากลับมีชีวิตที่พลิกผัน กลายเป็นคนที่เสียหายอย่างรุนแรงที่สุด กลายเป็นเหยื่อที่มี “นักล่า” ทั้งตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมาก และก็อาจจะมีนักล่าตัวใหญ่ด้วยเข้ามารุมล่า “เหยื่อ” ที่เคยเป็น “นักล่า” ตัวใหญ่อย่างไร้ความปราณี
 

 
โดยส่วนตัวผมเองในฐานะของนักลงทุน ผมไม่ต้องการเป็น “นักล่า” ผมเป็น “สัตว์กินพืช” ที่โตช้า ๆ แต่มั่นคง ที่พยายามหลีกเลี่ยงนักล่า ผมไม่อยากเป็น “เหยื่อ” ดังนั้น สิ่งที่ทำก็คือ ผมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นเหล่านั้นไม่ว่าคนเขาจะบอกว่ามันดีแค่ไหน

 
9 พ.ย 2567
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่