[CR][SR] ลุงกับป้าแบ็คแพ็ครอบโลก ตะลุยมาเลเซีย-สิงคโปร์ โดยไม่นั่งเครืองบิน ตอน 7 อุทยานป่าดิบชื้น130ล้านปี ตามาน เนการา มาเลเซีย

ลุงกับป้าแบ็คแพ็ครอบโลก ตะลุยมาเลเชีย-สิงคโปร์ 15 วัน โดยไม่นั่งเครืองบิน
ตอนที 7 อุทยานป่าดิบชื้น 130 ล้านปี ตามานเนการา เจรันตุ๊ด มาเลเซีย
                                                 
ดูสิ เราคิดว่ามีเวลามากมายก็ยัง มีเรื่องตื่นเต้นจนได้ กว่าจะถึง Gua Musang มีรถมาให้เปลี่ยน  2 ครั้ง เสีย 1 ครั้ง ยางแตกอีก 1 ครั้ง
                                                 
ได้รู้ว่าคนที่อยู่บนรถส่วนใหญ่เป็นคนไทย เพราะคนไทยกับคนมาเลย์ไม่ได้ดูแตกต่าง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทุกคนล้วนสวมฮียาฟ พวกเขาและเธอไปทำงาน และ/หรือ มีครอบครัวอยู่กัวมูซัง สามี ภรรยา คู่หนึ่งไปขายผักที่ตลาดเช้า โดยรับผักที่มีพ่อค้าคนกลางเอามาส่ง แล้วนั่งขายปลีก มีครอบครัวหนึ่งไปรับลูกชิ้นจากเมืองไทยมาปิ้งขายที่สถานี Gua Musang พวกเธอบอกเราว่า เราลงรถที่เดียวกัน ให้ตามพวกเธอไป
                                                 
ระหว่างที่รอการเปลี่ยนยาง ก็พยายามเก็บภาพรถขนท่อนซุงต้นใหญ่ๆ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นในเมืองไทยมานานแล้ว แต่ที่นั่นมีเยอะมาก แถวๆ ที่เรารอเป็นสวนผลไม้ มีต้นทุเรียนเก่าแก่ ขนุน และลองกอง มองออกไปไกลอีกด้านหนึ่งเป็นภูเขา ก่อนถึงภูเขาเป็นไร่องุ่น
                                                 
มีผู้โดยสารหลายคน โทรเรียกให้รถที่บ้านไปรับ แต่ผู้โดยสารฝรั่งหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินจ้ำอ้าวไปโบกรถก่อนใคร สงสัยจะกลัวตกเครื่องบิน ในที่สุดเวลา 20.15 น. ก็มีรถมาเปลี่ยนถ่าย เราขึ้นรถคันใหม่ มองดูว่า2 แม่ลูกที่จะลงกัวมูซางยังอยู่ และคอยจับตาไว้ รถวิ่งเป็นชั่วโมงก่อนที่จะจอดให้ลงตรงที่มืด เราช่วยพวกเธอหิ้วถุงลูกชิ้นข้ามถนน เมื่อเห็นว่า พวกเธอ มีพ่อบ้านมารับ เราจึงแยกเดินไปก่อน
                                                   
พอถึงสถานีกัวมูซางก็สอบถาม ชื่อสถานีที่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติตามาน เนการา มากที่สุด เราจะไปลงที่สถานีนั้น นายสถานีบอกว่า ชื่อสถานี Jerantut เป็นสถานีที่ 7 ไม่นับสถานีแรก รถจะออกในเวลา 22.30 น. ตามที่น้องขายลูกชิ้นบอกเป๊ะ แต่ตอนนั้นช่องขายตั๋วยังไม่เปิด
                                                   
ที่สถานี มีร้านขายเบอร์เกอร์ 1 ร้าน และมีร้านบาร์ 1 ร้าน เราคิดว่าค่ำนี้จะไม่มีข้าวขายเพราะไม่ห็นมีหม้อข้าว เตาไฟ เห็นครอบครัวหนึ่งแกะห่อข้าวจึงขอดูของเขา เป็นข้าวสีดอกอัญชัน ยำ แถมไก่ทอด 1 ปีก ขายราคาห่อละ 3 ริงกิต เขาใช้กระดาษอาบมันห่อ รสชาติไม่เลวเลยทีเดียว กินข้าวเสร็จแล้วก็ไปใช้บริการห้องน้ำ 30 เซ็นต์ สถานี Gua Musang มีปลั๊กให้เสียบชาร์จแบ็ตทุกเสาเลย ได้เวลาซื้อตั๋วจึงซื้อตั๋วไป Jerantut ค่าตั๋วคนละ 10 ริงกิต รถออกเวลา 22.30 น. ถ้ารถตรงเวลาจะถึงปลายทางตอน 01.43 น. ถ้ารางรถไฟซ่อมเสร็จ จะมีรถไฟออกจากสถานี Tumpat 11.45 น. ผ่าน Wakuf Bharu ลงใต้

รถออกเวลา 22.45 น. ช้าไป 15 นาที ที่นั่งชั้น 3 เป็นเบาะนั่งนุ่ม แอร์เย็นเฉียบจนเราต้องใส่เสื้อคลุมและใช้ผ้าห่มปิดขา สภาพห้องน้ำบนรถไฟแม้ไม่ค่อยจะสมบูรณ์ แต่ก็มีกระดาษชำระให้ จึงใช้เช็ดขอบโถก่อนนั่ง จนท.ตรวจตั๋วทำงานคู่กัน คนหนึ่งอ่านเลขที่นั่ง อีกคนเช็คในแผนผัง เราขึ้นผิดตู้ T 4 เป็น TX4 เขาแค่บอกให้เราย้ายตู้เพราะมันเป็นชั้นเดียวกัน รถวิ่งเรียบเวลาจอดก็แทบไม่รู้สึกแต่เสียงดังไปตลอดทาง ....
เราตั้งนาฬิกาปลุกก่อนเวลา 20 นาที แต่ก็ไม่กล้าหลับ เพราะกลัวนั่งเลย เนื่องจากไม่ใช่สถานีปลายทางถ้ารู้ว่า จนท. จะมาปลุกก็คงหลับสบาย เพราะทุกอย่างลงตัว อากาศเย็นสบาย รถเสียเวลาประมาณ ครึ่งชั่วโมง พอลงไปที่สถานีมีคนรถมาถามว่าจะไปเลยไหม 80 กม. 150 ริงกิต เราบอกว่าจะรออยู่ที่สถานี ให้เช้าก่อน มีกลุ่มหนุ่มใหญ่มาล้อมเราคุยกันเฮฮา นำโดย หนุ่ม Nik Alif รปภ. หน้าเป็น เราเลยได้รู้ว่า ตอนเช้ามีรถบัสเที่ยวแรกออก ไม่เกิน 08.00 น. กว่าพวกเขาจะแยกจากไปก็เกือบตี 4 นอนไม่หลับแล้ว
                                                             
วันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2559 พอใกล้เวลา 07.00 น. รถจากกัวลาลัมเปอร์เข้าสถานี มี 2 สาวพี่น้อง จากฮอลแลนด์ Lara กับ Sarah มาสมทบทำให้หายเหงา 2 สาวก็เป็นนักเดินทางตัวจริง ไปมาแล้วหลายที่ ประทับใจโมร็อคโค มากที่สุด ตอนเช้าเดินออกไปขึ้นรถ ที่ท่ารถข้างนอกสถานี ข้ามถนนจากลานกิจกรรมริมคลอง มองตรงไปที่ KFC อยู่ในซอย ดินข้ามถนนไปซื้อน้ำเปล่าขวด 1.5 ลิตร 1 ขวด 2 ริงกิต รถออกเวลา 07.20 น. ค่ารถคนละ 7 ริงกิต ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ผ่านชุมชน สวนปาล์ม ป่าดงดิบที่มีแต่เฟิร์น
                                                               
รถจอดส่งที่ท่ารถ มีร้านอาหารและศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว 2 สาวขอเวลาไปหาที่พักนอนเอาแรงก่อนไปเที่ยว เราบอกข้อมูลที่รู้มาว่าให้พักฝั่งรถจอด เพราะถ้าข้ามน้ำไปที่อุทยานจะแพง เรากินอาหารเช้าเป็นข้าวคนละจานกับไก่เชื่อม และแกงปลาจานละ 4 ริงกิต แล้วเดินไปหาที่ฝากเป้ น้อง Shima Manan พนักงานขายของร้านสะดวกซื้อ ....ใจดีมากให้ฝากฟรี
                                                               
                                                               
                                                               
                                                               
เราเดินข้ามสะพานไปท่าเรือข้ามฝากด้วยเรือยนต์ 12 ที่นั่ง ค่าเรือคนละ 1 ริงกิต ค่าเข้าชมอุทยานคนละ 1 ริงกิต ค่ากล้องถ่ายรูปตัวละ 5 ริงกิต
                                                               
                                                               
                                                               
                                                               
                                                               
ประทับใจในความอุดมสมบูรณ์ของป่า ที่มีทั้งไม้ใหญ่และพืชป่าฝนกับรอยสัตว์ป่า ฝูงลิง กระรอก นก ชะนี กว่าจะถึงสะพานเชือกก็ถูกล่อหลอกด้วยตัวเลขอีก 100 เมตร จนล้ากันเลยทีเดียว โชคดีก่อนขึ้นไปยังทางออกไปสะพาน มีห้องน้ำให้คลายร้อนกับปลดทุกข์ จึงขึ้นต่อไปได้อย่างไม่หนักหนาสาหัส
                                                                 
                                                                 
                                                                 
สะพานเชือกมีสลิงที่โยงกับต้นไม้ใหญ่อย่างแน่นหนา ตั้งแต่ข้างล่าง แล้วโยงพาดเป็นขอบบนของสะพาน ค่าขึ้นสะพานคนละ 5 ริงกิต
ความจริงมีมากกว่า 7 สะพาน ช่วงละประมาณ 50 เมตร อยู่ระหว่างต้นไม้ใหญ่ 2 ต้น ตรงสุดช่วงที่เป็นรอยต่อมีเจ้าหน้าที่นั่งซุ่มอยู่ใต้ต้นไม้ แต่ละคนดูหน้าตาบอกบุญไม่รับ เขาไม่ให้เดินพร้อมกัน ต้องรอจังหวะให้คนหนึ่งเดินไปได้ประมาณ 10 เมตร จึงให้อีกคนหนึ่งตามไป
                                                                 
                                                                 
                                                                 
วันนี้เปิดแค่ 7 ช่วง ข้างบน 5 ข้างล่าง 2 ไม่รวมทางลงที่ใช้บันไดรับไว้ มีคนไปไต่ไม่มากนัก เขาบอกว่า คนจะมากที่สุดช่วงตรุษจีน
ตอนที่เราลงจากสะพานเชือก มาแวะเข้าห้องน้ำ ได้ยินเสียงเรียกทักทาย ปรากฏว่า เป็นสองสาวชาวฮอลแลนด์ Lara กับ Sarah ป้าแซวว่า ไหนว่าจะนอนพักเอาแรงก่อนไง? พวกเธอหัวเราะ แล้วแซวกลับว่า ไหนว่าจะไม่ Trekking ไง เลยเจ๊ากันไป ต่างคนต่างแลกคนละหมัด
                                                                 
ขากลับเดินผ่านบ้านพักที่จัดไว้บริการนักท่องเที่ยว เป็นอาคารไม้ มีทั้งลานกิจกรรม ห้องประชุมอาคารที่สามารถจุคนได้จำนวนมาก ในกรณีจัดค่ายพักแรม มีบ้านเป็นหลังอยู่หลายสิบหลัง แต่มีคนใช้บริการโหรงเหรง โดยเฉพาะด้านที่มีไว้สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ เป็นที่ร้าง ดูเหมือนไม่ได้ใช้งานมานานหลายปี
                                                                 
                                                                 
                                                                 
                                                                 
ขึ้นจากเรือแล้ว ไปเอาเป้ที่ฝากไว้ที่ร้านน้อง …..เธอไม่เก็บค่าฝาก จึงซื้อน้ำและขนมที่ร้านรวม 6.5 ริงกิต หาที่อาบน้ำ มีที่อาบน้ำใกล้ๆ ที่จอดรถคนละ 50 เซ็นต์ แล้วก็นั่งรถกลับในเวลา 14.30 น. ถึงท่ารถ 16.10 น. เราแวะหลบร้อนที่ลานกิจกรรม ที่มองรอบๆ ตัวเป็นอาคารสถานที่ราชการ ศูนย์อาหาร และรั้วกั้น เลียบคลอง สีสันแพรวพราว ป้าหลับตลอด จนใกล้ 18.00 น. ลุงจึงพบที่ชาร์จแบ็ตบนเวที
                                                                 
                                                                 
                                                                 
ป้าไปซื้อข้าวกับไก่ทอด และกล้วยเล็บมือนางมานั่งกินกัน ในราคา 8+2 ริงกิต ถัดจากศูนย์อาหารมีห้องน้ำ 30 ริงกิตด้วย ....ออกจากลานฯ เวลา 21.30น. ไป รอเวลารถเข้าตอน 01.43 น. เปิดขายตั๋วเวลา 01.00 น.ค่ารถไฟคนละ 30 ริงกิต รถเข้าจริงๆ 02.30 น. เวลาถึง Johor Bahru Sental (J.B.
Sentral) 11.30 น.
              
ชื่อสินค้า:   อุทยานป่าดิบชื้น 130 ล้านปี ตามาน เนการา มาเลเซีย
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่