แนวทาง ใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้เป็นอุปนิสัยมีวาสนา....

พระธรรมเทศนา หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เรื่อง วิธีทำสมาธิ

"........ทีนี้เราก็มาฝึกการลุกขึ้น-นั่งลง เราจะทำแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับเพศ วัย ฐานะ เช่น ชาย หญิง สมณะเพศ พระภิกษุ สามเณร แม่ชี วัย เด็กหรือคนโต กลางคนหรือแก่ รุ่นคุณพ่อหรือคุณแม่ คุณตาหรือคุณยาย อาม้า อาก๋ง อะไรเหล่านี้เป็นต้น แล้วนึกถึงฐานะของเราว่ามีอย่างไร เราเป็นพ่อ หรือเป็นแม่ เป็นศิษย์ หรือเป็นอาจารย์ เป็นต้น

การแสดงออกทางกายและวาจาเหมาะสมกับ วัย เพศ ฐานะแล้วหรือยัง เราต้องนึกถึงเพศ วัย ฐานะอยู่เสมอว่า การแสดงออกทั้งหมด ประกอบด้วย โทษ หรือ คุณ จะเป็นเพื่อมลทินหรือเป็นไปเพื่อหมดจด เราต้องกำหนดรู้เสียก่อน ถ้าเป็นไป เพื่อมลทิน ก็บังคับทันที ไม่ยอมเป็นอันขาด แต่ถ้าเป็นไปเพื่อคุณ ถึงแม้จะขัดอัธยาศัยของจิตที่ไม่ยอม เราจะหาอุบายให้จิตพอใจจนได้ การดำเนินทางภายนอกที่เกี่ยวกับกาย และวาจาก็พยายามทำอย่างต่อเนื่องให้สม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นอุปนิสัย
  

ต่อจากนั้นไป เหตุการณ์ ที่เราได้ประสบ เช่น เขาด่าเราก็ดี เขาชมเราก็ดี หรือเห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว น่าชอบก็ดี ความรู้สึกของจิตมันเป็นอย่างไร เราก็เอาอำนาจส่วนนั้นเข้าไปประคองเอาไว้แล้วก็พยายามหาเหตุผลมาแก้ไขต่อไป ความรู้สึกของเราก็ไวขึ้นๆ สามารถทันเหตุการณ์ ที่มันจะวอกแวกไปตามอารมณ์ หรือมันจะวูบวาบไปตามเหตุการณ์ก็ดี เป็นไปไม่ได้ที่กำลังตัวยับยั้งจะประคองไม่ได้เลย พอเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว มันจะมีความรู้ชนิดหนึ่งขึ้นมาแก้ไขได้ทันที


บางทีอาจจะเอาตัวอย่างมาจาก พระพุทธเจ้า และ พระอริยะเจ้า เช่น เหตุการณ์อันนี้ พระพุทธเจ้าได้ประสบมาแล้วหรือยัง และพระอริยะเจ้า ที่เป็นผู้พี่ของเราได้ประสบมาหรือยัง ประสบแล้วท่านทั้งหลายเหล่านั้นทำอย่างไร เราจะมีความรู้สึกไปน้อมเอาเหตุการณ์และเหตุผลทั้งหลายของท่านผู้เป็นอริยะบุคคลเหล่านั้นมาเป็นตัวอย่างเตือนเรา แล้วความรู้สึกของเราก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปตามเหตุการณ์ เราพยายามนึกของเราอย่างนี้......"
-------------------------------------------------------

จขกท. มั่นใจว่า การนำผลของสมาธิ มาใช้ตามแนวคำสอนของหลวงปู่ฯ เหมือนกับการสร้างบัญชีออมใจ ซึง การกระทำของเรา มีผลกับ การฝาก หรือ ถอน ความมี " สติ " ในตัวเรา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องทำเสมอ คือ การเติมบัญชีออมใจของเรากับการใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยการนำผลของสมาธิมาปฏิวัติจิต ไม่ให้เป็นไปตามกิเลส อันนี้แน่นอน (ถ้าทำได้) ย่อมเป็นอุปนิสัย เป็นปัจจัยหนุนให้มีวาสนาบารมียิ่งๆขึ้น และ การนั่งสมาธิจะง่ายขึ้น เพราะสติมีงานทำ (ระมัดระวัง) ต่อเนื่องทั้งวัน สติจึงคุมจิตให้เข้าสมาธิได้ง่ายขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่