นิพพาน แปลว่า ดับเสียซึ่งความร้อน

นิพพาน แปลว่า ดับเสียซึ่งความร้อน ซึ่งก็หมายถึง ความเย็น คือคำว่านิพพานนี้ก็เป็นคำธรรมดาๆที่ชาวบ้านเขาใช้เรียกสิ่งของที่มันเคยร้อนแล้วมันก็เย็นลงว่านิพพาน ทีนี้เมื่อมีการปฏิบัติให้ความทุกข์ของจิตใจดับลงได้แต่ก็ไม่รู้ว่าจะใช้คำว่าอะไร จึงได้ยืมคำว่านิพพานของชาวบ้านมาใช้เรียก โดยบางก็ว่าเมื่อมีกามารมณ์พร้อมก็นิพพาน บางก็บอกว่าต้องมีสมาธิจึงจะนิพพาน แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า เมื่อจิตไม่มีความทุกข์จึงจะนิพพานจริง

นิพพานนี้มันก็มีอยู่กับจิตมาตั้งแต่เกิดจิตขึ้นมาแล้ว คือเมื่อจิตเกิดมามันก็มีความประภัสสรหรือบริสุทธิ์จากกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งจิตประภัสสรนี้มันก็มีความสงบเย็นและไม่มีความทุกข์อยู่แล้ว แต่เมื่อจิตเกิดกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมาเมื่อใด จิตจึงสกปรก (เศร้าหมองขุ่นมัว) และมีความทุกข์ จึงทำให้ความประภัสสรของจิตถูกความสกปรกปิดบังเอาไว้ จึงทำให้จิตไม่สามารถสัมผัสนิพพานได้ แต่เมื่อกิเลสจรหายไป ความประภัสสรและนิพพานก็จะกลับมาปรากฏแก่จิตได้ใหม่  (ไม่ใช้คำว่าเกิดกับนิพพาน เพราะนิพพานไม่มีการเกิด แต่จะใช้คำว่าปรากฏ ที่หมายถึง มันมีอยู่แล้วตลอดเวลาตามธรรมชาติ  แต่จิตของเราเพิ่งได้มาสัมผัสกับมัน) ซึ่งนิพพานนี้ก็มีอยู่ ๒ ลักษณะอันได้แก่

๑.   นิพพานชั่วคราว หรือ นิพพานขั้นต้น ซึ่งนิพพานชั่วคราวนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

(๑.๑) นิพพานตามธรรมชาติ คือปกติจิตของเรามันก็มีนิพพานกันอยู่แล้ว เพียงแต่มันยังเป็นแค่ขั้นต้นและชั่วคราวเท่านั้น คือเมื่อเราได้ไปอยู่ในสถานที่สงบ เช่น ป่า เขา ทะเล ลำธาร หรือที่เงียบๆไม่มีสิ่งรบกวน หรือเมื่อเราได้พบเห็นสิ่งที่ทำให้จิตปล่อยวางความยึดถือได้ เช่น พบเห็นคนตาย หรือภัยพิบัติ เป็นต้น จิตของเรามันก็สงบเย็นของมันได้เอง หรือเมื่อจิตของเรามันเกิดความทุกข์มาจนอ่อนล้าแล้ว ความทุกข์มันก็ดับลงของมันเองได้เหมือนกัน ซึ่งนิพพานตามธรรมชาตินี้ ยังเป็นเพียงแค่ความสงบเย็นขั้นต้นและชั่วคราว ที่ยังเป็นแค่ความอุ่นใจ เบาใจ ตามธรรมชาติที่เราก็มีกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งนิพพานชั่วคราวนี้ถึงแม้จะยังไม่เย็นสนิทและไม่ถาวร แต่ก็นับว่ามีคุณค่ายิ่งสำหรับจิตมนุษย์เรา เพราะมันได้หล่อเลี้ยงจิตของเราเอาไว้ไม่ให้เร่าร้อนเป็นทุกข์อยู่ตลอดทั้งวัน เพราะถูกกิเลสแผดเผาอยู่ตลอดทั้งวันจนเป็นบ้ากันไปหมด  คือนิพพานจะช่วยให้จิตของเราในแต่ละวันได้รับการพักผ่อน ดังนั้นเราจึงควรขอบคุณนิพพานชั่วครั้งชั่วครามตามธรรมชาตินี้ และไม่เนรคุณต่อนิพพานด้วยการเกลียดกลัวนิพพาน เพื่อที่จะได้แสวงหานิพพานที่สูงขึ้นต่อไป

(๑.๒) นิพพานจากการปฏิบัติ ซึ่งนิพพานจากการปฏิบัตินี้ก็แยกได้ ๒ อย่าง อันได้แก่

(๑.๒.๑) นิพพานจากการปฏิบัติสมาธิ โดยนิพพานจากการปฏิบัติสมาธินั้นก็คือ การที่เราฝึกสมาธิโดยไม่มีปัญญาตามหลักอริยมรรคอยู่ด้วย ก็สามารถทำให้จิตนิพพานได้เหมือนกัน เพราะสมาธินั้นจะกดทับหรือทำให้กิเลสระงับดับลงได้ชั่วคราว ถ้าเรามีสมาธิสูงๆ ก็จะทำให้นิพพานสูงสุด (คือความสงบเย็นสูงสุด) ปรากฏได้เหมือนกัน เพียงแต่จะไม่ถาวรเท่านั้น คือเมื่อสมาธิหายไปเมื่อใด นิพพานจากสมาธินี้ก็จะหายตามไปด้วย

(๑.๒.๒) นิพพานจากการปฏิบัติอริยมรรค โดยนิพพานจากการปฏิบัติอริยมรรคนั้นก็คือ เมื่อเรามีปัญญาและสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) ตามหลักอริยมรรคแล้ว เมื่อเรามีสติ สติก็จะดึงเอาปัญญาและสมาธิออกมา ก็จะทำให้กิเลสและความทุกข์ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับหายไปทันที แล้วนิพพานก็จะปรากฏ (ถ้ากิเลสดับลงสนิท นิพพานสูงสุดก็จะปรากฏ ถ้ากิเลสดับลงไม่สนิท (คือยังมีนิวรณ์อยู่) นิพพานขั้นต้นที่เป็นเพียงความอุ่นใจ เบาใจ ก็ปรากฏแทน) แต่เมื่อจิตของเรายังมีความเคยชินของกิเลสอยู่ในจิตใต้สำนึก เมื่อเราเผลอสติ ก็จะทำให้กิเลสและความทุกข์กลับมาเกิดขึ้นได้อีกเรื่อยไป  

๒. นิพพานถาวร ซึ่งนิพพานถาวรก็เกิดจากการปฏิบัติตามหลักอริยมรรค อย่างจริงจังและต่อเนื่องนานๆ จนสามารถทำลายความเคยชินของอวิชชาและกิเลส ที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร จึงทำให้จิตไม่กลับมาเกิดความทุกข์ได้อีกอย่างถาวร (คือตลอดชีวิต) และทำให้จิตมีความสงบเย็นได้อย่างสูงสุดจนตลอดชีวิต ซึ่งนิพพานถาวรนี้เองที่เป็นนิพพานสูงสุดของพุทธศาสนา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่