อัปนาสมาธิเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา

ก่อนจะนั่งสมาธิ ควรทำความเข้าใจความหมายของ “จิต” ก่อน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง (เป็นประภัสสร) แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา ฯ” โดยจิตมีสภาพรู้อารมณ์เป็นลักษณะ หรือเป็นธาตุรู้เท่านั้น

ดังนั้น การเจริญอานาปานสติ หรือ การภาวนาพุทโธ หรือ การเพ่งกสิณ เป็นการฝึกจิตให้มีสภาพรู้อยู่ที่จุดใด จุดหนึ่ง เช่น ลมหายใจเข้า-ออก หรือ คำภาวนาพุทโธ หรือ ดวงกสิณ เป็นเวลานาน มีสติรู้อยู่ที่ไหน จิต ก็อยู่ที่นั่น เมื่อจิตเผลอไปรู้ที่อื่น เช่น สัญญาความจำในอดีต หรือความคิดปรุงแต่ง หรือความเวทนา ปวดเมื่อยตามกาย ให้ใช้สติดึงจิตมาที่กรรมฐานของตน

เมื่อจิตมีกำลังจิตจะตั้งมั่นรวมเป็นหนึ่ง เรียกว่า เอกัคตา อยู่ที่ฐานของจิตณ จุดใดจุดหนึ่ง เช่น ปลายจมูก หว่างคิ้ว กลางกระหม่อม หัวใจ กลางอก กลางสะดือ แต่ละคนไม่เหมือนกัน เรียกว่า ปฐมฌาน

เมื่อจิตมีกำลังมากขึ้นจะค่อยๆปรากฏสภาพเดิมแท้ของจิต คือ ผ่องใส ส่องสว่างเป็นประภัสสร จะเห็นแสงขาวส่องสว่างสไสว ไม่แสบตาที่ฐานของจิต นั่นเป็นสภาวะที่แสดงว่าคุณเข้าถึง ทุติยฌานแล้ว บางทีจะมีอาการปิตีอื่นๆ ปรากฏ เช่น น้ำตาไหล ขนลุกขนพอง ตัวโยก ตัวขยาย ปีติซาบซ่านไปทั้งตัว ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก และรู้แสงสว่างนั้น สักแต่ว่ารู้ไม่ต้องยึดติด

เมื่อจิตมีกำลังมากขึ้น ปีติ ทางกายจะรวมเป็นสุขทางใจ เป็นบรมสุข ที่ไม่มีสุขใดในโลกเทียบเท่า เอาสุขทั้งชีวิตมารวมกัน สุขของพระเจ้าจักรพรรดิก็ไม่เท่าสุขในสมาธิ กายจะตั้งตรงเป็นไม้บรรทัด เหมือนก้อนหิน ลมหายใจหยาบจะเปลี่ยนเป็นลมหายใจละเอียดแผ่วเบา เหมือนจะดับหายไป จิตของท่านเข้าสู่ ตติยฌานแล้ว

เมื่อจิตสงบถึงที่สุด อวิชชาและกิเลสถูกกดไว้ชั่วคราว จะปรากฏให้เห็นสภาพเดิมแท้ของจิต เป็นดั่ง แก้วประกายพรึก ระยิบระยับ สวยงามมาก ส่องสว่างเป็นประภัสสร สว่างยิ่งกว่าพระอาทิตย์พันดวง อยู่ที่ฐานของจิต จะไม่มีความรู้สึกทางกาย ลมหายใจเหมือนดับสนิทหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ เป็นอุเบกขาไม่มีความคิดปรุงแต่งใดๆ จิตเข้าสู่ จตุตถฌาน แล้ว

อยู่กับความสงบนั้น จนเต็มอิ่มพอที่จิตมีกำลังจะฆ่ากิเลส อาจจะ 1 ชม. 3 ชม. 6 ชม. 24 ชม. 3 วัน 3 คืน เมื่อจิตอิ่มแล้วจะคลายออกจากสมาธิเอง เมื่อจิตออกจากสมาธิ จิตจะมีกำลังและอุเบกขาเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการนำมาวิปัสสนาเพื่อฆ่ากิเลส คือ การพิจารณาขันธ์ 5 รูป (กาย) เวทนา (สุข ทุกข์ เฉยๆ) สัญญา (ความจำ) สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) วิญญาณ (ความรู้สึกรู้ของจิต ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามกฏไตรลักษณ์ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา พิจารณาอยู่อย่างนั้น จิตจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดจากขันธ์ 5 แยกออกจากขันธ์ 5 ไม่มีเราในขันธ์ 5 จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ขันธ์ 5 จิตวิมุตติหลุดพ้นจากกิเลส อวิชชา น้อมลงในอมตธาตุ อมตธรรม เปลี่ยนเป็นนิพพานธาตุ ในพระนิพพาน โดยใช้กำลังของอัปนาสมาธิเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา เป็นหนทางดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่