'แจส' เขย่าตลาด - เอไอเอส แจกเครื่องฟรี


          จุดเปลี่ยนธุรกิจมือถือ หลัง "แจส-ทรู" ชนะศึกชิงคลื่น 900 MHz เปิดมิติใหม่การแข่งขัน "เอไอเอส" สู้เต็มสูบรักษาแชมป์ คืนความสุขให้ลูกค้าแจกฟรี 12 ล้านเครื่อง ผนึก "ทีโอที" ฟาก "ดีแทค" เดินหน้าลงทุน-อัดฉีดสิทธิพิเศษมัดใจลูกค้า พร้อมสู้สงคราม 4G

          การประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่มีแจสสอดแทรกเข้ามาเป็นม้ามืด แซงหน้าทั้งยักษ์ใหญ่เอไอเอส และดีแทค ทำให้ ผู้เกี่ยวข้องหลาย ๆ ฝ่ายมองว่า ตลาดผู้ให้ บริการโทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะมีผู้บริการจาก 3 รายใหญ่ เพิ่มเป็น 4 ราย ในขณะที่สัดส่วนการใช้มือถือ ของคนไทยมากกว่าจำนวนประชากรไปแล้ว สะท้อนได้จากราคาหุ้นของทั้ง 4 บริษัทที่ลดต่ำลงอย่างหนัก

          ผู้สื่อข่าวรายงานถึงภาพรวมตลาดมือถือในปัจจุบันว่า มีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกย่านความถี่ทั้งสิ้น 99.17 ล้านเลขหมาย แยกเป็นบนความถี่ 2.1 GHz รวม 75.96 ล้านเลขหมาย หรือ 76.6% ย่านความถี่อื่น ๆ 23.21 ล้านเลขหมาย หรือ 32.4% โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 38.88 ล้านเลขหมาย รองลงมาคือบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN รวม 30.76 ล้านเลขหมาย และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์เซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC จำนวน 6.31 ล้านเลขหมาย โดย AWN มีโครงข่าย 20,980 สถานี DTN จำนวน 10,920 สถานี และ TUC อีก 9,729 สถานี

          จุดเปลี่ยนตลาด-จุดพลุแข่งเดือด
          แหล่งข่าวในธุรกิจโทรคมนาคมกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเข้าสู่ตลาดของ "แจส" ส่งผลอย่างยิ่งกับตลาดรวม จากตัวแปรที่เปลี่ยนไป คาดว่าคงหนีไม่พ้น สงครามราคาอย่างแน่นอน เพียงแต่ ใครจะเป็นผู้เปิดเกมก่อนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอสและดีแทคที่ต้องปกป้องตลาดเอาไว้ หรือทรูมูฟ เอช ที่ประกาศเปิดเป้าหมายเป็นที่ 1 สำหรับ "แจส" คงจะลุกขึ้นมาเปิดเกมใหม่ในครึ่งปีหลังของปีหน้า เนื่องจากต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการติดตั้งเครือข่าย และขยายการให้บริการโทรศัพท์มือถือ

          "สงครามมือถือเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ครั้งสำคัญ ซึ่งในมุมของผู้บริโภคเป็น เรื่องที่ดี เพราะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น และ ทุกรายน่าจะแข่งกันเอาใจลูกค้า โดยเฉพาะเอไอเอสด้วยคลื่นที่มีจำกัดกว่ารายอื่นทำให้การหาลูกค้าใหม่ไม่น่าจะเป็นไพออริตี้หลัก ประกอบกับมีฐานลูกค้าร่วม 40 ล้านราย แค่รักษาไว้ให้ได้ก็ถือว่าดีมากแล้ว ส่วน ดีแทคคงอยู่ในจุดที่ลำบากกว่าใคร เพราะการแพ้ประมูลทั้งสองครั้ง มีผลกระทบกับภาพลักษณ์มากพอสมควร ส่วนทั้งทรู และแจส คงคล้ายกันในแง่ที่ว่ามีภาระทางการเงินมากขึ้น เมื่อเทียบความแข็งแกร่งด้านสถานะการเงินกับคู่แข่งอีก 2 รายแล้ว คงสู้ได้ลำบาก" แหล่งข่าวกล่าว

          "ดีแทค" ลั่นกลองรบสงคราม 4G
          นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า แม้จะไม่ได้คลื่น จากการประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz และ 900 MHz แต่ทำให้ดีแทคสามารถนำเงินทุนที่เตรียมไว้ไปเพิ่มโอกาสช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์ และมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าได้มากขึ้น โดยที่คลื่นความถี่ในมือ 50 MHz เพียงพอต่อการให้บริการ การที่ ดีแทคไม่ได้สร้างหนี้เพิ่มมหาศาลจึงอยู่ในจุดที่ได้เปรียบคู่แข่ง และเป้าหมายจากนี้คือ ลูกค้าต้อง Always Get More คือได้มากกว่าคนอื่นเสมอ

          การทุ่มเงินลงทุนของดีแทคจากนี้ไปจะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ใช้ราว 2 หมื่นล้านบาท/ปี สำหรับพัฒนาโครงข่าย ตอนนี้ 3G ของดีแทค ครอบคลุมเกิน 90% แล้ว ต้นปีหน้าจะมีถึง 95% ส่วนปีหน้าจะก้าวไปสู่ 4G ที่จะให้บริการได้ด้วยความเร็วกว่า 100 Mbps. ทำให้ทุกจุดที่มีสัญญาณดีแทคจะใช้ 4G ได้ และตั้งเป้าจะเพิ่มฐานลูกค้า 4G จาก 2.2 ล้านราย เป็น 4.5 ล้านราย เช่นเดียวกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานดาต้าจาก 60% เป็น 70% และ 80% ในปี 2560 โดยจะให้ส่วนลดค่าเครื่อง เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้ 4G มากขึ้น เพื่อรักษาเบอร์ 2 ในตลาดให้ได้

          "เทเลเนอร์ยังมุ่งมั่นจริงจังกับการลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 การที่เราเข้าไปเคาะราคาประมูลคลื่น 900 MHz สูงถึง 7 หมื่นกว่าล้านบาท มากกว่าที่เคยไปประมูล ที่อื่น เป็นเครื่องยืนยันถึงคำมั่นนี้ จากนี้จะได้ เห็นการต่อสู้ของดีแทคอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการประมูลทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องเสียคลื่น บางรายได้คลื่นเพิ่ม รวมถึงมีรายใหม่เข้ามา"

          นายลาร์สกล่าวต่อว่า ดีแทคไม่กลัวว่าลูกค้าจะไหลออก และจะเร่งสร้างความเข้าใจว่า คลื่นในมือที่มีอยู่ยังเพียงพอจะให้บริการลูกค้าในประเทศไทยได้ทั้งหมด ส่วนสัมปทานคลื่น 1800 ที่เหลือ 3 ปี  ไม่เป็นความเสี่ยงของบริษัท เนื่องจากการประมูลครั้งนี้ทำให้รัฐบาลเห็นแล้วว่า เป็นแนวทางการจัดสรรคลื่นที่มีประสิทธิภาพ จึงเชื่อว่าจากนี้จะได้เห็นการนำคลื่นที่ไม่ได้ใช้ออกมาประมูลมากขึ้น

          "การมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาในตลาด ไม่ได้เป็นความเสี่ยง เพราะรายใหม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ทั้งระบบดิสทริบิวเตอร์ และจุดบริการลูกค้า ยิ่งต้องมีภาระค่าไลเซนส์กว่า 7 หมื่นล้านบาทด้วย"

          ไม่ดึงคลื่น 1800 ประมูลล่วงหน้า
          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.เคยอนุมัติการอัพเกรดเทคโนโลยีบนคลื่น 1800 MHz ให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม จนถึงปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานของดีแทค หากจะอ้างว่าคลื่นในสัมปทานมีเพียง 25 MHz และเหลืออีก 20 MHz ที่ไม่ได้อยู่ในสัมปทาน ก็ต้องชี้แจงรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร หากไม่มีข้อมูลใหม่ต้องยึดตามอายุสัมปทาน

          กสทช.ยืนยันว่าจะไม่มีการนำคลื่น 1800 MHz มาประมูลล่วงหน้า เพราะไม่ต้องการให้ไปกระทบรายได้ของรัฐวิสาหกิจจากการเร่งโอนย้ายลูกค้าออกจากสัมปทาน ขณะเดียวกัน กสทช.ชุดเดิมจะหมดวาระในปี 2560 ดังนั้นไม่สมควรเปิดประมูลก่อน แต่ควรให้ชุดใหม่มาดำเนินการ

          อย่างไรก็ตาม คลื่นที่เหมาะนำมาประมูล ได้ก่อนคือ คลื่น 2.6 GH ที่อยู่กับ อสมท ที่แสดงความประสงค์อยากคืนบางส่วน จากทั้งหมด 144 MHz ซึ่งจะมีการหารือกันช่วงหลังปีใหม่

          นายฐากรกล่าวถึงอัตราค่าบริการบนความถี่ 2100 ขณะนี้ว่า ลดลงกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับค่าบริการ ณ วันที่ให้ใบอนุญาต (7 ธ.ค. 2555) โดยในไตรมาส 3 ปีนี้ ค่าบริการเสียงอยู่ที่ 0.58-0.77 บาท/นาที เทียบกับช่วงแรก 0.97 บาท/นาที ส่วนค่าบริการอินเทอร์เน็ต อยู่ที่ 0.25-0.28 บาท/MB ลดลง 15-26%

          "แจส-ทรู" ย้ำซื้ออนาคต
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มทรู และแจส 2 ผู้ชนะ ประมูลคลื่น 900 MHz ได้ประกาศแผนลงทุน พร้อมกับชี้แจงเหตุผลถึงการเคาะราคาสู้เพื่อชิงคลื่นดังกล่าว (อ่านรายละเอียด หน้า 28)

          โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า คลื่น 900 ที่ได้มาเป็นการสร้างฐานใหม่เพื่อการเติบโตในอนาคต เป็นราคาที่สมเหตุ สมผล ทำให้บริษัทมีคลื่นในมือถึง 55 MHz มากกว่าคู่แข่งทุกราย ทำให้สามารถอัพเกรดบริการไปสู่ 4G Advance ที่มีความเร็วมากกว่า 4G ปกติ เป็นรายแรกในประเทศไทย ซึ่งลูกค้าจะสัมผัสได้ใน ปีหน้า โดยมีแผนลงทุน 5.5 หมื่นล้านภายใน 3 ปี ตั้งเป้าขยับส่วนแบ่งตลาดจาก 20% เป็น 34% ภายใน 5 ปี

          "ผมไม่กังวลการเข้ามาของแจส เพราะเรามีคลื่น 55 MHz แต่แจสมี 10 MHz ถ้าจะกังวลก็กับเบอร์ 1 (เอไอเอส) และ 2 (ดีแทค) มากกว่า เพราะเบอร์ 1 คงพยายาม ให้ได้คลื่นเยอะกว่านี้"

          นายศุภชัยยอมรับการประมูลทำให้บริษัทมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น และถือ เป็นความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่พิจารณาแล้วว่าบริหารจัดการได้ และให้ผลตอบแทนสูงมาก มั่นใจว่านี่เป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ คลื่น 900 ที่ได้มาใหม่ ส่วนหนึ่งจะนำไปให้บริการ 2G เพราะผู้ใช้บริการกว่าครึ่งของตลาดในปัจจุบันยังใช้เครื่อง 2G และมีฐานลูกค้ามากกว่า 15 ล้านราย ที่จะดึงมาอยู่กับทรูได้

          ฟิทช์ฯชี้เอไอเอสสุดแกร่ง
          นายโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิต ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัททำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) ให้กับเอไอเอส และ ดีแทค โดยปัจจุบันเครดิตของเอไอเอสอยู่ที่ AA+ ส่วนดีแทคอยู่ที่ AA และมีมุมมอง ต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทในอนาคตมี "เสถียรภาพ" โดยเฉพาะเอไอเอสถึงแม้จะต้องจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่ 1800 มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่ก็ไม่ได้ทำให้ ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลง

          "กระแสเงินสดของเอไอเอสมีอยู่เยอะมาก และมากที่สุดในอุตสาหกรรม ดังนั้น การแบ่งชำระค่าไลเซนส์จึงไม่มีผลกระทบ แต่กับธุรกิจที่มีกระแสเงินสดน้อยกว่าและต้องจ่ายค่าไลเซนส์แพง ย่อมจะมีแรงกดดันมากกว่า" นายโอบบุญกล่าว

          แบงก์ประเมินค่ายมือถือหลังแอ่น
          นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การประมูล 4G คลื่น 900 MHz ครั้งล่าสุดถือว่ามีราคาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ได้ไลเซนส์อาจต้องกู้ยืมเงินจากแบงก์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นการกู้จากเจ้าเดียว ส่วนของกสิกรไทยมีทั้ง ดีแทค เอไอเอส ทรู เข้ามาคุย ซึ่งก็ต้องขอดูในรายละเอียดกันก่อน แต่เชื่อว่า ในอีก 3 ปีนับจากนี้ จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการให้บริการในธุรกิจกลุ่มนี้แน่นอน

          "ภายใน 90 วัน ทั้ง 2 ค่ายที่ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินงวดแรกรายละ 8,040 ล้านบาท และจ่ายอีกปีละ 4,020 ล้านบาท ในปีที่ 2-3 ส่วนปีที่ 4 ชำระที่เหลือทั้งหมด ซึ่งหมายถึงต้นทุนของธุรกิจจะมีเฉลี่ยวันละ 20 ล้านบาท มีต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น" นายสุวัฒน์กล่าว

          นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การประมูลคลื่น 4G สัญญาณ 900 MHz มีราคาชนะประมูลที่สูงมาก และค่ายใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น ดีแทคกับเอไอเอส กลับไม่ชนะประมูล จึงน่าจับตาว่าบริษัทรายใหม่ที่ชนะประมูลนั้นจะดำเนินธุรกิจอย่างไร

          "เอไอเอส" เดินหน้าแผน 2
          นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า บริษัทประหยัดเงินได้ 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้นอกจากนำไปอัพเกรดเน็ตเวิร์กแล้วยังจะเอามาใช้คืนความสุขให้กับ ลูกค้าผู้ใช้บริการของเราด้วยการแจก มือถือฟรี

          ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการ 2G คลื่น 900 MHz เกือบ 1 ล้านราย และที่ย้ายไป อยู่กับเอดับบลิวเอ็นแล้ว 11 ล้านราย ซึ่งบริษัทแคมเปญแจกเครื่องฟรี และลดราคาพิเศษให้ลูกค้ากลุ่มนี้เพื่อดึงให้เปลี่ยนมาใช้บริการ 3 G และ 4 G

          สำหรับการขยายเครือข่ายได้เตรียมนำสถานีฐาน 25,000 แห่ง ซึ่งมากกว่ารายอื่นเท่าตัว จนสามารถให้บริการ 3G 2100 และนำอุปกรณ์ส่งคลื่น 1800 จำนวน 15 MHz ที่ประมูลมาได้ก่อนหน้านี้ไปติดเพิ่ม ทำให้พื้นที่บริการครอบคลุม 98% ของประชากรและมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากรายอื่นที่ได้คลื่น 900 MHz

          ทั้งการที่บริษัทบรรลุข้อตกลงกับ บมจ.ทีโอที นำคลื่น 2100 MHz มาใช้ 15 MHz ในระยะยาว และสามารถให้บริการได้ในไตรมาสแรกปี 2559 ทำให้มีคลื่นรวม 45 MHz และเตรียมนำคลื่นทั้งหมดมาให้บริการ 4G Advanced ใน ม.ค. 2559

          "บริษัทยังได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอเยียวยาผู้ใช้คลื่น 900 MHz ที่ค้างอยู่ในระบบเกือบ 1 ล้าน ซึ่งตาม กม.ให้เวลาผู้บริโภค ทำเรื่องก่อนซิมจะดับได้นาน 1 ปี นับจาก วันที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุด รวมถึงจัดแคมเปญ คืนความสุขให้ลูกค้าที่ใช้งานระบบ 2G ผ่านการแจกฟีเจอร์โฟน และสมาร์ทโฟนฟรี ตั้งแต่ 25 ธ.ค.เป็นต้นไป"

ข้อมูลแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558 (หน้า 1, 13, 4)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่