(บทความ) นาย ปรีดี พนมยงค์ ชายผู้พ่ายแพ้

กระทู้คำถาม
.....เมื่อบทความตอนก่อน ผมบอกว่าอยากจะเขียนเรื่องราวของบุคคลคนหนึ่งที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางการปกครองครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศเราท่านหนึ่ง ท่าน ปรีดี พนมยงค์  ซึ่งชื่อนี้ในฐานะคนที่ติดตามเรื่องการเมืองและคนที่ชอบอ่านหนังสืออย่างผมก็คุ้นเคยกับเรื่องราวของท่านเป็นอย่างดี จำไม่ได้ว่ามีหนังสือและบทความการเมืองมากมายสักกี่ร้อยเล่มกี่พันหน้า ที่ผมได้เคยอ่านผ่านตา เขียนถึงท่านผู้นี้

     เวลาผมอ่านหนังสือเรื่องราวใดๆก็แล้วแต่ มักจะมีความสงสัยอยู่เสมอว่า เฮ้ย..จริงเหรอ..? เฮ้ย..ใช่รึเปล่า..? และก็ก้มหาหาหนังสือหรือบันทึกในเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกัน หาคำตอบหรือข้อสงสัยในใจตัวเอง

     เรื่องราวของท่าน ปรีดี เองก็ไม่เป็นที่ยกเว้นสำหรับผม  ซึ่งเมื่อค้นหาคำตอบด้วยตัวเองแล้ว ผมก็ได้มุมมองใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครกล้านำเสนอเกี่ยวกับ ปูชนียบุคคลท่านนี้  ว่าท่านเป็นนักต่อสู้ทางประชาธิปไตยที่พ่ายแพ้มาตลอดชีวิต ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวของผมนี้ ก็ปราศจากอคติ หรือคิดดูหมิ่นคุณงามความดีที่ท่านกระทำมาว่าไม่จริงหรือจอมปลอมแต่อย่างใด แต่เกิดจากสิ่งที่ท่านคิดจะทำและลงมือทำจริงในตอนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของท่าน ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยสัมฤทธิ์ผลดังที่ท่านตั้งใจไว้เลยสักครั้ง

     ปรีดี พนมยงค์ นามที่ใครๆต่างก็ยอมรับว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎร และเป็นบุคคลสำคัญที่พลักดันให้ประเทสของเรามีประชาธิปไตย คุณค่าของความดีงามของท่านนั้น ชนรุ่นหลังได้รับทราบและพากันยกย่องสรรเสริญ ในปี พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 30 ขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติประกาศให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็น "บุคคลสำคัญของโลก"

     ย้อนประวัติท่านให้ได้ทราบกันเล็กน้อยว่า ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 — 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองและเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

     สองย่อหน้าบน เป็นเรื่องราวของท่านปรีดี ที่คนทั่วไปต่างรับรู้ จะน้อยจะมากก็น่าจะเคยศึกษาหรือผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าท่านผิดพลาดหรือพ่ายแพ้ตามมุมมองที่ผมคิดจะนำเสนอแต่อย่างใด แต่หากศึกษาเรื่องราวให้ลึกลงไปแล้ว จะพบเบาะแสสำคัญที่ชวนสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงที่ท่านปรีดีมุ่งมั่นจะให้เกิดนั้น มิเคยเกิดขึ้นเลยในประวัติศาสตร์ชาติเรา

     จากหนังสือมากมายที่ได้อ่าน ซึ่งเมื่อผมพิจารณาด้วยสติสัมปชัญญะของตัวเองแล้ว ผมได้เห็นความผิดพลาดต่างๆนานาจากตัวอักษรที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านปรีดี จึงประมวลผลด้วยตัวผมเองและก็ลงมือเขียนมาเป็นบทความที่ท่านทั้งหลายกำลังอ่านอยู่นี้ และขอสรุปไว้ 2 ประการสำคัญที่ทำให้ท่านผิดพลาด และทำไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ คือ

1.ดึงคนที่ไม่ได้เข้าใจหลักการลึกซึ้งมาร่วมด้วยและแอบอิงอำนาจคนอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองปรารถนา
2.ไม่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยต่อมวลชนของตัวเองสร้างเป็นแรงสนับสนุนตนเอง จนสุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้โดนล้มล้างไปทั้งๆที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล

     ความผิดพลาดในข้อที่ 1 นั้น หากจะว่ากันตามตรง ก็ไม่ได้เกิดจากตัวท่านปรีดี แต่เกิดจากไม่มีกำลังพอที่จะสนับสนุนให้ตัวเองไปถึงจุดหมาย ใน พ.ศ. 2469 วันที่5 กุมภาพันธ์ - คณะราษฎรได้ถูกจัดตั้ง และประชุมครั้งแรก ที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้เข้าร่วมประชุมมี 7 คน คือ
ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี (นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6)
ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส)
ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส)
นายตั้ว ลพานุกรม (นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์)
หลวงสิริราชไมตรี (ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส)
นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ)
นายปรีดี พนมยงค์ (ดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส)
การประชุมกินเวลานานถึง 5 วัน และลงมติให้นายปรีดีเป็นประธาน และหัวหน้าคณะราษฎร จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นในกาลต่อไป

     ในสมาชิกก่อตั้งทั้ง 7 คน ปรากฏได้ชัดว่า ทั้ง 7คน มิได้มีอุดมการณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิได้ศรัทธาในประชาธิปไตย ดังเช่นที่ นายปรีดี คาดหวัง ใน 7 คนนั้นมีหลายคนซึ่งเหตุการณ์พิสูจญ์ภายหลังให้เห็นเด่นชัดในประวัติสาสตร์ว่า มิได้เป็นผู้ต้องกรระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่เป็นผู้ที่ฝักใฝ่อำนาจและแสวงหาโอกาสเท่านั้นเอง จึงไม่แปลกที่ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(จอมพล ป. พิบูลสงคราม) และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) จะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงภายหลังการอภิวัฒน์แล้ว

     นั่นคือความผิดพลาดในส่วนที่ดึงคนที่ไม่เข้าใจหลักการประชาธิปไตยมาเป็นพวก ส่วนแอบอิงอำนาจคนอื่นนั้น เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสมาชิกชุดก่อตั้ง แยกย้ายกันทำงาน และสมาชิกบางคนก็ดึงเอาผู้มีอำนาจทางทหารสูงสุดในเวลานั้น อย่าง พระยาพหลพลพยุหเสนา และใช้อำนาจทางทหารเข้ามามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอภิวัฒน์สยาม ผลก็คือ เปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ แต่นายปรีดี ก็ถูกพลักดันให้ไปเป็นเนติบริกร มีหน้าที่ร่างกฎหมายและประกาศด้วยเนื้อความที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประชาธิปไตย แต่ปฏิบัติจริงหาได้มีประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้างไม่

     ส่วนความผิดพลาดข้อที่ 2 คือ ไม่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยต่อมวลชน ให้รับรู้และหวงแหนอำนาจขอองตนเองที่ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นเรื่องที่ใช้เวลานานเกินไป หรือไม่ได้ใส่ใจที่จะกระทำหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองได้แล้ว เมื่อการเลือกตั้งครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2476 หลังการเปลี่ยนแปลง 1 ปี ก็กลายเป็นกลายเลือกตั้งทางอ้อม กว่าจะผลักดันให้มีการเลือกตั้งทางตรงได้ ก็กินเวลาไปอีก 5 ปี ซึ่งถึงตอนนั้น บทบาทของนายปรีดี ก็ถูกบดบังจนไม่เหลือความเด่นชัดอีกแล้ว

     เพราะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2480 ได้ผุ้แทนมาแล้ว ก็เลือก พระยาพหลพลพยุหเสนา ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งแปลว่า บทบาทและแนวคิดการก่อตั้งคณะราษฎรในครั้งแรกของคณะสมาชิกผู้ก่อตั้ง ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า ผู้ที่ช่วงขิงความสำเร็จก็คือคนที่มีปืนอยู่ในมือได้

     จนกระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2481 พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม(ยศในขณะนั้น) 1 ในสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎร ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น นายกรัฐมนตรีคนถัดไป แต่อย่างที่บอกไว้ตอนต้น ว่าสมาชิกราษฎรผู้นี้ มิได้เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาระบอบประชาธิปไตย เป็นเพียงนักแสวงหาโอกาสที่จะครอบครองอำนาจ ดังนั้น ตลอดยุคของจอมพลผู้นี้ จึงถูกเรียกว่า “ระบอบเผด็จการ

     และผ่านมาอีกหลายต่อหลายครั้ง รัฐบาลภายใต้การเลือกตั้ง ที่มีนายปรีดี เป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วย ก็ไม่สามารถนำความเป็นประชาธิปไตยมาสู่บ้านเกิดเมืองนอนได้เลย

     แม้กระทั่งตอนช่วงที่ นายปรีดี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย เมื่อปี 2489 และถือเป็นจุดสิ้นสุดบนเส้นทางทางการเมือง ในปีเดียว (ลาออก เนื่องจากการสวรรคตของรัชกาลที่ 8) กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงครามที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มอำนาจเก่าฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง"และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 โดยหลังจากนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

     และคงไม่จำเป็นที่ผมต้องไล่เรียงประวัติสาสตร์ในเวลาต่อมา ก็คงจะพอทราบกันดีอยู่ว่า นายปรีดี กับ จอมพล ป. ตามล่าตามล้างโค่นล้มอำนาจกันอย่างไรบ้าง เพราะสุดท้ายแล้ว นายปรีดี ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศอยู่นาน กว่าจะกลับมากอบกู้เกียรติและศักดิ์ศรีคืนได้ วันเวลาก็ผ่านไป ไม่เหลือที่ให้นายปรีดีได้ทำตามเจตจำนงของการมีประชาธิปไตยในชาติบ้านเมืองได้ ที่มุ่งหวังจะการวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้อำนาจนั้นเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

     ซึ่งไม่ใช่แค่ผมเท่านั้น ที่คิดเช่นนี้ แม้แต่ตัวท่านปรีดี ก็ทราบความผิดพลาดของตัวเองเป็นอย่างดี โดยวิจารณ์ความผิดของตัวท่าน ในการให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร “เอเชียวีค” ลงตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 1979 และฉบับวันที่ 4 มกราคม 1980 มีคามตอนหนึ่งว่า

     “ในปี ค.ศ. 1925 เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนกลางของพรรอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มมากทีเดียว ขาดความชัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี (ของกฎหมาย) ข้าพเจ้าไม่มีความเจนจัดและโดยปราศจากความเจนจัดนั้น บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้เอาความจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อประชาชนไม่มากพอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระความสำคัญของมนุษย์มากคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปีค.ศ. 1932 ข้าพเจ้ามีอายุ 32 ปี พวกเราทำการอภิวัฒน์ แต่ความเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นเมื่อสูงวัยขึ้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากพอ ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ

     ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร  เคยเขียนบทความลงตีพิมพ์ใน นิตยสาร "หลักไท" ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2526 ภายใต้หัวข้อ "อาจารย์ปรีดี อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย" โดยเนื้อหาใจความแล้ว บทความนี้ได้ตำหนิท่านปรีดีไว้หนักหนาสาหัส ใจความว่า “อาจารย์ปรีดี เป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตยคนที่สำคัญที่สุดของคณะราษฎร แต่แทนที่ท่าน จะนำการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรไปสู่ความสำเร็จ ท่านกลับเป็นต้นเหตุให้การปฏิวัติพัง พังมาจนกระทั่งถึงวันอสัญกรรมของท่าน และยังจะพังต่อไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียว

     แต่นั่นอาจเป็นความเห็นของ อดีตนักการเมืองรุ่นหลังและ อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่พยายามตั้งข้อสังเกตและโจมตีนายปรีดี ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์บางส่วนของระบบประชาธิปไตยก็เป็นได้

     แต่คำว่ากล่าวที่ว่า ประชาธิปไตยยังจะพังต่อไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียว และความคิดส่วนตัวของผมที่ว่า นายปรีดี เป็นชายผู้พ่ายแพ้ มันก็ทำให้ผมรู้สึกหดหู่ใจ เมื่อมองถึงความเป็นชาติประชาธิปไตยของเราในเวลานี้ จึงวางปากกาลงและขอจบบทความแต่เพียงเท่านี้



    บทความของผมจบแล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากสื่อออกไปยังไม่จบ ผมอยากชักชวนปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย มาร่วมกันเขียนบทความที่น่าอ่านกันอีกครั้งเถอะครับ เชื่อว่ายังมีหลายๆคนรออ่านบทความดีๆที่ตั้งใจเขียนมาให้อ่านกันอยู่ ผมเองก็จะกลับมาเริ่มเขียนใหม่อีกครั้ง แม้จะมีคนอ่านน้อยก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงอย่างน้อยก็ได้ภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ได้กระทำเรื่องดีๆให้สมกับความรู้และสติปัญญาของตนเอง

ขอบคุณครับ
นายพระรอง

ผมเขียนของผมจบแล้ว กำลังตั้งนะโม 3 จบ เพื่อหวังว่า
ข้อความของผมจะสามารถส่งผ่านไปให้คนที่ต้องการอ่านบทความได้อ่านกันนะครับ เพี้ยง..........
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก
กระทู้นี้ถูกลบโดยระบบอัตโนมัติทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศการสนทนา ของเพื่อนสมาชิกโดยรวมค่ะ

ความคิดเห็นนี้ได้ถูก ppantip.com ลบออกไปจากระบบแล้ว หากเนื้อหาที่ถูกลบยังคงถูกนำไปแสดงใน application หรือเว็บไซต์ใดๆ
ทาง ppantip.com ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆด้วย การดำเนินการทางกฎหมายกรุณาติดต่อผู้พัฒนา application หรือเว็บไซต์นั้นๆโดยตรงค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่