ซาอุฯ" พ่ายสงครามน้ำมัน นับถอยหลัง...วันถังแตก

"ซาอุฯ" พ่ายสงครามน้ำมัน นับถอยหลัง...วันถังแตก



เดือนพฤศจิกายนปีกลาย ซาอุดีอาระเบียวางเดิมพันครั้งสำคัญ ด้วยการปฏิเสธไม่ลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC) แม้ราคาในตลาดโลกจะดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า เป้าหมายของซาอุฯอยู่ที่การกดราคาน้ำมันให้ต่ำมากจนคู่แข่งนอกโอเปก โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในสหรัฐ ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนต่อไปได้ และออกไปจากตลาดในที่สุด เมื่อถึงตอนนั้นโอเปกจะกลับมาผูกขาดตลาดอีกครั้ง

แต่ดูเหมือนศึกครั้งนี้จะใหญ่หลวงและยืดเยื้อกว่าที่ซาอุฯคาดไว้ ฝ่ายที่ต้องกลืนเลือดอาจไม่ใช่คู่แข่ง แบงก์ ออฟ อเมริกา ถึงกับออกบทวิเคราะห์ว่า โอเปกกำลัง "ล้มละลายอย่างเป็นระบบ" และอาจถึงขั้นต้องปิดสำนักงานใหญ่ในกรุงเวียนนาเพื่อประหยัดรายจ่าย


คำนวณพลาดอย่างมหันต์

เดลี่เทเลกราฟ ชี้ว่า แผนกดราคาน้ำมันใช่จะไม่ได้ผลเลย กลยุทธ์นี้กระทบอย่างรุนแรงต่อบ่อน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตสูง เช่น ในอ่าวเม็กซิโก แถบอาร์กติกของรัสเซีย หรือทรายน้ำมันในแคนาดา แต่สำหรับเชลออยล์ในสหรัฐ ซึ่งมีต้นทุนปานกลาง ราคาน้ำมันดิ่งส่งผลให้ชะลอการขุดเจาะบ่อน้ำมันแห่งใหม่ แต่แทบไม่มีผลให้ลดกำลังการผลิตของบ่อน้ำมันที่มีอยู่แล้ว แม้แต่ธนาคารกลางซาอุฯยังยอมรับว่า "เห็นได้ชัดว่าผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก ไม่ได้ตอบสนองต่อภาวะราคาน้ำมันลดอย่างที่ได้คาดการณ์ไว้ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น"

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แท่นขุดเจาะน้ำมันในอเมริกาเหนือลดลงเหลือ 664 แท่น จาก 1,608 แท่น ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ปริมาณการผลิตกลับเพิ่มเป็น 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 43 ปี

สอดคล้องกับความเห็นของ นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน จากเอ็กซ์ซอน โมบิลชี้ว่าอุตสาหกรรมเชลก๊าซเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงจำนวนแท่นขุดเจาะที่สวนทางกับปริมาณการผลิต โดยนับจากปี 2552 ราคาก๊าซลดจาก 8 ดอลลาร์ เหลือ 2.78 ดอลลาร์ในตอนนี้ พร้อมกับแท่นขุดเจาะร่วงจาก 1,200 แท่น เหลือ 209 แท่น แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณการผลิตก๊าซกลับพุ่งขึ้น 30%


ทางข้างหน้ายิ่งสาหัส

ช่วงปลายปีที่แล้วถึงกลางปีนี้ มีบริษัทเชลออยล์ในสหรัฐล้มหายตายจากไปบ้าง แต่บ่อน้ำมันของบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง เพราะมีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวกว่าเข้ามาซื้อกิจการ การมีบ่อน้ำมันจำนวนมากในครอบครองก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง เมื่อไรก็ตามที่ราคาน้ำมันขยับสู่ 55-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผู้ผลิตเชลออยล์ในสหรัฐก็พร้อมจะเพิ่มกำลังการผลิตในทันที ซึ่งส่งผลให้ระดับราคาร่วงลงอีกครั้ง ความหวังของซาอุฯที่จะกลับมาบงการราคาในตลาดโลกดูจะเลือนราง

ยิ่งไปกว่านั้น วอลล์สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า รัฐสภาสหรัฐกำลังพิจารณายกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันดิบ หลังจากห้ามมาตั้งแต่วิกฤต "Oil Shock" ในปี 2516 โดยอานิสงส์ของการปฏิวัติเทคโนโลยีการผลิตเชลออยล์ ทำให้การผลิตน้ำมันในสหรัฐพุ่งขึ้น 80% นับจากปี 2550 แม้ปัจจุบันสหรัฐยังต้องนำเข้าเชื้อเพลิงราว 27% แต่ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนต่ำสุดนับจากปี 2528

คาดว่าหลังการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ภายในต้นปีหน้า น้ำมันดิบจากสหรัฐจะทะลักเข้าสู่ตลาดโลก และกดดันให้ราคาทรุดลงมากขึ้น


รายจ่ายพุ่งทุนสำรองหด

นักวิเคราะห์มองว่า ยุคแห่งการพึ่งพาน้ำมันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ซาอุฯชะล่าใจ และไม่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นมาช่วยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจค้าน้ำมัน ซึ่งครองสัดส่วนถึง 90% ของรายได้งบประมาณของประเทศ

นอกจากนี้ ราชวงศ์ซาอุฯยังใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย และผลาญเงินไปกับด้านกลาโหมมหาศาล เพราะในฐานะพี่ใหญ่ของประเทศมุสลิมนิกายซุนหนี่ ซาอุฯจำเป็นต้องส่งทหารเข้าไปสู้รบกับฝ่ายนิกายชีอะห์ที่นำโดยอิหร่าน ในหลายพื้นที่ทั่วตะวันออกกลาง ทั้งในซีเรีย เยเมน อิรัก และเลบานอน

ที่จริงแล้ว กระแสเงินทุนไหลออกสุทธิจากซาอุฯ พุ่งแตะ 8% ของจีดีพีมาก่อนหน้าที่ราคาน้ำมันจะเป็นขาลง ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของซาอุฯลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 737,000 ล้านดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคมปีกลาย เหลือ 672,000 ล้านดอลาร์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ขณะนี้คาดว่าทุนสำรองหดลงในอัตรา 12,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน


ล้มละลายก่อนชนะศึก

นอกจากการขายน้ำมันแล้ว ซาอุฯ แทบไม่มีรายได้ทางอื่น ประเทศนี้ไม่มีการเก็บภาษีเงินได้ ดอกเบี้ยรับและปันผลหุ้น แม้รัฐบาลซาอุฯจะดิ้นรนด้วยการออกขายพันธบัตรในเดือนที่แล้ว 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากปี 2550 และระดมเงินเพิ่มอีก 5,300 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินว่า ปีนี้ซาอุฯจะขาดดุลงบประมาณ 20% ของจีดีพี หรือราว 140,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมชี้ว่า ราคาน้ำมันที่จะทำให้งบประมาณซาอุฯสมดุลอยู่ที่ 106 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แต่หากพิจารณาจากราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้าของสหรัฐ ส่งมอบปี 2563 พบว่า อยู่ที่ 62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งส่งสัญญาณว่าราคาน้ำมันไม่น่าจะแตะเลข 3 หลักในเร็วๆ นี้ ซาอุฯจึงมีแนวโน้มจะขาดสภาพคล่องในอีก 2 ปีข้างหน้า และอาจถึงขั้นล้มละลายภายใน 5 ปี ถ้ายังใช้จ่ายแบบเดิม

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1439384710
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่