ถ้าเราไปสมัครงาน เจอคำถาม “ทำไมถึงลาออกจากงานเก่า” ไม่อยากโกหก ตอบแบบนี้ได้ไหม

เนื่องจากเราเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย 2 ปีมานี้ เราเปลี่ยนงาน 3 ครั้งแล้ว (ถ้าไม่นับตอนที่ไปทำงานขายของกับป้าไม่แท้ด้วย ก็กลายเป็น 2 ครั้ง) และทั้ง 3 งานที่เราเคยทำ ก็เป็นงานคนละตำแหน่งกัน สถานที่ก็คนละแบบกัน มีทั้งงานในออฟฟิศ งานในห้าง และงานขายของในแผงลอย และทั้ง 3 ที่ก็เงินเดือนน้อย จึงไม่มีอะไรมาเป็นตัวฉุดรั้งให้เราอยู่ต่อ เราเพียงแค่อดทนทำให้ถึงที่สุด พอความอดทนของเราสิ้นสุด เราก็ลาออก


เวลาเราไปสมัครงานที่ใหม่ ก็เจอคำถามทุกครั้งว่า “ทำไมจึงลาออกจากงานเก่า” เป็นคำถามที่ตอบยาก จะตอบตามความจริงก็ไม่เป็นผลดี เราจึงตอบตอบประมาณว่า “เพราะงานนี้ดูท้าทายดี”, “เพราะงานนี้ทำให้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถมากขึ้น”, “เป็นการเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง” ฯลฯ แต่เราก็ไม่ได้งาน เรารู้สึกว่าคำตอบของเรามันเบสิกมาก ใครๆ ก็พูดได้ นอกจากไม่มีอะไรโดดเด่นแล้วยังโกหกอีก ครั้งล่าสุดที่เราได้งาน เป็นงานตำแหน่งฝ่ายบุคคล เราตอบคำถามนี้กับกรรมการไปว่า “เพราะอยากเปลี่ยนสายงาน ตัวเองเรียนจบ HR มา จึงอยากทำงานด้าน HR เพื่อจะได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เต็มที่” คำตอบนี้ฟังดูดี(แม้จะไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด) และเราก็มีความรู้ตรงกับสายงานที่เราไปสมัคร จึงได้งาน


ตอนทำงานฝ่ายบุคคล เราก็ได้สัมภาษณ์ผู้สมัครงาน และได้ถามผู้สมัครเหมือนกันว่าทำไมจึงลาออกงานงานเก่า ผู้สมัครส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตอบอะไรที่ดูดี ส่วนใหญ่ตำหนิบริษัทเก่าทั้งนั้น แต่เราก็ไม่ได้มองเขาในแง่ร้ายเลย เราก็แค่เอาเหตุผลนั้นมาพิจารณาต่อว่า “แล้วบริษัทเรามีข้อเสียอย่างที่ผู้สมัครตำหนิต่อที่ทำงานเก่าหรือเปล่า?” ถ้ามี เราจะได้ไม่ต้องรับเขาเข้าทำงาน เพราะเดี๋ยวเขาก็ต้องมาเจอข้อเสียเดิมๆ แล้วลาออกอีก


แต่ตอนนี้เราลาออกจากงานฝ่ายบุคคลแล้ว และคิดว่าจะไม่ทำงานฝ่ายบุคคลอีก เพราะมันไม่เหมาะกับนิสัยเราเลย ทีนี้เราก็มาคิดๆ ดูว่า ถ้าเราไปสมัครงานใหม่ แล้วเจอคำถาม “ทำไมลาออกจากงานเก่า” เราจะตอบเหตุผลตามความเป็นจริงไปดีไหม เพราะเราไม่รู้จะโกหกยังไงดี จะให้ตอบว่า “เพราะอยากทำงานตรงกับสายที่เรียนมา” ก็ไม่ได้แล้ว เพราะเราได้ลาออกจากสายงานที่เราเรียนมาแล้ว เหตุผลจริงๆ ที่เราลาออกคือ


----------เพราะเราไม่สามารถทำงานอยู่ภายใต้ความไม่เป็นระบบเกี่ยวกับการจัดการคนในบริษัทได้ กฎบริษัทเราไม่มีความเข้มงวดพอ ไม่สามารถใช้บังคับกับพนักงานทุกคนได้ พนักงานบางคนได้รับอนุโลม บางคนทำตัวเก๋าและกร่าง ถือว่าตนเองอยู่ในบริษัทมานาน จึงไม่เคารพกฎ บางคนก็มีนิสัยรักสบายและรักความยุติธรรมสุดๆ ประมาณว่า “ถ้าคนอื่นทำผิดกฎระเบียบได้ ฉันก็ทำได้เหมือนกัน” ซึ่งนี่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเรามาก เวลาเราไปตักเตือนหรือลงโทษเขา เขาก็ไม่ยอม ดื้อ โวยวาย อ้างโน่นอ้างนี่ เช่น อ้างว่าทำไมบางคนทำผิดแล้วไม่เห็นโดนลงโทษ ซึ่งคนที่เขาอ้างถึง ก็คือคนที่ทำตัวเก๋ากร่าง หัวหน้าก็ไม่กล้าแตะต้อง ส่วนเราก็ลำบากใจ เพราะในเมื่อพนักงานบางคนได้รับการอนุโลมจากหัวหน้า เราก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนอะไรได้ เราเป็นแค่พนักงานธรรมดา ไม่มีอำนาจแบบหัวหน้า และฝ่ายบุคคลก็ไม่มีหัวหน้าด้วย เวลาเราไปลงโทษพนักงาน ถ้าพนักงานดื้อ ไม่ยอมรับโทษ เราก็ไม่สามารถทำอะไรต่อได้ นอกจากไปแจ้งหัวหน้าแผนกเขาเอง แต่หัวหน้าแผนกเขาก็มักปล่อยปละละเลย ไม่จัดการให้ ผู้จัดการบริษัทก็ไม่ทำอะไรนอกจากบ่นว่าคนในบริษัทไม่ดี แต่ก็ไม่ลงมือจัดการอะไร พอเป็นแบบนี้นานๆ เข้า พนักงานก็กำเริบ กล้าทำผิดกฎระเบียบมากขึ้น เพราะทำผิดแล้วไม่โดนลงโทษ(คนที่มีสามัญสำนึก ก็ปฏิบัติตามกฎตลอด ไม่บ่น ไม่หือ ไม่อือ ซึ่งเราก็รู้สึกเหมือนกันว่ามันไม่ยุติธรรม) เราเกลียดที่เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย หน้าที่ฝ่ายบุคคลที่ควรจะทำให้พนักงานทุกคนอยู่ในกฎระเบียบขององค์กร เราก็ไม่สามารถทำได้ ในเมื่อทั้งพนักงานและหัวหน้าต่างเละเทะกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว วันหนึ่งความอดทนเราสิ้นสุด เมื่อเราได้รับคำสั่งให้ไปเดินตรวจพนักงานทุกวัน ตรวจว่าทุกคนแต่งกายถูกระเบียบไหม ถ้าใครแต่งไม่ถูกระเบียบ ให้เราลงโทษเลย จะทำหนังสือเตือน ปรับเงิน หรือหักเงินเดือน ก็ให้เราทำได้เลย พนักงานผู้ชายคนไหนไว้หนวด ต้องไล่เขาไปโกนให้เรียบร้อย ไม่งั้นไม่ต้องให้เขาทำงาน ประมาณนี้ เราไม่พอใจจริงๆ ที่ได้รับอำนาจนี้ ทั้งๆ ที่บริเวณนั้นก็มีหัวหน้าทำหน้าที่คอยดูแลและตรวจตราอยู่แล้ว แต่หัวหน้าไม่สามารถคุมลูกน้องได้ เพราะบางคนมันเก๋ากร่าง ไม่เกรงกลัวหัวหน้า แถมยังเถียงหัวหน้าอีก หัวหน้าจึงโยนให้เราจัดการแทน แต่เรามั่นใจว่า ถ้าพนักงานไม่เกรงกลัวหัวหน้า ก็ย่อมไม่เกรงกลัวฝ่ายบุคคลอย่างเราเหมือนกัน เพราะเราอยู่ในระดับเดียวกับพนักงาน และถ้าจะให้ฝ่ายบุคคลคนเดียวจัดการลุยและปะทะกับพนักงานทั้งบริษัท เรามั่นใจว่าเราทำไม่ได้แน่ๆ และถ้าทำไม่ได้ ก็จะไม่มีใครช่วยเราได้ เราจึงตัดสินใจลาออก เพราะอยู่ต่อไปก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ------------


นี่แหละคือเหตุผลที่ลาออก เหตุผลที่แท้จริง และเราก็คิดว่าไม่ได้เป็นความผิดของเราด้วย เพราะฝ่ายบุคคลคนก่อนๆ ก็ไม่มีใครอยู่ได้นานเหมือนกันเมื่อเจอสภาพงานแบบนี้ (ไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานบ่อยๆ หรอก) แต่ถ้าเราจะตอบบริษัทใหม่ที่เราสมัครงานไปด้วยเหตุผลนี้ คิดว่าดีไหมคะ


ปล. ต้องการคำแนะนำ ไม่ต้องการคำด่าค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่