เมื่อต้องวิพากษ์ถึง "นักศึกษาฝึกงาน"

สวัสดีครับ ช่วง 1 - 2 เดือนที่ผ่านมา หากใครที่อยู่ในองค์กรขนาดกลางถึงใหญ่ ก็คงจะได้พบเหตุการณ์เช่นเดียวกับผม นั่นก็คือ มีนิสิตนักศึกษาหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาฝึกงาน ความจริงเหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับผมมา 8 -9 ปีแล้ว นับตั้งแต่เริ่มทำงานที่แรกๆ ผมมีโอกาสร่วมงานกับนิสิตนักศึกษาหลายสถาบันในช่วงสั้นๆ ตั้งแต่สถาบันที่ตลาดแรงงานบางแห่งบอกว่ามีชื่อเสียง สถาบันการศึกษามีชื่อในระดับภูมิภาค สถาบันประเภทราชภัฏราชมงคล หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาแบบสุดเฉียบจากทั้งฝั่งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่มีโอกาสดูแล มีโอกาสทำหน้าที่โค้ชและร่วมงาน ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะนำเอาประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ประมวลเข้ากับความรู้อันน้อยนิดด้าน HRD HRM ไม่ก็ Personnel Selection ของผม ออกมาเป็นแนวทางง่ายๆ สำหรับนิสิตนักศึกษาฝึกงานเอง ต่อองค์กรผู้ที่รับนิสิตนักศึกษาฝึกงาน หรือแม้แต่ต่อสถาบันการศึกษา ซึ่งหากสิ่งใดจากนี้กล่าวถึงแล้วไม่ถูกไม่ตรง เช่นเดียวกัน สิ่งใดที่กล่าวมาแล้วตรงเกินไป ก็คงจะต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าครับ


สำหรับนิสิตนักศึกษาฝึกงาน


1. เลือกฝึกงานอย่างมีเป้าหมาย อย่ามองว่านี่คือ 2 เดือนสั้นๆ สำหรับท่านที่ฝึกงานไม่เอาเกรด หรืออย่ามองว่านี่คือ 4 เดือนที่ขอให้(พอ)ผ่านไปได้สำหรับผู้ที่ฝึกงานแบบสหกิจศึกษา (Corporative Studies) ลองใช้เวลาเหมือนกับเลือกจะไปทำงานจริงๆ ครับ ไม่ใช่ว่าที่ไหนก็ได้ พิจารณาดูว่าสาขาวิชาที่เราเรียน สอดคล้องกับหน่วยงานใดที่จะเป็นตลาดแรงงานของเราในอนาคต ถามอาจารย์ ถามรุ่นพี่ที่เคยไปฝึกงานก็ได้ จะได้รู้ว่ามันเหมาะหรือไม่ เมื่อได้ชื่อองค์กรแล้วอย่ารีบจบเพียงแค่นั้นครับ เข้าไปดูเสียหน่อยว่าองค์กรนั้นทำอะไร ใหญ่แค่ไหน มีส่วนงานย่อยเป็นอย่างไร เวลาเขียนไปขอฝึกงาน จะได้ดูมีน้ำหนัก สะท้อนถึงความตั้งใจและความพึงใจ (ฉันทะ) ในการเลือกที่ฝึกงาน ลองนึกภาพว่าถ้าบริษัทใหญ่มากแบบ conglomerate ที่มีบริษัทน้อยใหญ่อยู่ภายใน มีพนักงานเป็นพันเป็นหมื่น การระบุความประสงค์ที่ชัดขึ้น จะดีกับทั้งผู้ฝึกงานและองค์กรในการ matching ได้มากขึ้นอย่างแน่นอนครับ


2. ทักษะที่นายจ้างหรือสถานที่ฝึกงานอยากได้ อย่างแรกสุดจริงๆ hard skill ยังจำเป็นอยู่มากนะครับ ฝึกงานสายวิศว- สถาปัต คงต้องอ่านแบบเป็น  ไปสายบัญชี งบกำไรขาดทุน งบการเงินง่ายๆ คงต้องได้ ไปสายนิติ กฎหมายในกลุ่มที่เรียนเป็นวิชาเอกก็ต้องแม่นเสียหน่อย อย่างไรก็ตามมี  hard skill ที่นายจ้างอยากได้ไม่ว่าจะเรียนสายงานใดก็ตาม ถึงสองด้าน ครับ


ทักษะแรกคือภาษาต่างประเทศครับ แน่นอนว่าภาษาอังกฤษจำเป็นมากสำหรับทุกองค์กร เพราะการทำงานในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์กันไปหมดทั้งโลก ผมต้องการผู้ฝึกงานที่ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง อย่าลืมว่า ในงานฝั่งวิชาการ หรือ แม้แต่ฝั่งปฏิบัติ องค์ความรู้ใหม่ๆ มันยังไม่ได้ถูกแปลเป็นไทยใน 3 วัน 7 วัน เพราะฉะนั้น รู้ภาษาอังกฤษก็ย่อมได้เปรียบในการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ยิ่งพูดได้เขียนได้ ก็จะถูกให้ไปทำงานที่มีความสำคัญมากกว่า มีผลิตภาพมากกว่า และแน่นอนว่า สร้างผลตอบแทนหรือมูลค่าเพิ่มให้องค์กรได้มากกว่า ผมมักจะพบผู้ฝึกงานที่กังวลใจกับเรื่องนี้ ให้เอกสารภาษาอังกฤษทีไรก็จะออกตัวไว้ก่อนว่าจะทำได้ไม่ดีบ้าง

ผมอยากจะบอกตรงๆว่า นี่คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดแล้วนะครับ ถ้ากลัวตั้งแต่วันนี้ วันข้างหน้าจะไม่มีโอกาสแม้กระทั่งได้ลุกขึ้นมาสู้ครับ และทักษะที่อยากให้มีมากที่สุดจริงๆ คือการเขียนงานภาษาอังกฤษครับ ผมยังไม่ค่อยพบเด็กปี 3 ปี 4 ในหลักสูตรภาษาไทยที่เขียนงานภาษาอังกฤษได้ดีมากนัก ส่วนใหญ่แก้เยอะเกือบทุกราย ดังนั้น ถ้าใครสามารถฝึกได้ ผมเชื่อว่าไปได้ไกล เพราะยังเป็นของหายากในตลาดแรงงานแบบไทยๆ อยู่ครับ


ทักษะด้านที่สองที่นายจ้างหรือแม้แต่ผมก็อยากได้ คือ ทักษะด้านเทคโนโลยีสารเสนเทศ หรือ IT ต้องยอมรับว่าเราหลุดพ้นจากโลกที่เป็นกระดาษมาแล้วครึ่งทาง และทุกสิ่งทุกอย่างก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นรูปไฟล์เอกสารหรือ soft copy ใครที่มีทักษะด้านการประมวลผลคำ (word processing) เทพ ๆ เอาแค่ไมโครซอฟท์ธรรมดาก็ได้ ย่อมได้เปรียบกว่า

เริ่มจากทักษะง่ายๆ เลยนะครับ จัดสารบัญได้หรือไม่ ผูกสูตรคำนวณอย่างง่าย ไปจนถึงอย่างยากข้ามชีทหรือทำสถิติพรรณนาและสถิติอนุมานได้ แปะคลิปจัดงานนำเสนอ อัดเสียงสร้างการเคลื่อนไหว ทำแผนภาพแสดงความสัมพันธ์ต่างๆ หากคุณทำได้ คุณจะกลายเป็นกึ่งเทพน้อยๆในที่ทำงาน โดยเฉพาะที่ที่อุดมด้วยเบบี้บูมและเจนเอ็กซ์ หรือแม้แต่เจนวายบางท่านก็ยังจะสู้คุณไม่ได้ครับ จำเป็นไม่จำเป็นก็อาจจะพิจารณาผลสำรวจในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา เช่น Thailand Productivity and Investment Climate Survey ของธนาคารโลกในประเทศไทยครับ


3. Soft Skill สิ่งนี้จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ แต่ก็ต้องมีมาพร้อม hard skill นะครับ หากถามว่า soft skill คืออะไร ตามหนังสือต่างๆ คงมีนิยามเอาไว้เพียบ แต่ผมขอเรียกว่าทักษะที่เสริมการปฏิบัติงาน ก็แล้วกันครับ คือมันไม่ได้เกี่ยวกับงานโดยตรง แต่มันก็ค่าและเป็นเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จ แล้ว soft skill แบบไหนที่ที่รับฝึกงานอยากเห็นมันฉายแววจากผู้ฝึกงาน ถ้าดูเร็วๆ ก็คงมีดังนี้ครับ


- ทักษะการสื่อสารและนำเสนอ เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ในโลกที่ทุกคนมีเวลาจำกัดและขี้เกียจจะฟังจะอ่านอะไรยาวๆ ทำอย่างไรให้ผู้ฟังของเราเห็นงานดีๆ ของเราได้ ซึ่งะนำเสนอดีได้มันก็ต้องพึ่งทักษะ hard skill ด้านสารสนเทศจากข้อเมื่อสักครู่ ผนวกกับทักษะการพูดต่อหน้าสาธารณะ ถ้าอายและพูดไม่ได้ ความก้าวหน้าและการเป็นที่จดจำก็จะไม่เกิดครับ ทำอย่างไรให้งานนำเสนอกระชับ มีวิธีการอธิบายที่ดึงดูด ที่ทำให้ผู้ฟังต้องทั้งสบตาเรา และเหลือบไปมองงานนำเสนอที่เราเตรียมมาบนจอไปพร้อมๆกัน ซึ่งผมมักจะมีสูตรบอกเด็กของผมก็คือ


อย่าสักแต่บรรยาย (งานนำเสนอจะต้องคั่นด้วยกราฟ แผนภาพ แผนภูมิ คลิป เพราะผู้ฟังสมาธิไม่ยาวกับบทพูดน้ำเสียงราบเรียบหรืองานนำเสนอที่เต็มไปด้วยตัวอักษร)

keep eye contact อันนี้จำเป็นมาก ไม่ว่าจะพูดหรือฟัง เพื่อให้รู้ว่าเรายังสนใจ (หรือยังอยู่ในความสนใจ) ไม่ได้หายไปไหน

ถัดมาคือแจกแจงตัวอย่าง ถ้ามันพูดอะไรที่เทคนิคมากๆ ก็ลองเปลี่ยนเป็นภาษชาวบ้านที่สุด เช่น ถ้าบอกว่าประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 60 ล้านไร่ ผู้ฟังคงจะกุมขมับเพราะนึกไม่ออก แต่ถ้าบอกง่ายๆ ว่า คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของประเทศ หรือเท่ากับภาคเหนือทั้งภาค แบบนี้ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

สุดท้ายในการนำเสนอ คือ ต้องสร้างสรรค์คำถามครับ ("ใช่ไหม" "มีอะไรถามเพิ่มเติมไหม" "ถ้าเป็นอย่างเมื่อสักครู่ จะเกิดอะไร" ฯลฯ) จะช่วยให้ผู้นำเสนอทราบว่า ที่เราพูดไปเขาเข้าใจมากน้อยแค่ไหน และถ้าคำถามมาจากผู้ฟังก็จะทำให้เราต้องทราบว่า เราจะไปปรับปรุงงานของเราให้ดีเพิ่มขึ้นอีกได้อย่างไร


- ทักษะการแก้ไขและจัดการปัญหา ซึ่งหมายถึงปัญหาของทั้งตนเองและปัญหาของทีมในเวลาเดียวกันครับ ทำงานทุกวันก็เหมือนมีโจทย์ทุกวัน จะถูกโยนลงมาจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยกันเอง หรือแม้แต่เพื่อร่วมงาน เช่นถ้ามีงานมา 3 งานพร้อมๆกันจะทำอย่างไร แนะนำน้องๆ จัดตารางเรียงลำดับความสำคัญงาน จะทำอะไรก่อนหรือหลัง สร้างเส้นตายทั้งแบบหยาบและแบบละเอียดไว้อย่างครบถ้วน พิจารณาวิธีการแก้โจทย์ปัญหานั้น เลือกที่เหมาะกับทั้งตัวเองและทีมมากที่สุด หน่วยงานในฐานะโค้ช ควรจะปล่อยเรื่องวิธีการลงบ้างและมองผลลัพธ์ของงานเป็นสำคัญมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหามันมีวิธีการหลากหลาย และไม่มีอะไรที่ one fit for all ตราบใดที่วิธีการนั้น ไม่เสียหาย ไม่เดือดร้อน ไม่ผิดกฎหมาย และไม่ผิดศีลธรรม ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อนย่างเต็มที่ครับ


- ทัศนคติ คำนี้สำคัญจริงๆครับ ยิ่งทำงานแล้วยิ่งจะรู้ซึ้งมากขึ้น อยากให้ผู้ที่ฝึกงานมีทัศนคติที่ "ดี" และ "จริง" ต่องาน ที่ว่าทัศนคติที่ดีหรือบวกนั้น ก็คือการพยายามตั้งใจทำงาน ไม่ว่างงานอะไรก็ตาม เรามักจะได้ยินน้องๆ ฝึกงานเล่าว่า ได้งานถ่ายเอกสาร ส่งโทรสาร ทำลายเอกสาร ชงกาแฟ หรืองานอะไรก็ตามที่มองว่าเป็นงานสนับสนุนไม่ใช่งานหลัก อยากให้ลองมองกลับครับ มองให้บวก ถ้าเขาใช้อย่างนั้นก็ยิ่งควรจะทำ เขาให้เราถ่ายเอกสารนั้นได้ แปลว่า เอกสารดังกล่าว ไม่ลับสำหรับเรา (ถ้าไม่ได้ประทับตราลับนะครับ) เรายิ่งต้องดูให้เรียบร้อย ถ่ายครบถ่ายติดหรือไม่ หมึกจางหรือเข้มเกินไปไหม ถ่ายมาแล้วตรงไม่เบี้ยว ถ่ายครบทั้งหน้าทั้งหลังหรือไม่ เห็นไหมว่างานมันก็ยากและมีรายละเอียด พี่ๆ ที่เขามอบให้ทำเขาก็ต้องเชื่อว่าคุณมีความสามารถ ถึงมอบงานที่ยากและมีรายละเอียดไม่แพ้กันนี้ให้ ให้ไปชงกาแฟและบริการกาแฟอันนี้ก็ยากนะ เพราะผู้ประชุมหรือแขกแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกันมา จะทำอย่างไรให้ทุกคนพอใจ และถ้าหน้าเดิมยังมาประชุมหนหน้า เราควรจะจดจำไว้หรือไม่ว่าใครชอบดื่มหรือไม่ชอบดื่มอะไร  


เห็นไหมครับ จากงานที่ไม่มีอะไร ถ้าคิดให้มันบวกยิ่งขั้น นี่มันมีอะไรๆในงานซ่อนอยู่เพียบนะครับ ทั้งนี้ ทัศนคติประเภทบวกในงาน ควร จะมากับทัศนคนติที่จริง (realistic) ด้วย ถ้าทำได้ก็บอกว่าทำได้ ถ้าไม่ได้ก้บอกว่าไม่ได้ก็ได้ แต่ก็ต้องประเมินว่าได้แค่ไหนอย่างไร ไม่มีพี่ๆ คนไหนโกรธหรอกครับถ้าบอกความจริง เพียงแต่ก็ต้องมีวิธีบอก ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ ทุกๆคน ย่อมเคยมีครั้งแรก บอกแล้วก็จะมีคนช่วยสอน จากนั้นก็จะทำได้และเก่งได้ครับ  นี่เป็นทัศนคติที่อยากจะบอกจริงๆ คือเริ่มงานอย่างเพิ่งรีบปฏิเสธงาน สร้างทัศนคติแห่งการเรียนรู้ไว้ก่อนครับ ผมเองในวันแรกๆก็ต้องทำทุกอย่างเหมือนกันแบบน้องๆ ถ้าไม่ลองทำเป็นสักครั้ง เราจะไม่สามารตรวจงานคนอื่นๆได้ และก็ไม่มีโอกาสรู้ว่าเขาทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้องเพราะการไม่เคยลองฝึกปฏิบัติด้วยตนเองมาก่อนครับ


4. สร้างเครือข่าย Keep Connection บ่อยครั้งน้องๆ ฝึกงานที่ฝึกงานตามที่ต่างๆ มักจะรู้จักบุคลากรในองค์กรค่อนข้างจำกัด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมาอยู่แค่ระยะสั้นๆ แต่ถ้าในช่วงของการทำงานอยากให้น้องสร้างความสัมพันธ์แบบเก่งคนไว้กับหลายๆท่านในองค์กรก็จะเป็นเรื่องดี ผมเชื่อว่าพี่ๆ เหล่านั้นเขาจะยังเป็นตัวช่วยแม้วันที่น้องไม่ได้ฝึกงานแล้ว เช่นเป็นตัวช่วยเรื่องการแจ้งข่าวเกี่ยวกับรับสมัครงานในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับน้องๆ ทั้งในองค์กรนั้นหรือองค์กรอื่นๆในประเภทธุรกิจเดียวกัน


เรื่องนี้ผมมีตัวอย่างคงมาจากผมเอง เพราะปริญญานิพนธ์ที่ผมเขียนในปีสุดท้าย ก็ได้ความอนุเคราะห์เชิงความเห็นและข้อมูลจากพี่ๆ โดยเฉพาะโค้ชสองคนแรกในการฝึกงานของ คนหนึ่งเป็นนักเรียนญี่ปุ่น อีกคนเป็น ดร. จากเคมบริดจ์ ที่ช่วยเหลือผมแม้กระทั่งการแนะนำให้รู้จักกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าว เพื่อข้อมูลงานวิจัยของผมครบถ้วนยิ่งขึ้น หรือแม้แต่เจ้านายคนแรกของผมคตอนฝึกงาน เวลาผ่านไป 4-5 ปีก็กลับต้องมานั่งทำงานเกี่ยวข้องกันจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าท่านซึ่งเป็นผู้อำนวยการอาวุโสกับผมจะอยู่ต่างองค์กรกันก็ตาม ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปด้วยความชื่นมื่นเพราะความสัมพันธ์อันเนิ่นนานตั้งแต่สมัยฝึกงาน  ฉะนั้นสร้างเครือข่ายไว้เยอะๆครับ โลกนี้มีคนเป็นหลายพันล้านคน แต่ละคนก็มีทางชีวิตและทางสายอาชีพเป็นของตนเอง แต่โลกมันใบเล็กนิดเดียว เดินยังไงสักวันเส้นทางเดินก็อาจตัดผ่านมาพบกันได้อีกทีโดยไม่ยากครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่