ถ้าบอกว่า ตายแล้วสูญ ก็ต้องมีตัวตนมาสูญ

คนที่ชอบกล่าวหาคนอื่น (เช่นอาตมา) ว่า สอนเรื่องตายแล้วสูญนั้น อาตมาก็อยากจะถามว่า อะไรที่บอกว่ามันสูญ?

ถ้ามีคำว่า สูญ ก็ต้องมีสิ่งที่สูญ เช่น ถ้าบอกว่าตายแล้วสูญ ก็ต้องมีตัวตน (อัตตา) มาสูญ (หรือหายไป) ใช่หรือไม่?

ส่วนคนที่เชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ ก็คือพวกที่เชื่อว่าเมื่อตายแล้วตัวตนที่เป็นเรานี้จะไม่สูญหาย คือจะยังมีการเกิดขึ้นมาได้ใหม่เพื่อมารับผลกรรมจากที่ได้ทำไว้ก่อนตาย (แม้จะไม่มีใครจำได้เลยว่าเคยเกิดมาแล้วหรือเคยทำกรรมอะไรไว้ก็ยังเชื่อกันอยู่อีก) ซึ่งนี่แหละคือความเห็นผิดพวกสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีตัวตนถาวรมาสืบต่อไว้เรื่อยไป) อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่รู้สึกตัว เพราะใครๆเขาก็เชื่อกันเกือบจะทั้งบ้านทั้งเมือง (แล้วคนเกือบทั้งบ้านทั้งเมืองนี้เขามีสติปัญญากันถูกต้องแล้วหรือ?) จึงทำให้ไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังมีคงวามเห็นผิดอยู่ เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่ก็มีความเห็นผิด ดังนั้นจึงทำให้มองคนที่มีความเห็นต่างว่าเขามีความเห็นผิดไปทันที แม้บางทีเขาอาจจมีความถูกอยู่ก็ได้ (นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ จึงได้มีหลายศาสนาเกิดขึ้นในโลก ทั้งๆที่แต่ละศาสนาก็มีหลักความเชื่อที่แตกต่างกันโดยสิ้งเชิง แต่ก็ไม่มีศาสนาไหนพิสูจน์ให้เห็นจริงได้)

เมื่อตัวเองมีความเห็นผิดว่ามีตัวตนมาเวียนว่ายตาย-เกิดอยู่เป็นทุกแล้วเต็มสามัญสำนึก พอมีคนเขามาบอกว่า "ไม่มีตัวตนเช่นนั้น เพราะมันเป็นอนัตตาจึงไม่สามารถเวียนว่ายตาย-เกิดเช่นนั้นได้" ก็เลยทำให้มองว่าคนที่บอกนั้นเป็นพวกอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญคือไม่มีตัวตนใดๆเลย) ไปทั้งหมดทันทีโดยไม่ยอมฟังเหตุผล

พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง จิตเป็นอนัตตา ที่หมายถึง จิตไม่ใช่อัตตา คือจิตไม่ได้เป็นตัวตนของตนเองชนิดที่จะเกิดขึ้นมาอีกเพื่อมาเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่าได้ อย่างพวกสัสสตทิฏฐิ แต่มันก็ไม่ใช่จะไม่มีตัวตนเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ คือมันก็ยังมีตัวตนอยู่เมื่อเหตุและปัจจัยของมันยังมีอยู่เท่านั้น เมื่อเหตุและปัจจัยของมันดับหายไป ตัวตนนี้ก็จะดับหายตามไปด้วยทันทั ซึ่งเรียกอย่างสมมติว่าเป็นตัวตนชั่วคราว  ซึ่งตัวตนชั่วคราวนี้เมื่อทำกรรมดี มันก็จะเกิดความสุขใจ-อิ่มเอมใจขึ้นมาทันที เมื่อทำกรรมชั่ว มันก็จะเกิดความร้อนใจ-ไม่สบายใจขึ้นมาทันที ซึ่งนี่คือวิบากหรือผลของกรรมที่ตัวตนชั่วคราวต้องได้รับเสมอ ไม่ใช่จะไปรับเอาในชาติหน้าอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ หรือไม่ได้รับเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ ซึ่งหลักอนัตตานี้เองที่เป็นหัวใจของปัญญาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า อันเป็นหลักปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน


สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตาหรือตัวตนชั่วคราว ที่ไม่สุดโต่งไปทางมีตัวตนถาวรอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ และไม่มีตัวตนเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งตัวตนชั่วคราวนี้ก็ทำกรรมและรับผลของกรรมที่ทำนั้นในขณะที่ทำนั่นเอง ไม่ใช่จะไปรับเอาในชาติหน้าอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ หรือไม่ได้รับเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ จึงขอให้ชาวพุทธได้ช่วยกันศึกษา เพื่อที่จะได้เข้าใจคำสอนที่แท้จริงพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง และนำเอามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมประเทศชาติกันต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่